'Demand & Supply' ก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย
เปิดข้อมูล "Demand & Supply" ก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย คาดความต้องการใช้ปี 2580 เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.7% ต่อปี มาจาก "ภาคไฟฟ้า - อุตสาหกรรม" ในขณะที่ความต้องการ "โรงแยกก๊าซ - ภาคขนส่ง" ลดลง
"ก๊าซธรรมชาติ" นอกจากจะเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศแล้ว ยังมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ การจ้างงาน และความมั่นคงทางพลังงานของประเทศในอีกหลากหลายมิติ
ประเทศไทย ถือเป็นประเทศที่โชคดีจากการพบก๊าซธรรมชาติที่มีคุณสมบัติเป็นก๊าซเปียก (Wet Gas) ซึ่งเป็นก๊าซธรรมชาติที่มีองค์ประกอบอื่นนอกเหนือจาก มีเทน เช่น อีเทน โพรเพน บิวเทน เพนเทน และเมื่อก๊าซเปียกได้ผ่านกระบวนการของโรงแยกก๊าซแล้ว มีเทนจะถูกส่งไปเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม และบรรจุถังเป็นก๊าซธรรมชาติในยานยนต์ หรือ NGV
ส่วนสารประกอบไฮโดรคาร์บอนอื่น เช่น บิวเทน และโพรเพน หากนำก๊าซ 2 ชนิดนี้มาผสมกันและบรรจุใส่ถังจะได้เป็น ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (Liquefied Petroleum Gas : LPG) หรือ ก๊าซหุงต้ม สำหรับใช้ในครัวเรือน หรือรถยนต์ นอกจากนี้ อีเทน โพรเพน บิวเทน เพนเทน ยังใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งสร้างการจ้างงานให้กับประชาชนในประเทศได้
การผลิต ก๊าซธรรมชาติ ในประเทศยังสร้างรายได้ให้กับภาครัฐในรูปของค่าภาคหลวง ภาษีปิโตรเลียม ผลประโยชน์ตอบแทนอื่น ๆ อีกทั้งก่อให้เกิดการลงทุนและการจ้างงานในอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม และเป็นการลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ
วัตถุประสงค์ในการจัดหาก๊าซธรรมชาติของประเทศไทยส่วนใหญ่เพื่อเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้า เพราะเป็นเชื้อเพลิงที่สะอาดกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลแบบอื่น เช่น ถ่านหิน และน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติจึงเป็นเชื้อเพลิงสำหรับช่วงการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานของประเทศ
อย่างไรก็ตาม เชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยยังมีอีกหลายประเภท เช่น ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน น้ำมัน น้ำ แสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล ขยะ และนิวเคลียร์ ซึ่งข้อแตกต่างของพลังงานแต่ละประเภท แบ่งเป็น
- พลังน้ำ ถือเป็นพลังงานที่สะอาดที่สุด แต่มีข้อจำกัดด้านผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและพื้นที่ทำกินจากการสร้างเขื่อน
- น้ำมัน ถือเป็นเชื้อเพลิงที่ราคาสูง อีกทั้งยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
- ถ่านหิน ถือเป็นเชื้อเพลิงที่ราคาถูก แต่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ในการลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม
- ก๊าซธรรมชาติ ถือเป็นเชื้อเพลิงที่สะอาด ถูกกว่าน้ำมัน และเป็นทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศ
- นิวเคลียร์ ถือเป็นเชื้อเพลิงที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง และมีภาระในการกำจัดกัมมันตภาพจากการผลิต
ทั้งนี้ จากความสามารถในการจัดหาก๊าซธรรมชาติตั้งแต่ปี 2529 - 2566 การจัดหามีทั้งจากแหล่งในประเทศและการนำเข้า โดยสัดส่วนในการจัดหาจากแหล่งต่าง ๆ แบ่งออกเป็น 73.7% มาจากแหล่งอ่าวไทย 4.1% จากแหล่งบนบกในประเทศ สำหรับการนำเข้าแบ่งออกเป็น 16.2% จากแหล่งก๊าซพม่า และ 6% จาการนำเข้า ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG)
อย่างไรก็ตาม การนำเข้า LNG ถูกคาดการณ์ว่าจะเป็นแหล่ง supply หลักของประเทศในอนาคต โดยจะมีสัดส่วนมากกว่า 50% ของ supply ก๊าซธรรมชาติทั้งหมดในปี 2578 โดยปัจจัยหลักเนื่องมาจากการลดลงอย่างต่อเนื่องของก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย และการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากพม่า
ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติกลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากพิจารณาจากแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2561 - 2580 (Gas Plan 2018) ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติโดยรวมในปี 2580 จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.7% ต่อปี เพิ่มขึ้นจาก 4,676 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในปี 2561 เป็น 5,348 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
ในขณะที่ปี 2580 มีแนวโน้มการใช้ ก๊าซธรรมชาติ เพิ่มขึ้นในภาคการผลิตไฟฟ้าและภาคอุตสาหกรรมจากนโยบายส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมาติของรัฐบาล ขณะที่การใช้ในโรงแยกก๊าซธรรมชาติ (ใช้ผลิตก๊าซปิโตรเลียมเหลว และเป็นสารตั้งต้นในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี) และใช้ในภาคขนส่งมีแนวโน้มลดลง
ดังนั้น ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องหาแหล่งพลังงานเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากการทำสัญญาซื้อ-ขาย LNG ล่วงหน้า การสำรวจพัฒนาแหล่งก๊าซเพิ่มเติม ควบคู่ไปกับการใช้พลังงานอย่างประหยัดและคุ้มค่า เพื่อความมั่นคงทางพลังงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไปในอนาคต