ลอยตัว 'แอลพีจี' ผู้ค้าแข่งเดือด
ลอยตัวแอลพีจี..ผู้ค้าแข่งเดือด "สยามแก๊ส" มั่นใจรักษามาร์เก็ตแชร์
นโยบายลอยตัวราคาก๊าซ LPG ที่ได้มีผลบังคับใช้ไปแล้วเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2560 ปรากฏการณ์ที่เด่นชัดสุด คือการขยับตัวของเอกชนที่ประกอบธุรกิจผู้ค้าก๊าซ ซึ่งต่างมั่นใจว่าจะรักษาการเติบโต มาร์เก็ตแชร์ บนสมรภูมิรบของตัวเองได้อย่างเหนียวแน่น ทั้งในตลาดภาคครัวเรือน ขนส่ง และอุตสาหกรรม
การลอยตัวราคาก๊าซ LPG เป็นการเปิดเสรีธุรกิจค้าก๊าซ ทำให้เกิดการแข่งขันกันอย่างเสรี ไม่ต้องมาครหาว่ากลุ่มไหนเป็นผู้ผูกขาดธุรกิจ หรือกินรวบตลาดเพียงแค่รายเดียวอีกต่อไป เมื่อเปิดโฉมหน้าผู้เล่นรายใหม่ที่เข้ามามีทั้งรายเดิม ที่มีอยู่แล้ว 20 ราย และต่างชาติเป็นรายใหม่ อย่าง มิตซูบิชิ (ประเทศไทย) เข้ามาในตลาดนี้ด้วย
ตามแผนของมิตซูบิชิ เบื้องต้น เน้นนำเข้าก๊าซ LPG เข้ามาก่อน 10 ล้านตันต่อปี มีการเช่าคลังก๊าซ เพื่อค้าส่ง ขณะที่รายอื่นที่จะเข้ามาก็มองไปถึงการแข่งขันด้านราคาผ่านซัพพลาย เอเย่นต์ และผู้บริโภค เพื่อชิงส่วนแบ่งการตลาดของเจ้าหลักที่มีอยู่ แต่ไม่ว่าจะเป็นผู้เล่นหน้าใหม่มาจากต่างประเทศมีฐานเงินทุนที่เข้ามาลงทุนมากแค่ไหน เจ้าของสนามต่างพูดเป็นเสียงเดียวว่า ธุรกิจนี้ไม่ใช่สนามเด็กเล่นที่จะเอาเงินมาทิ้งเปล่า ยิ่งหากเข้ามาเล่นเรื่องสงครามราคาด้วยแล้ว ยิ่งเท่ากับเป็นการฆ่าตัวตายทางอ้อม
เมื่อดูจากส่วนแบ่งการตลาดค้าก๊าซ LPG ในไทย ปตท. มีส่วนแบ่งการตลาด 37-38 % อันดับ 2 สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ ที่ 24-25 % อันดับ 3 ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ 15-16%
ส่วนก๊าซหุงต้มที่มีอยู่ในขณะนี้ ปตท. กินส่วนแบ่งมากที่สุด 48 % รองมา ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ 18.2 % อันดับ 3 ยูนิคแก๊ซ แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ ประมาณ 11.16 % และอันดับ 4 สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ ที่ 9.22 %
หากดูจากสัดส่วนข้างต้นเห็นชัดว่ากลุ่มปตท. ค่อนข้างได้เปรียบคู่แข่งขันที่มีอยู่ทั้งหมด ด้วยคลังก๊าซขนาดใหญ่ที่บ่อยา จังหวัดชลบุรี สามารถรองรับได้ถึง 1 แสนตัน ท่าเทียบเรือและส่งต่อด้วยระบบโลจิสติกส์ ท่อส่งก๊าซที่มีกระจายทั่วประเทศ สามารถบริหารต้นทุนได้ถูกกว่ารายอื่น ยังไม่นับรวมกับธุรกิจต้นน้ำที่มีบริษัทลูก ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม เป็นผู้จัดหาแหล่งผลิตด้วย ทำให้กลุ่มปตท. แทบจะหาคู่แข่งได้ยาก
ทางปตท. เองประกาศชัดเจนพร้อมแข่งขันกับเอกชนรายอื่นๆ เพื่อจะรักษาส่วนแบ่งการตลาดเอาไว้ให้ได้ เพราะปตท. เองได้เปรียบในเรื่องต้นทุนค่าขนส่งที่ต่ำกว่ารายอื่น หากเล่นเรื่องราคาปตท. ทำได้โดยไม่เจ็บตัวมากกว่าเจ้าอื่น ยังไม่นับรวมกับสายสัมพันธ์ผู้ค้าส่งต่างๆ ที่มีอยู่ หากจะมาเบียดเบอร์ 1 อย่าง ปตท.คงจะยาก
ทั้งนี้ เบอร์ 2 ในธุรกิจนี้ ‘จินตนา กิ่งแก้ว’ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ กล่าวผ่าน Money Wise ว่าไม่กลัว เจ้าใหม่จะเข้ามาแข่งขัน หรือแม้แต่ภาวะการแข่งขันจะรุนแรงมากขึ้น เพราะทุกเซกเมนต์มีเจ้าตลาดครองไว้หมดแล้ว ทางบริษัทมีทั้งปั๊ม มีโรงอัดก๊าซ มีระบบโลจิสติกส์ ทำให้สามารถบริหารจัดการต้นทุนได้ต่ำ
ดังนั้นหากจะเข้ามาแข่งขันด้วยการลด แลก แจก แถม ทำได้เลย แต่ต้องบอกเป็นการทิ้งเงินไปโดยเปล่าประโยชน์ จากที่ผ่านมาก็มีคู่แข่งรายเล็กเข้ามาชิงส่วนแบ่งการตลาดในกลุ่มขนส่งบ้างเหมือนกัน แต่ไม่ได้ลงไปเล่นราคาด้วย เพราะบริษัทมีจุดแข็งได้เปรียบรายอื่น โดยเฉพาะที่ต้นทุนที่ถูกกว่านั้นเอง
ยังไม่นับรวมกับราคาขายในปัจจุบันหากมีการปล่อยเสรีจริงอย่างประเทศ เพราะราคาก๊าซปัจจุบันบวกขึ้นมา 85 ดอลลาร์ต่อตัน อยู่ที่ 440 ดอลลาร์ต่อตัน ทำให้ราคาขายในประเทศบวกขึ้นไปประมาณ 2.80 บาท ซึ่งแต่ละรายก็จะมีต้นทุนการคลังสินค้า การส่งขน ไม่เหมือนกันอีก ทำให้ราคาขายจริงอยู่ที่ 45 บาทต่อกิโลกรัม ดังนั้นผู้เล่นรายใหม่จะแบกรับต้นทุนจุดนี้ได้หรือ?
หากมีการใช้เรื่องราคาเข้ามาสู้ ในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้ค้าในตลาดนี้ มองว่าการปล่อยเสรีธุรกิจนี้ เป็นโอกาส ให้บริษัทเพิ่มยอดขายมากขึ้นในเซกเมนต์ทุกตลาด จากเป้าหมายการเติบโตในปีนี้ 5-6 % ในครึ่งปีแรกสามารถทำได้แล้ว 50 % ซึ่งช่วงที่เหลือหากสามารถเพิ่มยอดขายได้มากขึ้น ทำให้ต้นทุนบริษัทปรับลดลงอีก มีผลให้ผลประกอบการดีขึ้นตามไปด้วย
ล่าสุดทาง คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน หรือ กบง. ได้ประกาศตรึงราคาขายปลีก LPG โดยยอมเพิ่มอัตราชดเชยจากกองทุนน้ำมันขึ้นมาอีก 2.6352 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิมชดเชยอยู่ที่ 0.1207 บาทต่อกิโลกรัม รวมเป็นเงินชดเชย 2.7559 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อตรึงราคาขายก๊าซให้อยู่ที่ 20.49 บาทต่อกิโลกรัมไม่ให้กระทบภาคประชาชน
ดังนั้น อาจจะทำให้รายใหม่มองว่าแม้จะเปิดเสรีจริง แต่ราคาก๊าซในประเทศไม่ได้เปลี่ยนแปลง ทำให้เห็นช่องว่างที่จะเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดในธุรกิจนี้ได้ ซึ่งแต่ละรายคงต้องคิดทำการบ้านกันหนักมากขึ้นว่าจะงัดกลยุทธ์อะไรมาสู้กับรายใหญ่ๆ ในตลาด
อย่างไรการเปิดเสรีทุกตลาด ข้อดี คือ จะกระตุ้นทำให้เกิดการแข่งขันในที่สุดราคาขายจะถูกลง และผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์จากการซื้อสินค้า สามารถเลือกซื้อจากผู้ขายที่มีมากขึ้น ไม่ต้องไปผูกขาดกับรายใดรายหนึ่งนั่นเอง