บทเรียนสายสีแดง!! คานเหล็กมรณะ

บทเรียนสายสีแดง!! คานเหล็กมรณะ

บทเรียนสายสีแดง!! คานเหล็กมรณะหล่นทับ 3 ศพ จับตาแผนความปลอดภัย-จราจร รับมือ 3 สาย "ชมพู ส้ม เหลือง"

โครงการใหญ่ยักษ์เช่นนี้ บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง ก็ล้วนแล้วแต่เป็นบริษัทใหญ่ๆ เกือบทุกเจ้า ผลงานที่ผ่านมาก็น่าจะรับประกัน “คุณภาพความปลอดภัย” ได้ระดับหนึ่ง

ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุหรือความสะเพร่าก็ตาม แต่เหตุการณ์ “ชิ้นส่วน” จากการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าหล่นลงมาเบื้องล่าง ย่อมสร้างความอกสั่นขวัญแขวนให้แก่คนทั่วไป ผู้สัญจรไปมา ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงเส้นทางไปจาก “ไซต์งานก่อสร้าง” ซึ่งมักเกาะไปตามแนวถนนสายหลักอยู่แล้ว

ค่ำวันศุกร์ที่ 28 เมษายน ที่ผ่านมา อุปกรณ์ที่เรียกตามภาษาช่างที่ว่า “พีทีบาร์” หลุดจากจุดก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) ช่วงบริเวณหน้าวัดดอนเมือง เป็นเหตุให้คนงานเสียชีวิต 3 คน

โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงสัญญาที่ 2 มีผู้รับเหมาคือ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ขณะเกิดเหตุได้กันพื้นที่หรือปิดการจราจรเบื้องล่างคือ ถนนเลียบทางรถไฟ หรือโลคัลโรด ซึ่งก็เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย แต่ถึงกระนั้น เมื่อย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ทำนองเดียวกันในอดีต อย่างน้อย 2 ครั้ง กลับพบว่า ของไม่พึงประสงค์ได้ร่วงหล่นลงมาใส่รถยนต์ของผู้สัญจรไปมาด้านล่าง

เรียกได้ว่า ใครที่ใช้เส้นทางก่อสร้างรถไฟฟ้า ล้วนต้องหนาวสันหลังวาบไปตามๆ กัน

09.30 น. วันที่ 6 มิถุนายน 2556 เกิดเหตุแท่งเหล็กเส้นขนาด 4x4 นิ้ว ยาวประมาณ 10 เมตร ซึ่งอยู่ในระหว่างที่คนงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) ช่วงสถานีเตาปูน หล่นลงมาทับรถแท็กซี่และรถยนต์รวม 4 คัน ที่กำลังวิ่งอยู่บนถนนประชาราษฎร์สาย 2 ได้รับความเสียหาย และมีผู้บาดเจ็บ 1 คน เป็นหญิงที่โดยสารมากับรถแท็กซี่

ก่อนหน้านั้น วันที่ 26 เมษายน เคยเกิดเหตุกำแพงคอนกรีตโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงหล่นใส่รถยนต์บริเวณแยกเตาปูนมาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งมีรถแท็กซี่ได้รับความเสียหายและมีผู้ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย 1 คน จากเศษคอนกรีตแตก

จุดก่อสร้างสถานีเตาปูนอยู่ในสัญญาก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง สัญญาที่ 1 ช่วงเตาปูน-สะพานพระนั่งเกล้า มีกิจการร่วมค้าซีเคทีซี (CKTC JOINT VENTURE) ประกอบด้วย บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และบริษัท โตคิว คอนสตรัคชั่น จำกัด ดำเนินโครงการในวงเงิน 13,441 ล้านบาท

15.50 น. วันที่ 17 มีนาคม 2560 เกิดอุบัติเหตุคานเหล็กก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต หล่นทับรถยนต์นิสสัน มาร์ช สีเขียว บริเวณปากซอยพหลโยธิน 35 ถนนพหลโยธิน ตรงข้ามโรงภาพยนตร์เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ รัชโยธิน

เหตุการณ์ครั้งนั้นนับว่าเฉียดฉิวและน่าสะพรึงกลัวยิ่งสำหรับหญิงผู้ขับขี่รถยนต์นิสสันคันนั้น เพราะคานเหล็กหล่นใส่กระโปร่งหน้า ห่างจากห้องโดยสารเพียงในระยะที่ไม่บาดเจ็บ แต่ก็ช็อกได้เหมือนกัน

การก่อสร้างช่วงนี้อยู่ในความรับผิดชอบของบริษัท อิตาเลียนไทย เช่นเคย

แต่เรื่องชวนเสียวไส้เช่นว่านี้ สังคมรับรู้ได้เพราะว่า “เป็นข่าว” ถ้าหากหลังเหตุการณ์แท่งพีทีบาร์ไม่ร่วงลงมาพร้อมคร่า 3 ชีวิตคนงานเมื่อค่ำวันที่ 28 เมษายน ที่ผ่านมา อาจจะยังไม่รู้กันว่า เรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นมาแล้ว มากกว่าที่เห็น

"สุเมธ มโหสถ" อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยว่า การก่อสร้างดังกล่าวเคยทำให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้มาแล้ว 6 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตรวมทั้งหมด 8 คน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางเราไม่สบายใจมากว่าปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำขนาดนี้ได้อย่างไร แต่ละครั้งก่อนหน้านี้ได้เปรียบเทียบปรับ แต่ครั้งนี้จะไม่ยอม ต้องดำเนินคดีทางอาญา

"ก่อนจะไปแจ้งข้อหานั้น จะเชิญเจ้าหน้าที่ บริษัทที่รับผิดชอบมาตอบคำถามว่า เมื่อพบว่ามีเหตุขัดข้องทำไมจึงยังปล่อยให้คนงานยืนอยู่ในจุดเกิดเหตุ แทนที่จะกันให้ออกนอกพื้นที่ ซึ่งจะต้องตรวจสอบว่า เกิดจากความประมาทหรือไม่ หากพบว่าเกิดจากความประมาทจะส่งตัวแทนไปแจ้งความดำเนินคดีอาญาในข้อหาฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 ซึ่งครั้งนี้กระทรวงจะชดเชยตามสิทธิจากกองทุนชดเชยให้แก่คนงานที่เสียชีวิต นอกจากดำเนินคดีอาญาแล้ว กระทรวงแรงงานมีอำนาจในการสั่งปรับปรุงแก้ไข หากไม่แก้ ก็จะสั่งระงับการทำงานของบริษัททันที" 

ขณะที่ "อาคม เติมพิทยาไพสิฐ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า หลังจากได้รับรายงานเหตุการณ์ได้สั่งการให้สั่งพักการก่อสร้างทันที พร้อมตั้งคณะกรรมการสอบสวน และพักงานวิศวกรควบคุมงาน และให้บริษัทอิตาเลียนไทยเตรียมแถลงความรับผิดชอบ และแสดงแผนความปลอดภัยในการก่อสร้างรถไฟสายสีแดงทั้งหมดภายใน 7 วัน

สำหรับสาเหตุนั้น "ธเนศ วีระศิริ" นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.) ซึ่งไปร่วมตรวจสอบที่เกิดเหตุ บอกว่า จากการตรวจสอบพบความผิดปกติของคานเหล็กเส้นแรงดึงสูงสำหรับคอนกรีต โดยจะมีเหล็กที่เรียกว่าพีทีบาร์ ซึ่งเป็นตัวยึดต่อตอม่อขาดในขณะที่กำลังเคลื่อนตัว ส่งผลให้โครงสร้างเหล็กทั้งหมดร่วงหล่นลงมา โดยปกติเหล็กดังกล่าวมีทั้งหมด 6 เส้น แต่ขณะนี้ตรวจสอบเพียง 1 เส้นที่ขาด โดยพบว่าขาดแนวตัดขวาง จากแรงเฉือนที่รุนแรง ซึ่งจะต้องนำเหล็กเส้นที่พบเข้าห้องแล็บ เพื่อตรวจสอบภายในอย่างละเอียดว่าขาดเพราะอะไร

อันที่จริง โครงการใหญ่ยักษ์เช่นนี้ บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างที่ประมูลงาน ก็ล้วนแล้วแต่เป็นบริษัทใหญ่ๆ เกือบทุกเจ้ามีชื่ออยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ผลงานที่ผ่านมาก็น่าจะรับประกัน "คุณภาพความปลอดภัย" ได้ระดับหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดก็ขึ้นกับการสอบสวนว่าเป็นเรื่องสุดวิสัย หรือว่าประมาทเลินเล่อ

เพราะจะว่าไปแล้ว บรรดายักษ์ใหญ่ก่อสร้างเหล่านี้ก็จะยังคงวงเวียนอยู่ในแวดวง "งานโยธา" โครงการรถไฟฟ้าอีกหลายสาย สารพัดสี ทั้งโครงสร้างลอยฟ้า และมุดลงใต้ดิน

โดยเฉพาะนับตั้งแต่ช่วงกลางปี 2560 นี้ จะเริ่มมีงานก่อสร้างรถไฟฟ้าอีกหลายสาย โดยเฉพาะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษกับโครงสร้างบนดิน และที่เกาะแนวถนนสายหลัก เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเดิมที่เกิดกับโครงการรถไฟฟ้ามาแล้ว 3 สี คือ สีม่วง สีเขียว และสีแดง ตามลำดับ ขึ้นอีก

เมื่อสำรวจโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น จะพบว่าในไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ แนวถนนหลายสายในกรุงเทพฯ จะมีไซต์งานก่อสร้างเกิดขึ้น นั่นหมายถึงว่า ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งหามาตรการรองรับไว้ให้เต็มร้อย ทั้งสภาพการจราจรที่ว่ากันว่า คนกรุงเทพฯ จะต้องทนทุกข์ทรมาน "อดเปรี้ยวไว้กินหวาน" ไปนานอีกอย่างน้อยสุดก็ 2-3 ปี รวมถึงมาตรฐานด้านความปลอดภัย ไม่ให้เกิดกรณี "6 ครั้ง 8 ศพ" ขึ้นอีก

มาดูกันที่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ซึ่งผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วงเป็นประจำคงจะคุ้นเคยกับงานก่อสร้างซึ่งมีติ่งอยู่ตรงห้าสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี นั่นคือโครงการ “แคราย-มีนบุรี” ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 53,519 ล้านบาท แนวการก่อสร้างจะเกาะไปตามถนนติวานนท์ทางทิศเหนือ จนไปถึงห้าแยกปากเกร็ดแล้วเลี้ยวขวาเข้าถนนแจ้งวัฒนะ เข้าสู่ถนนรามอินทรา และสุดทางที่สถานีมีนบุรี รวม 30 สถานี

ลองหลับตานึกภาพดูก็ได้ว่า ถ้าไม่วางแผนให้ดี การจราจรจะโกลาหลขนาดไหน แม้ไม่นับรวมความระแวดระวังเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย เฉพาะถนนติวานนท์ และแจ้งวัฒนะ การจราจรอยู่ในความรับผิดชอบของตำรวจจราจรนนทบุรี ถามว่า ไหวหรือเปล่า กรณีนี้ก็ลองเทียบเคียงดูกับโครงการสายสีม่วงที่ชาวนนทบุรีต้องทนทรมานทรกรรมกันยาวนาน 5-6 ปี ดูก็ได้

แต่คราวนี้โจทย์ยากกว่าเยอะ เพราะผ่านถนนแจ้งวัฒนะ ที่มีศูนย์ราชการ และหน่วยงานเอกชนใหญ่รวมอยู่ด้วย ยิ่งตรงช่วงต่อกับถนนรามอินทราด้วยแล้ว บอกได้คำเดียวว่า สาหัสแน่ๆ

โครงการต่อมา คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) ซึ่งวันอังคารที่ 2 พฤษภาคมนี้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะแจ้งให้ผู้รับเหมาก่อสร้างทั้ง 6 สัญญาเริ่มงาน ซึ่งแต่ละสัญญา แต่ละบริษัท อยู่ระหว่างการขออนุญาตจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) และกองบังคับการตำรวจราจร เพื่อเปิดไซต์งาน

โครงการนี้มีทั้งใต้ดินและลอยฟ้า คือทางใต้ดินเชื่อมต่อกับสถานีศูนย์วัฒนธรรม ของเอ็มอาร์ที สายสีน้ำเงิน มุ่งหน้าไปทางศูนย์ซ่อมบำรุง เข้าสู่ถนนพระราม 9 เลี้ยวซ้ายเข้าถนนรามคำแหง ผ่านแยกลำสาลี กาญจนาภิเษก ถึงสถานีคลองบ้านม้า แล้วยกระดับเป็นลอยฟ้า ปลายทางสถานีสุวินทวงศ์ รวมระยะทางทั้งหมด 21.2 กิโลเมตร 17 สถานี เป็นสถานีใต้ดิน 12.2 กิโลเมตร ตั้งแต่ศูนย์วัฒนธรรมถึงสถานีคลองบ้านม้า

อีกหนึ่งโครงการที่จะต้อง “ปิดการจราจร” ตามแนวก่อสร้างเกาะถนนสายหลัก(ปกติก็ติดวินาศสันตะโรอยู่แล้ว) คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-ศรีนครินทร์) มีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ทีสายสีน้ำเงินที่สถานีลาดพร้าว วิ่งไปตามถนนลาดพร้าว ยกระดับข้ามทางด่วนฉลองรัช ถึงแยกบางกะปิเลี้ยวขวาเข้าถนนศรีนครินทร์ ยกระดับข้ามแยกต่างระดับพระราม 9 เกาะถนนศรีนครินทร์ผ่านวัดศรีเอี่ยม ข้ามถนนเทพรัตน์ (บางนา-ตราด กม.4) ปลายทางถนนปู่เจ้าสมิงพรายเชื่อมต่อกับสถานีสำโรง รถไฟฟ้าสายสีเขียว บีทีเอส

แค่เบาะๆ 3 โครงการใหญ่ยักษ์ดังกล่าวมา ลองวาดภาพกันดูก็ได้ว่า ถ้าหากทุกฝ่ายไม่บูรณาการแผนงานด้านต่างๆ ไว้ดีพอ ทั้งเรื่องความปลอดภัย และการจราจรบนถนนสายหลักๆ ที่ปกติรถก็ติดหนึบอยู่แล้ว กรุงเทพฯ นับจากนี้จะอลหม่านขนาดไหน