เปิด 10 อันดับเมืองคุณภาพชีวิตดีที่สุดในโลก ด้วย 5 ปัจจัยความยั่งยืน

เปิด 10 อันดับเมืองคุณภาพชีวิตดีที่สุดในโลก ด้วย 5 ปัจจัยความยั่งยืน

ดัชนีของ EIU ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในเขตเมือง และย้ำถึงความสำคัญของการลงทุนอย่างต่อเนื่องในด้านสุขภาพ การศึกษา ความมั่นคง วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม และโครงสร้างพื้นฐาน เป็นเกณฑ์มาตรฐานสำหรับผู้กำหนดนโยบายและนักวางผังเมือง

The Economist Group โดยหน่วยงาน Economist Intelligence Unit (EIU) ได้เปิดตัวรายงานดัชนีความน่าอยู่อาศัยทั่วโลก (The Global Liveability Ranking) ล่าสุด ประจำปี 2024 โดยจัดอันดับความน่าอยู่อาศัยของ 173 เมือง ใน 5 หมวดหมู่หลัก ได้แก่ ความมั่นคง สุขภาพ วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม การศึกษา และโครงสร้างพื้นฐาน ที่เป็นส่วนสำคัญของความยั่งยืน

การสำรวจในปีนี้เผยให้เห็นภาพรวมที่หลากหลาย โดยคะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อน เนื่องจากการปรับปรุงด้านสุขภาพและการศึกษาในประเทศกำลังพัฒนา อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงเหล่านี้ถูกชดเชยด้วยการลดคะแนนในเมืองชั้นนำหลายแห่ง

เมืองที่น่าอยู่ที่สุดในโลก

เปิด 10 อันดับเมืองคุณภาพชีวิตดีที่สุดในโลก ด้วย 5 ปัจจัยความยั่งยืน

อันดับ 1 : เมืองเวียนนา ประเทศออสเตรีย

  • ดัชนี : 98.4
  • ความมั่นคง : 100.0
  • การดูแลสุขภาพ : 100.0
  • วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม : 93.5
  • การศึกษา : 100.0
  • โครงสร้างพื้นฐาน : 100.0

อันดับ 2 : เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก

  • ดัชนี : 98.0
  • ความมั่นคง : 100.0
  • การดูแลสุขภาพ : 95.8
  • วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม : 95.4
  • การศึกษา : 100.0
  • โครงสร้างพื้นฐาน : 100.0

อันดับ 3 : เมืองซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

  • ดัชนี : 97.1
  • ความมั่นคง : 95.0
  • การดูแลสุขภาพ : 100.0
  • วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม : 96.3
  • การศึกษา : 100.0
  • โครงสร้างพื้นฐาน : 96.4

อันดับ : 4 เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย

  • ดัชนี : 97.0
  • ความมั่นคง : 95.0
  • การดูแลสุขภาพ : 100.0
  • วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม : 95.8
  • การศึกษา : 100.0
  • โครงสร้างพื้นฐาน : 96.4

อันดับ 5 : เมืองแคลการี ประเทศแคนาดา

  • ดัชนี : 96.8
  • ความมั่นคง : 100.0
  • การดูแลสุขภาพ : 100.0
  • วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม : 90.0
  • การศึกษา : 100.0
  • โครงสร้างพื้นฐาน : 96.4

อันดับ 5 : เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

  • ดัชนี : 96.8
  • ความมั่นคง : 95.0
  • การดูแลสุขภาพ : 100.0
  • วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม : 94.9
  • การศึกษา : 100.0
  • โครงสร้างพื้นฐาน : 96.4

อันดับ 7 : เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย

  • ดัชนี : 96.6
  • ความมั่นคง : 95.0
  • การดูแลสุขภาพ : 100.0
  • วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม : 94.4
  • การศึกษา : 100.0
  • โครงสร้างพื้นฐาน : 96.4

อันดับ 7 : เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา

  • ดัชนี : 96.6
  • ความมั่นคง : 95.0
  • การดูแลสุขภาพ : 100.0
  • วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม : 97.2
  • การศึกษา : 100.0
  • โครงสร้างพื้นฐาน : 92.9

อันดับ 7 : เมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น

  • ดัชนี : 96.0
  • ความมั่นคง : 100.0
  • การดูแลสุขภาพ : 100.0
  • วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม : 86.8
  • การศึกษา : 100.0
  • โครงสร้างพื้นฐาน : 96.4

อันดับ 9 : เมืองโอ๊คแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์

  • ดัชนี : 96.0
  • ความมั่นคง : 95.0
  • การดูแลสุขภาพ : 95.8
  • วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม : 97.9
  • การศึกษา : 100.0
  • โครงสร้างพื้นฐาน : 92.9

กรุงเทพมหานคร และเชียงใหม่ ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มเมืองที่น่าอยู่ระดับกลางจาก 173 เมือง โดยมีคะแนนอยู่ระหว่าง 60-80 จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน

ยุโรปตะวันตกน่าอยู่อาศัยที่สุด

เมืองเวียนนา ประเทศออสเตรียยังคงครองตำแหน่งเมืองที่น่าอยู่อาศัยที่สุดในโลกสามปีติดต่อกัน โดยมีคะแนนเต็มใน 4 หมวดหมู่จากทั้งหมด 5 หมวดหมู่ อันดับรองลงมาคือโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก และซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่ครองอันดับสองและสามตามลำดับ ทำให้โซนยุโรปตะวันตกมีเมืองน่าอยู่มากที่สุดในโลก

ในทางกลับกัน เมืองอย่างดามัสกัส ประเทศซีเรีย เมืองตริโปลี ประเทศลิเบีย และเมืองลากอส ประเทศไนจีเรีย ยังคงอยู่อันดับล่างสุดของรายการ สะท้อนถึงความท้าทายที่ยังคงมีอยู่ในภูมิภาคเหล่านี้

คะแนนความมั่นคงถดถอย

เมือง 30 แห่งในยุโรปตะวันตกที่จัดอันดับในปีนี้มีคะแนนเฉลี่ยที่น่าประทับใจถึง 92 จาก 100 คะแนน อย่างไรก็ตาม ภูมิภาคนี้เห็นการลดลงของคะแนนมากที่สุด ในมิติของความมั่นคง เพราะในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา มีการประท้วงและการชุมนุมเพิ่มขึ้นทั่วยุโรปตะวันตกในประเด็นต่างๆ ตั้งแต่การเพิ่มขึ้นของขวาจัดสุดโต่ง นโยบายการเกษตรของสหภาพยุโรป ไปจนถึงการต่อต้านการย้ายถิ่น

แม้ว่าความสามารถในการประท้วงจะเป็นส่วนสำคัญของประชาธิปไตยใดๆ การเพิ่มขึ้นของจำนวนและขนาดของการประท้วง ประกอบกับการเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงบ่อยครั้งขึ้น อาจบ่งชี้ถึงการขาดความสมานฉันท์ในสังคมที่สามารถบ่อนทำลายความมั่นคงทางการเมืองได้

"บาร์ซาลี ภัฏฐาจรรยา" รองผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรมที่ EIU กล่าวว่า ความน่าอยู่อาศัยทั่วโลกเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงปีที่ผ่านมา แต่ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพยังคงอยู่ อัตราเงินเฟ้อที่ยังคงสูงควบคู่กับอัตราดอกเบี้ยสูง และลมปะทะทางเศรษฐกิจอื่นๆ นำไปสู่อีกปีหนึ่งของการประท้วงบ่อยครั้งทั่วโลก

ความไม่พอใจต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่หลากหลาย ตั้งแต่การเกษตรไปจนถึงการย้ายถิ่น ได้มาพร้อมกับการแบ่งขั้วที่เพิ่มขึ้นในหลายประเทศ ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ยังคงกดดันดัชนีนี้

"สงครามกับฮามาสทำให้เทลอาวีฟลดลง 20 อันดับ นับตั้งแต่ที่เราดำเนินการสำรวจ มีเหตุการณ์ความไม่สงบทางแพ่งและการประท้วงทั่วโลกมากขึ้น เช่น การประท้วงในวิทยาเขตทั่วสหรัฐอเมริกา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเครียดต่อความน่าอยู่อาศัยที่ยังคงมีอยู่และไม่น่าจะคลี่คลายในอนาคตอันใกล้นี้"

ตะวันออกกลางและแอฟริกา

สำหรับเมืองในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ผลสำรวจแสดงให้เห็นถึงความหลากหลาย อิสราเอลขัดแย้งกับฮามาสทำให้เทลอาวีฟตกจากอันดับที่ 20 มาอยู่ที่อันดับที่ 112

ขณะที่ความขัดแย้งส่งผลกระทบต่อคะแนนด้านความมั่นคงของภูมิภาค แต่การปรับปรุงในด้านการศึกษาและการดูแลสุขภาพในหลายประเทศสมาชิกสภาความร่วมมือแห่งอ่าว (GCC) ช่วยเพิ่มความน่าอยู่อาศัยโดยรวม

เมืองในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ได้แก่ อาบูดาบี และดูไบ และเมืองในประเทศซาอุดีอาระเบีย ได้แก่ ริยาด เจดดาห์ และอัลคอห์บาร์ มีการเพิ่มคะแนนมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ภูมิภาคนี้ยังคงเป็นที่ตั้งของเมืองที่น่าอยู่น้อยที่สุด เช่น แอลเจียร์ส ตริโปลี และดามัสกัส

ดัชนีนี้ชี้ให้เห็นถึงความพยายามและความท้าทายที่ยังคงมีอยู่ในการรักษาและปรับปรุงมาตรฐานความน่าอยู่อาศัย ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาได้ก้าวหน้าอย่างมากในด้านสุขภาพและการศึกษา แต่เศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วกลับเห็นการลดลงของคะแนน เนื่องจากปัจจัยต่างๆ รวมถึงความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์การเมือง ความไม่สงบทางสังคม และวิกฤตการณ์ที่อยู่อาศัย

 

 

ที่มา : EIU