'ทีโอที-แคท'เซ็งแผนฟื้นฟูเต็มไปด้วยอุปสรรค!!
"ทีโอที-แคท" ครวญเส้นทางฟื้นฟูกิจการเต็มไปด้วยอุปสรรค ฝากเจ้ากระทรวงดูตัวอย่าง "ปตท."
รายงานข่าวจากบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงกรณีที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เตรียมรุกคืบดำเนินธุรกิจโรงแรมราคาประหยัด (Budget Hotel) ในสถานีบริการน้ำมัน ปตท.ทั่วประเทศว่า ความสำเร็จของปตท.นั้นเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของผู้บริหารองค์กรดังกล่าว หลังจากก่อนหน้าได้ประสบผลสำเร็จจากการบริหารธุรกิจค้าปลีกในนาม "จิฟฟี่ (Jiffy)" ในสถานีบริการน้ำมัน ปตท.มาแล้ว
ทั้งนี้ ตามแผนรุกคืบธุรกิจโรงแรมในสถานีบริการน้ำมันปตท.นั้น มีเป้าหมายจะผุด Budget Hotel ในสถานีบริการน้ำมันประมาณ 50 แห่งภายใน 5 ปี โดยในระยะแรก ปตท.จะดำเนินโครงการต้นแบบ 4- 5 แห่งก่อนโดยปตท.จะดำเนินการลงทุนเอง จากนั้นจะพิจารณาคัดเลือกพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจโรงแรมและที่พักเข้ามาร่วมลงทุนโดยคัดเลือกจากผู้ที่ผ่านคุณสมบัติ 3 ใน 7 รายที่เสนอตัวเข้ามาก่อนหน้า
"การรุกดำเนินธุรกิจของปตท.นั้นเป็นที่น่าสังเกตว่าล้วนได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและกระทรวงพลังงานที่เป็นหน่วยงานต้นสังกัด ซึ่งเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับหน่วยงานด้านกิจการสื่อสารของรัฐ อย่างบริษัททีโอทีจำกัด(มหาชน)และ กสท.โทรคมนาคม หรือแคทนั้นจะเห็นถึงความแตกต่างอย่างลิบลับ"
ทั้งนี้ ในส่วนของทีโอที และแคทนั้น แม้จะจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ และมีแผนดึงพันธมิตรธุรกิจเข้ามาร่วมพัฒนากิจการ โดยในส่วนของ กสท นั้นมีแผนจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับดีแทค เพื่อนำเอาทรัพย์สินเสาสัญญาณมือถือกว่า 12,000 ต้นตามสัญญาสัมปทานที่กำลังจะสิ้นสุดลงในปี 2561 มาให้บริการเช่าต่อเพื่อที่จะทำให้แคท ยังคงมีรายได้ต่อเนื่องปีละ 10,000-20,000 ล้านบาท
ขณะที่บริษัททีโอทีก็เสนอแผนทำสัญญาธุรกิจกับพันธมิตร 2 ราย คือบริษัท AWN ในเครือเอไอเอส และบริษัทดีแทค ไตรเน็ท เพื่อร่วมพัฒนาโครงข่ายมือถือบนคลื่นความถี่ 2100 และ 2300 เมกกะเฮิร์ตซ์ (MHz) ซึ่งจะทำให้ทีโอทีมีรายได้จากการนำเอาทรัพย์สินเครือข่ายเสาสัญญาณมือถือไปให้เช่าปีละไม่ต่ำกว่า 15,000-20,000 ล้านบาท แต่แนวทางข้างต้นกลับถูกกระทรวงดิจิทัลต้นสังกัดดองเค็มตีกลับให้ไปนับ 1 ใหม่มาครั้งแล้วครั้งเล่า
"กระทรวงดีอียังคงต้องการให้ทีโอทีและแคท ร่วมกันจัดตั้งบริษัทลูกร่วมทุนคือบริษัทโครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเตอร์เน็ตจำกัด (NGDC) และบริษัทโครงข่ายอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์แห่งชาติ จำกัด(NBN) ทั้งที่ผลศึกษาของบริษัทที่ปรึกษา ก็ยืนยันชัดว่าไร้อนาคต เพราะเอาแค่เงินเดือนพนักงานที่ต้องโอนย้ายมาอยู่บริษัทร่วมทุน ก็สูงกว่าเดิมไม่น้อยกว่า 15-20% ขณะที่ต้นทุนค่าบริการไวไฟ และโครงข่ายระหว่างประเทศที่รับโอนทรัพย์สินมาจากบริษัทแม่นั้น เมื่อบวกต้นทุนค่าบริหารจัดการลงไปก็ยากจะไปแข่งขันกับบริษัทเอกชนได้ ท้ายที่สุดคงหนีไม่พ้นนำกลับไปให้บริษัทแม่เช่าใช้ การจะไปคาดหวังจะให้บริษัทเอกชนอย่างเอไอเอส ดีแทค ทรูมูฟมาเช่าใช้ แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยเพราะบริษัทสื่อสารโทรคมนาคมเหล่านี้ ล้วนมีการลงทุนสร้างเครือข่ายตัวเองกันอยู่แล้ว ใครจะมาเช่าใช้โครงข่ายของรัฐในเมื่อทุกรายก็มีการลงทุนของตนเอง สุดท้ายก็คงหนีไม่พ้นบีบให้บริษัทแม่เช่าใช้ในสภาพที่ต้องจ่ายแพงกว่าเดิม" แหล่งข่าวกล่าว