ไต่“เส้นตัด”เด็กกระเป๋าถือ สู่สาวน้อย 300 ล้าน
“ธิวาภรณ์ จิตกล้า” นักธุรกิจ อดีตนักร้องล่าเงินรางวัลตามงานวันเด็ก ขายสารพัดหารายได้ระหว่างเรียน กระเป๋าถือ จนปัจจุบันไต่ระดับยอดขาย 300 ล้านในวัย 23 ปี
ชีวิตที่รู้สึกว่าต้องหารายได้เสริมระหว่างเรียนมาตลอด ตั้งแต่ใช้ความสามารถทางเสียง ในวัย 7 ปี ของ“โอ๋” ธิวาภรณ์ จิตกล้า เจ้าของธุรกิจ HO-YEON เริ่มรู้จักหารายได้พิเศษจากเวทีประกวดร้องเพลงในงานวันเด็ก ตั้งแต่นั้นมามีเวทีมีประกวดอยู่ที่ไหน โอ๋ ลิสต์เพลงรอเพื่อเอาเสียงเพลงแลกเงินบนเวทีมาตลอด
“เราลิสต์เพลงเพื่อร้องกินรางวัลตามงานเลย” นักธุรกิจวัย 23 ปีเล่าถึงความทรงจำในวัยเด็กถึงวิธีการหารายได้เสริม
การผ่านเวทีจนเจนยังหล่อหลอมให้โอ๋ เป็นเด็กกล้า แกร่ง
คนอื่นไปสอบกัน หิ้วกระเป๋าใส่หนังสือไม่ต่ำกว่า 4-5 เล่ม แต่สำหรับโอ๋ถือกระเป๋า มีหนังสือแค่เล่มเดียว นอกนั้นใส่ขนม หรือสิ่งของต่างๆมาขายให้เพื่อนเต็มกระเป๋า ตั้งแต่ ยาดม ยาหม่อง ยันอุปกรณ์ทำข้อสอบ
จึงได้รับฉายาว่า “โอ๋กระเป๋าถือ” ตั้งแต่นั้นมา
เธอยังเล่าถึงเส้นทางธุรกิจเล็กๆระหว่างเรียน อีกว่า..
“ขึ้นป.5 ป.6 ก็เอาเสื้อผ้ามือสองในบ้านไปขายจนเกลี้ยงตู้ จนพ่อบ่น เลยเปลี่ยนไปรับเสื้อผ้ามือสองที่อื่นตัวละ20บาทมาขาย40บาทมาขายแทน จากนั้นก็หาของขายมาตลอดไม่ว่าเป็นเครื่องสำอางค์เกาหลี สาหร่าย ลูกอม ตอนอายุ15-16 ก็ไปทำงานพาร์ทไทม์ ตั้งแต่ เป็นพนักงานร้านเอ็มเค สุกี้ แม็คโดนัลด์ หมูกะทะ"
โอ๋ เล่าว่า เธอเกิดมาในครอบครัวนายตำรวจ ได้เงินไปโรงเรียนวันละไม่กี่บาท จึงหารายได้เสริมเพิ่มจากค่าเล่าเรียน ยิ่งขายก็ยิ่งมองอนาคตตัวเอง หากต้องอ่านหนังสือหัวโตเพื่อสอบแข่งกับเพื่อนคงไม่ใช่ทางของเธอแน่นอน จึงขอเอาดีทางงานขาย ตั้งแต่เรียนประถมถึงระดับมัธยม
“เราอยากใช้เงินให้มากกว่า80บาทที่พ่อให้ไปโรงเรียน อยากกินข้าวข้างนอก ไปเที่ยวกับเพื่อน จึงคิดหาเงินเพราะคิดในใจว่าสอบเข้าโรงเรียนรัฐไม่ได้ นั่นไม่ใช่สนามของเราพ่อก็คงไม่มีเงินส่งเรียนโรงเรียนเอกชน หากให้พ่อไปกู้เราก็ไม่โอเค จึงหันมาตั้งใจส่งตัวเองเรียน”
จนรายได้ค่อยๆไต่ระดับ จากการหาเครื่องสำอางค์มาขายในอินเทอร์เน็ท จบมัธยม6 หาเงินกู้ซื้อบ้านให้พ่อในราคา5.4ล้านบาท
“ตอนนั้นเราอายุยังน้อยยื่นกู้ไม่ผ่าน พ่อก็ยื่นไม่ผ่าน แม้รายได้จะเพียงพอต่อเงินดาวน์ จึงมีเอกสารพร้อมบอกว่าทำงานจริง มีโปรไฟล์รายได้จริง"
ทว่า ชีวิตนักธุรกิจอายุน้อยมาเจอกับจุดหักเห เมื่อตลาดออนไลน์เริ่มไม่สดใสเหมือนก่อน เมื่อใครๆก็กระโดดเข้ามาในตลาดนี้ โดยเฉพาะยักษ์ใหญ่ที่เข้ามาสั่นสะเทือนพ่อค้ารายย่อยในโลกออนไลน์เช่นเธอ
“ทำแบรนด์ขายครีม ตั้งแต่ออนไลน์ยังไม่บูม จนขายมาได้ 2 ปี ถึงจุดที่พบว่าเงินเก็บเราเท่าเดิม ไม่เติบโตก้าวกระโดดอย่างช่วงแรกๆ เงินทุนก็เริ่มหมด เพราะเจ้าใหญ่เข้ามาเล่นในตลาด เราเล็กๆ แทบไม่มีตัวตน”
นั่นคือจุดเปลี่ยนให้คิดถอดใจในวัย20เศษ คิดจะถอยกลับไปตั้งหลักที่บ้านในจังหวัดสุรินทร์ แต่เมื่อเห็นแปลนบ้านหลังใหญ่ในต่างจังหวัด จึงถามตัวเองกลับว่า “ชีวิตธุรกิจจะล้มเลิกเมื่อตอนอายุยังน้อยเลยหรือ?”
“ตอนนั้นรู้สึกเหนื่อยและท้อ วันที่ได้เห็นแบบบ้าน ทำให้รู้สึก มันแค่นี้หรือชีวิต หาเงินมาแค่นี้เองเหรอยังไม่ถึงครึ่งทางเลยด้วยซ้ำ เจอปัญหาแค่นี้ก็ถอยซะแล้ว”
คำถามที่หมั่นถามตัวเองเป็นทำให้เธอตัดสินใจเดินหน้าลุยต่อ!!
“ให้โอกาสตัวเอง6เดือนที่จะไม่มีกำไร ไม่ทำอะไรที่ใช้ทุนเยอะ ไม่ต้องใช้ความน่าเชื่อถือมากนัก”
ที่สำคัญไม่ขายครีม เพราะเป็นสิ่งที่ต้องใช้ความน่าเชื่อถือ นั่นเป็นจุดอ่อนเฉพาะตัวกับนักธุรกิจวัยใส เรียนมหาวิทยาลัยเช่นเธอ จนมาค้นพบผลิตภัณฑ์สบู่จากเกาหลี
“ไม่ขายครีมแน่นอน เพราะไม่มีเงินทุน และไม่มีความน่าเชื่อถือ แต่หาสินค้าที่ขายได้ทุกเพศทุกวัย”
สบู่มีตามร้านค้าปลีกทั่วไป แต่สิ่งสำคัญอยู่รอดได้คือ ต้องมีช่องทางสร้างความแตกต่าง ผสมกันกับช่วงที่เทรนด์เกาหลีมาแรง จึงนำเข้าสินค้าจากเกาหลีมาขาย
การเข้าไปฟังหลายเวทีสัมมนาทำให้โอ๋ ได้เวลาย้อนกลับมามองตัวเองในหลายเรื่องจึงทำให้ค้นพบจุดบอด
“เรากลับมาดูตั้งสติ หาว่าเราพลาดอะไร แก้ไขจุดพลาดเป็นข้อๆ หาสาเหตุว่าทำไมไม่โตไปมากกว่านี้ ตอนยอดขายค่อยๆ ดำดิ่งลงแทบรับไม่ได้ ท้อ แต่เมื่อเริ่มเห็นตัวเอง จึงเปิดโอกาสให้ตัวเองลองขายสบู่ดูอีกครั้ง”
นักธุรกิจวัยยี่สิบต้นๆ เริ่มหาวิธีอุดรอยรั่วเริ่มจากบริหารจัดการหลังบ้านให้เป็นระบบ รวมถึงลดจำนวนตัวแทนจำหน่าย เหลือตัวแทนหลักๆเพียง 10 ราย เพื่อลดการปะทะกับลูกค้าเอง ยอดขายเติบโตค่อนข้างรวดเร็ว ล่าสุดมีรายได้อยู่ที่ 300 ล้านบาท
“ระบบตัวแทนเป็นช่องทางการขายแทนเรา เพราะไม่มีที่ยืนในร้านค้าปลีก”
นอกจากนี้ ที่สำคัญที่สุดคือ เราต้องพร้อมรับฟังปัญหาจากลูกค้าทุกเรื่อง “ไม่ว่าข้อเสียอะไรต้องพร้อมน้อมรับฟังและแก้ไข ไม่เถียงลูกค้า เถียงลูกค้าไม่ได้อะไร หันมาทำสินค้าให้ได้มาตรฐาน ทุ่มหาโรงงานมาตรฐานทำสินค้าให้ติดตลาดดีกว่า”
ธุรกิจเติบโตอีกครั้ง เพราะการให้โอกาสตัวเอง เป็นคนกล้าทำ กล้าลอง กล้าตัดสินใจ นั่นเป็นข้อดีที่ทำให้ลุยเพื่อหาธุรกิจในตลาดที่ดีและเหมาะกับตัวเอง
“หลายคนไม่รู้จะทำอะไร ไม่คิดไม่ลองทำ หากผิดพลาดเป็นประสบการณ์และบทเรียน หากไม่คิดทำสบู่ตั้งแต่วันนั้นก็ไม่มีสบู่โฮยอนในวันนี้" เธอเล่าถึงวิธีคิดนอกกรอบ กล้าลุย เชื่อมั่นในตัวเอง
เธอยังเล่าว่า สิ่งที่กล้าคิดนอกกรอบที่สุดเท่าที่เคยทำมา คือ ขายได้5ล้านแต่ไม่ยอมเอากำไร ยอมเฉือนกำไรที่ได้ไปลงทุนทางการตลาด แรงส่งให้ให้สบู่โฮยอน ไปได้ไกลกว่าที่เห็น โดยการไปลงทุนจ้างพรีเซนเตอร์ เพื่อเสริมความน่าเชื่อถือ และสุดท้าย จ้างโปรแกรมเมอร์วางระบบตัวแทนจัดจำหน่าย สมาชิก และเว็บไซต์
“ลองสิ่งใหม่ๆหากตัดสินใจผิดพลาดก็บอกกับตัวเองว่า ชีวิตเริ่มต้นใหม่ได้ทุกวัน ฉะนั้น ลุยไปเลย ”
โฮยอนปัจจุบันเป็นธุรกิจนำเข้าสินค้าจากเกาหลี เป็นใบเบิกทางให้รู้จักตลาดเกาหลี และเข้าใจรสนิยม เพื่อจับจังหวะหาเวลาที่เหมาะสม นำสินค้าไทยย้อนกลับไปส่งออกสินค้า ย้อนศรขายคนเกาหลี
“เรากลับมาเริ่มต้นจากสินค้านำเข้าเพื่อให้ลูกค้าเห็นว่าเรายกระดับสินค้า เราอายุน้อยความน่าเชื่อถือไม่มาก เมื่อความน่าเชื่อถือมากขึ้นในกลุ่มลูกค้ามากพอ ก็ย้อนกลับไปขายของของเราไปให้เขามากขึ้น”
หลังจากขายมากว่า 2 ปี เมื่อสบู่เริ่มอิ่มตัวก็พัฒนาไปสู่สินค้ากลุ่มอาหารเสริม ตอบโจทย์คนยุคปัจจุบันปรารถนาจะมีรูปร่างดี แต่อยากมีความสุขกับการกิน
ท้ายที่สุดสาวน้อยเจ้าของยอดขาย300ล้านบาท ย้ำสูตรแปลงความฝันฟุ้งๆ ในหัวให้เป็นธุรกิจจริงได้ ด้วยการไม่เพียงแต่คิดวนไปวนมา แต่ต้องลงมือทำเท่านั้น