ยอดอุปโภคบริโภคฟุบ ลด”มูลค่า-ความถี่”ซื้อสินค้า
สินค้าอุปโภคบริโภค“ไม่ฟื้น” ครึ่งปีแรกโต 1% ทำสถิติต่ำสุดรอบ 11 ปี จากปัจจัยเศรษฐกิจชะลอตัว ปัญหาหนี้ครัวเรือน ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ พบพฤติกรรมลดมูลค่า-ความถี่ซื้อสินค้า ตัดค่าใช้จ่ายทุกผลิตภัณฑ์
แม้ตัวเลขทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)และเป้าหมายการส่งออก แต่ยังไม่สะท้อนมาที่กำลังซื้อผู้บริโภคในปีนี้ หลังจากตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคปี 2559 มูลค่า 4.4 แสนล้านบาท มีตัวเลขเติบโต 1.7% ต่ำสุดในรอบ 10 ปี และคาดการณ์ว่าปีนี้จะขยับเพิ่มขึ้น
นายอิษณาติ วุฒิธนากุล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัทกันตาร์ เวิร์ลดพาแนล (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้วิจัยพฤติกรรมการจับจ่ายของผู้บริโภคเชิงลึกในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีอัตราการบริโภคสูง หรือ เอฟเอ็มซีจี เปิดเผยว่าสถานการณ์ช่วงครึ่งปีแรก พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงตั้งแต่ ม.ค.2560 เป็นต้นมา เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว และสินค้าโภคภัณฑ์และพืชผลทางการเกษตร เช่น ข้าว ข้าวโพด ยางพาราราคาตกต่ำ ซึ่งส่งผลให้กำลังซื้อในครัวเรือนภาคเกษตรที่มีสัดส่วน 1 ใน 3 ของครัวเรือนไทยลดลง
นอกจากนี้“หนี้ครัวเรือน”ยังคงเป็นอีกปัจจัยที่ฉุดกำลังการจับจ่ายใช้สอยของครัวเรือน ในขณะที่รัฐบาลพยายามกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ พบว่าอัตราหนี้ในครัวเรือนต่อจีดีพีตั้งแต่ปี 2553 มีสัดส่วน 59% ขยับขึ้นต่อเนื่อง ปี2559 อยู่ที่ 80% ถือเป็นอัตราที่สูงกว่าประเทศไต้หวัน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ที่หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ระดับ 40-60%
จับจ่ายเอฟเอ็มซีจี“ไม่ฟื้น”
จากปัจจัยที่ส่งผลต่อข้อจำกัดด้านกำลังซื้อและเงินในกระเป๋าที่ไม่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังในการจับจ่าย ส่งผลโดยตรงต่อการเติบโตที่ถดถอยของตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค ที่ขยายตัวต่ำสุดต่อเนื่องในปีนี้ นับจากปี 2550
การสำรวจการจับจ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคครึ่งปีแรก 2560 พบว่าเติบโต 1% ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขยายตัว 2.4%
สถานการณ์เศรษฐกิจและดัชนีที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคต่างๆ ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ยังไม่ส่งสัญญาณที่เป็นปัจจัยบวกและสามารถกระตุ้นการบริโภคได้ จึงประเมินว่าตลาดเอฟเอ็มซีจี ปีนี้ยังไม่ฟื้นตัว ตัวเลขดีที่สุดจะเท่ากับปีก่อน หรืออาจเติบโตเพียง 1% เป็นสถิติต่ำสุดในรอบ 11 ปี
“ช่วงต้นปีนี้ภาคธุรกิจ มองว่าปีก่อนน่าจะเป็นจุดต่ำสุดของตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค และน่าจะกลับมาฟื้นตัวในปีนี้ แต่ช่วงครึ่งปีแรกตลาดขยายตัวได้เพียง 1% เชื่อว่าปีนี้ยังไม่ฟื้นตัว”
หั่นค่าใช้จ่ายสินค้าทุกกลุ่ม
ภาวะการจับจ่ายชะลอตัว สะท้อนได้จากยอดขายของกลุ่มสินค้า 3 กลุ่มหลัก ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 ถึงไตรมาส 2 ของปี 2560 หรือรอบ 1 ปี ประกอบไปด้วย กลุ่มสินค้าในครัวเรือน เติบโต 3.3%กลุ่มสินค้าของใช้ส่วนบุคคล 6.2% และกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม 0.6%
ขณะที่ไตรมาส 2 ของปี 2559 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 2 ของปี 2560 ยอดขายลดลงเหลือเพียง 4.1%, 1.5% และ 0.2% ตามลำดับกลุ่มสินค้า
ในภาวะที่ผู้บริโภคต้องการรัดเข็มขัด จะตัดค่าใช้จ่ายสินค้าที่ไม่จำเป็น เช่น ลดการบริโภคอาหารและเครื่องดื่ม เปลี่ยนจากเครื่องดื่มน้ำอัดลมและชาเขียวเป็นน้ำเปล่า แต่มักไม่ตัดค่าใช้จ่ายของใช้ส่วนบุคคลที่จำเป็น แต่ปีนี้สินค้าดังกล่าวต้องเผชิญภาวะเติบโตถดถอยเช่นกัน
ปีที่ผ่านมาผู้บริโภคมีพฤติกรรม“ซื้อน้อยลง”และ“จ่ายน้อยลง” ทั้งนี้ ภาวะการซื้อน้อยลง ประกอบไปด้วย ปริมาณสินค้า, กลุ่มสินค้า และลดความถี่ที่ออกไปจับจ่าย ส่วนการจ่ายเงินน้อยลง ประกอบไปด้วยการซื้อสินค้าในขนาดบรรจุที่เล็กลง, เลือกซื้อในช่วงมีโปรโมชั่น และเปลี่ยนช่องทางร้านค้าที่ซื้อสินค้า
“สถานการณ์ที่เกิดขึ้นปีนี้ ผู้ค้าปลีกและสินค้าต้องเผชิญศึกหนัก จากผู้บริโภคเพิ่มความระมัดระวังในการจับจ่ายมากขึ้น”
ลดความถี่-มูลค่าซื้อสินค้า
นายอิษณาติ กล่าวว่าจากข้อมูลวิจัยยังพบว่าสถิติด้าน“ความถี่”ในการออกไปจับจ่ายสินค้าอุปโภคบริโภค มีแนวโน้มลดลง โดยปี 2555 อยู่ที่ 210 ครั้งต่อปี ปี 2560 เหลือ 201 ครั้งต่อปี เช่นเดียวกับการจับจ่ายต่อครั้งที่ลดลงจาก 91 บาท เหลือ 81 บาท โดยเลือกจับจ่ายเฉพาะกลุ่มสินค้าที่จำเป็นมากกว่าสินค้าที่ไม่จำเป็น จากปี2555 ซื้อ 44 กลุ่มสินค้า ปีนี้ลดเหลือ 42 กลุ่มสินค้า
ทั้งนี้ พบพฤติกรรมกลุ่มคนเมือง ลดความถี่ในการซื้อสินค้าลง แต่ใช้จ่ายต่อครั้งเพิ่มขึ้น จากการซื้อสินค้าโปรโมชั่น หรือบรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่ ที่ได้สินค้าปริมาณมากแต่ราคาเฉลี่ยลดลง ขณะที่ผู้บริโภคต่างจังหวัด มีความถี่ซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น แต่ซื้อสินค้าต่อครั้งมูลค่าลดลง เนื่องจากมีเงินจับจ่ายต่อครั้งไม่มาก จึงใช้วิธีซื้อสินค้าที่ร้านสะดวกซื้อใกล้บ้านด้วยความถี่มากขึ้น
ปัจจัยที่สะท้อนกำลังซื้อผู้บริโภคถดถอย มาจากการซื้อสินค้าที่อยู่ในช่วงโปรโมชั่นมากขึ้น จาก 25% ในปี 2555 ช่วงครึ่งปีแรก 2560 เพิ่มขึ้นเป็น 36% เป็นสัดส่วน 1ใน3 ของการจับบจ่ายสินค้าอุปโภคบริโภค
สินค้านวัตกรรมยังโต
อย่างไรก็ตามจากผลการวิจัยยังชี้ให้เห็นว่า กลุ่มสินค้าที่มีนวัตกรรม ที่สร้างความสะดวกให้ผู้บริโภคยังมีโอกาสยอดขายเติบโต เช่น กะทิกล่องสำเร็จรูป ที่มีความสะดวกใช้งาน เติบโต 51.8% ,น้ำยาซักผ้า เติบโต 9.1% รวมทั้งสินค้าส่วนผสมและเครื่องปรุงอาหาร เติบโต 23.5% จากปัจจัยผู้บริโภคลดการรับประทานอาหารนอกบ้าน โดยซื้อสินค้ามาประกอบอาหารที่บ้านมากขึ้น
กลุ่มสินค้าที่เกี่ยวกับสุขภาพ มีแนวโน้มขยายตัวเช่นกัน คือ นมถั่วเหลืองสเตอริไลซ์ เติบโต 3.9%, นมดื่มสเตอริไลซ์ เติบโต 26.2%, ขนมแปรรูปจากปลาหมึก เติบโต 3.3% , นมเปรี้ยวพร้อมดื่ม เติบโค 1.7%
ช่องทางออนไลน์ยึดสัดส่วน10%
ปัจจุบันการจับจ่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์อยู่ในช่วงขาขึ้น ปีที่ผ่านมาการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านช่องทางออนไลน์มีสัดส่วนอยู่ที่ 7.3% มูลค่า 2,474 ล้านบาท ปี2560 คาดสัดส่วนอยู่ที่ 9.4% มูลค่า 3,897 ล้านบาท ปีหน้ายังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง และสัดส่วนจะเพิ่มขึ้นแตะ 10%
แม้มูลค่าการจับจ่ายผ่านออนไลน์มีสัดส่วนไม่สูง แต่พบว่ายอดการใช้จ่ายต่อครั้งสูงสุดเมื่อเทียบกับช่องทางอื่นๆ หรืออยู่ที่ 602 บาทต่อครั้ง สูงกว่าช่องทางไฮเปอร์มาร์เก็ตเท่าตัว