จัดการสต็อกสินค้าออนไลน์ ง่าย&แจ๋ว แบบ ‘ZORT’
อาจสะท้อนได้ว่าคนยุคใหม่สนใจเป็นผู้ประกอบการและอีคอมเมิร์ซก็กำลังเบ่งบานอย่างแท้จริง
เพราะโปรแกรมสต๊อกสินค้าออนไลน์ “ซอร์ท” (Zort)ใช้เวลาแค่สองปีกว่าๆ สร้างฐานลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ถึง 500 ราย
และในปีนี้ยังวางแผนโตแบบก้าวกระโดดโดยตั้งเป้าจะเพิ่มจำนวนลูกค้าขึ้นเป็น 2-2.5 พันราย อีกทั้งซอร์ทจะกลายเป็นผู้เล่นที่โดดเด่นในเวทีภูมิภาคเซาท์อีสต์เอเชียภายใน 4-5 ปีข้างหน้า
“มหศักย์ สุรกิจบวร” (จ๊าก) ซีอีโอ&โคฟาวเดอร์ บริษัท ซอร์ทเอาท์ จำกัด มองว่าเป้าหมายดังกล่าวไม่ได้ไกลเกินเอื้อมเพราะทีมของเขามีศักยภาพมากพอที่แข่งขันได้ แม้ว่าในเรื่องของเทคโนโลยีแน่นอนว่าเป็นเรื่องที่ตามกันทัน แต่มั่นใจกับจุดแข็งตรงที่ ซอร์ทจะให้ความสำคัญสูงสุดกับลูกค้า และทำให้เรื่องของสต็อกสินค้าเป็นเรื่องง่ายๆได้อย่างมีสิทธิภาพ
ถามถึงแรงบันดาลใจที่มาที่ไปของซอร์ท ได้รับคำตอบว่า เกิดจากตัวของมหศักดิ์และ “สวภพ ท้วมแสง” (ป็อบ) โคฟาวเดอร์ ต่างมองเห็นแนวโน้มเดียวกัน นั่นคือ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกำลังประสบปัญหาในเรื่องบริหารจัดการสต็อกสินค้าและต้องการตัวช่วยด่วนถึงด่วนที่สุด
"ผมมีเพื่อนๆ และพี่ๆที่รู้จัก ที่ขายของเขามีหน้าร้านที่เป็นทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ที่มาว่าจ้างผมให้เขียนโปรแกรมบริหารสต็อกให้ และทุกคนก็อยากให้เขียนโปรแกรมคล้ายๆกัน ผมก็มองว่าในเมื่อมีความต้องการเยอะแล้วทำไมเราไม่คิดทำเป็นโปรดักส์ขึ้นมา"
แทนที่จะเขียนโปรแกรมแล้วขายให้ทีละราย สวภพเล่าต่อว่า ความต้องการจะพัฒนาสินค้าที่ใช้ได้กับธุรกิจอีกเป็นร้อยเป็นพันราย เลยกลายเป็นจุดเริ่มต้นของซอร์ท โดยที่ตัวเขาทำหน้าที่พัฒนาโปรแกรมและได้ให้ลูกค้าผู้ประกอบการที่คุ้นเคยกันทดลองใช้ฟรีเพื่อเป็นการทดลองผิดทดลองถูก และได้ทำการปรับปรุงเรื่อยๆ กระทั่งอยู่ในจุดที่ลูกค้าบอกว่าโอเค
ถามถึงการแข่งขันที่เกิดขึ้นในเวลานั้น พวกเขาบอกว่า มีโปรแกรมที่ช่วยบริหารสต็อกสินค้าในตลาดอยู่แล้ว แต่ได้พบแก็บที่ว่า โปรแกรมเหล่านั้นค่อนข้างซับซ้อน ใช้ยาก อีกทั้งมีราคาที่ค่อนข้างสูง ชนิดที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเอื้อมไม่ถึง
สวภพ บอกว่าตัวเขาเองก็เคยเปิดร้านขายของมาก่อนและรู้ว่าดีผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักจะใช้โปรแกรมเอ็กเซลในการบริหารจัดการสต็อกสินค้า แต่พอธุรกิจทำไปนานๆ จนเติบโตขึ้น สินค้าที่ขายก็จะเริ่มเยอะขึ้น มีสาขามีช่องทางขายอยู่หลายที่ มีสต็อกอยู่หลายที่ ในที่สุดเอ็กเซลก็จะอยู่ในสภาพที่บวมกระทั่งทำอะไรไม่ค่อยได้
"ผมเคยไปดูไฟล์เอ็กเซลของรุ่นพี่ที่เป็นผู้ประกอบการ เห็นได้เลยว่าไฟล์มันกระตุกเลย จะกดหาสินค้าอย่างนึงก็ทำได้ยาก และถ้าพลาด เขาขายของทั้งๆที่ไม่มีของลูกค้าก็คงไม่โอเคกับเขา มันจะมีผลเสียหลายอย่างเรามองว่าตลาดมีแก็บ เพราะผู้ประกอบการไม่ได้ต้องการฟังก์ชั่นที่เยอะจนเกินไป แต่ต้องทำให้เขาทำงานได้ง่ายๆ เป็นการบริหารสต็อกออนไลน์ ดูที่ไหนก็ได้ มีสาขาจำนวนมากก็คุมสต็อกได้ในที่เดียว" มหศักย์ กล่าวเสริม
ถามว่าโปรแกรมซอร์ททำอะไรได้บ้าง พวกเขาบอกว่า หลักๆก็คือ การบริหารสต็อกสินค้า สามารถจัดการสินค้าได้จำนวนมากเป็นพันๆเอสเคยู บริหารจัดการการซื้อการขาย และทำให้รู้ต้นทุนกำไรของธุรกิจได้ ช่วยลดขั้นตอนการทำงาน และมีความปลอดภัยสูง
โดยโปรแกรมจะมีอยู่ด้วยกัน 3 แพ็คเก็จ ขึ้นอยู่กับขนาดของธุรกิจ หนึ่ง สำหรับธุรกิจที่ผู้ประกอบการทำเพียงคนเดียว แต่มีออเดอร์จำนวนมาก มีราคา 500/เดือน สอง แพ็คเก็จสำหรับกิจการคิดราคา 1,200/เดือน และสาม บุฟเฟ่ต์ ที่ใช้ได้ไม่จำกัด เชื่อมต่อกับทุกช่องทางขายต่างๆทั้งทางออฟไลน์และออนไลน์
"ที่ทำให้เราแตกต่างจากโปรแกรมบริหารสต็อกทั่วๆไป คือสามารถลิงค์กับอีคอมเมิร์ซได้โดยอัตโนมัติ ปกติคนจะขายสินค้าผ่านลาซาด้า ขายผ่านเฟสบุ๊ค ซึ่งสินค้านั้นอาจมีอยู่ชิ้นเดียว ซึ่งปกติเมื่อขายในช่องทางหนึ่งได้แล้ว แทนที่อีกช่องทางหนึ่งจะรู้ก็กลับไม่รู้ ต้องมานั่งอัพเดทกันทีหลัง แต่ระบบของเราพอขายผ่านช่องทางไหนได้ปุ๊บช่องทางอื่นจะรู้ทันที เพราะมีการอัพเดทข้อมูลอัตโนมัติ ซึ่งลองนึกภาพว่ามีสินค้าเป็นพันชิ้น ถ้าต้องมานั่งอัพเดทกันทีละตัว มันจะเป็นเรื่องที่หนักหน่วงมาก" มหศักย์ อธิบาย
สวภพ บอกว่า กว่าจะพัฒนามาถึงจุดนี้ต้องเจอความท้าทายหลายต่อหลายอย่าง แต่ก็อาศัยการเรียนรู้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น ในตอนแรกมองว่ากลุ่มลูกค้าเป็นผู้ประกอบการออฟไลน์ขายสินค้าที่หน้าร้านเท่านั้น แต่ทำไปทำมาก็ได้เห็นว่ามีจำนวนคนขายของออนไลน์เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี แม้เวลานี้ซอร์ทสามารถสร้างฐานลูกค้าได้มากถึง 500 รายแล้ว แต่มหศักย์ บอกว่าเป็นความภูมิใจแต่ให้ถึงขั้นพึงพอใจคงไม่ได้ ในความเป็นจริงนั้นสิ่งที่พวกเขาคาดหวังสูงกว่านี้เป็นร้อยเท่า พันเท่า ดังเป้าหมายที่กล่าวไว้ข้างต้นที่ปีนี้ต้องการจะเพิ่มจำนวนลูกค้าขึ้นเป็น 2-2.5 พันราย และมีแผนระยะไกลมุ่งสู่ผู้เล่นระดับภูมิภาคเซาท์อีสต์เอเชีย
สำหรับกลยุทธ์ในการเข้าหาลูกค้า เขาบอกว่า มีอยู่ 2 แนวทาง ช่วงแรกๆ เนื่องจากยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างจึงใช้วิธีโฆษณาผ่านช่องทางออนไลน์ผ่านทางเฟสบุ๊คและกูเกิล แต่เมื่อทำไปสักพักโปรแกรมก็เป็นที่รู้จักลูกค้าก็เริ่มบอกต่อกันปากต่อปากมากขึ้น
"เรายังทำคอนเทนท์มาร์เก็ตติ้งโดยรวบรวมความรู้ที่เรามีและรวบรวมข้อมูลเท่าที่หาได้ให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงได้ผ่านทางเฟสบุ๊คหรือบางทีก็ส่งเป็นเมลไปให้เขา หรือส่งไลน์ไปบ้างในสัดส่วนที่ไม่รบกวนเขาเพื่อให้เขารู้ว่ามีวิธีนี้ มีเทคนิคนี้อยู่นะในการบริหารสต็อกหรือในการบริหารธุรกิจ"
มหศักย์ บอกว่าสำหรับเขา การอยู่บนลู่วิ่งสตาร์ทอัพมีอยู่ 2 เกม คือเกมความเร็ว และเกมที่ต้องมองขาดถึงทิศทางที่กำลังจะไป ที่บางช่วงอาจต้องโฟกัสกับโพรเซสของงานทำในสิ่งที่วางแผนให้ผลออกมาดีที่สุด มีประสิทธิภาพมากที่สุด อีกส่วนก็ต้องพยายามหาความรู้หลายๆด้าน เพื่อมาคำนวนว่าในอนาคตควรจะเดินไปทางใด ต้องทำอย่างไรจึงจะตอบโจทย์ลูกค้าได้มากขึ้น
“ ผมมองว่าตรงนี้ท้าทายว่าเราควรจะให้น้ำหนักตรงจุดไหน เพราะถ้าพลาดในเกมใดเกมหนึ่ง จะทำให้เราไม่สามารถก้าวหน้าไปทางไหนได้เลย”
รุ่นพี่ รุ่นน้อง
ทั้ง มหศักย์ และสวภพ เรียนจบวิศวกรรมศาสตร์ จากรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สวภพเป็นรุ่นพี่เรียนวิศวะคอมพิวเตอร์ มหศักย์เรียนวิศวะเครื่องกล สมัยเรียนทั้งคู่อยู่ในชมรมหมากกระดาน ทั้งต่างก็เกิดมาในครอบครัวแพทย์เหมือนกันอีกด้วย
แต่ถามว่าเคยทะเลาะกันหรือไม่? สวภพหัวเราะและตอบว่าเรื่องแบบนี้ย่อมต้องเกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา ขณะที่มหศักดิ์บอกว่า ที่ผ่านมาความคิดของคนแต่ละคนในทีมมักจะขัดแย้งกันอยู่เสมอ
"แต่เราต้องมองคอนฟิกตรงนั้นเป็นโอกาสให้ได้ ความเห็นไม่ตรงกันมีข้อดีข้อเสียเพื่อให้เราประเมิน ที่สำคัญก็คือแต่ละคนต้องมองความก้าวหน้าของบริษัทเป็นตัวตั้ง และถ้าการทำให้บริษัทก้าวหน้าจะต้องทำให้เราต้องถอยสักก้าวหนึ่งหรือสิบก้าวก็ตาม เราก็ต้องยอม"
ต้องบอกว่าจุดโฟกัสร่วมกันของพวกเขาก็คือ การทำโปรดักส์เพื่อให้คนใช้เป็นจำนวนมาก และสร้างอิมแพ็คช่วยทำให้ชีวิตของผู้คนดีขึ้น
"สตาร์ทอัพมีทรัพยากรที่จำกัด แต่ต้องการจะทำในเรื่องที่ค่อนข้างท้าทายและใหญ่โต ผมว่าสิ่งที่สำคัญคือการบาลานซ์ คือให้แต่ละคนทำในสิ่งที่ถนัด ในสกิลที่ถูกต้อง และต้องยอมรับว่าเราไม่ได้เป็นคนที่เก่งทุกด้าน ทีมเราต้องมีคนที่เก่งกว่าเรา เพราะเราต้องการเรียนรู้จากเขาเพื่อพัฒนาตัวเองด้วย" สวภพ กล่าว