'คลัง' มอบหมาย 'สรรพากร' ศึกษาแผนปฏิรูปภาษี ดันรายได้รัฐต่อ GDP เพิ่ม

'คลัง' มอบหมาย 'สรรพากร' ศึกษาแผนปฏิรูปภาษี ดันรายได้รัฐต่อ GDP เพิ่ม

"จุลพันธ์" มอบนโยบายผู้บริหาร "สรรพากร" หน่วยงานหลักขับเคลื่อนปฏิรูประบบภาษี สร้างความยั่งยืนการคลัง ชี้สัดส่วนรายได้ภาษีต่อ GDP ไทย อยู่ที่ 16.7% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยภูมิภาค 2.6%

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้มอบหมายให้กรมสรรพากรเป็นหน่วยงานหลักในการศึกษาปฏิรูประบบภาษีตามนโยบายรัฐบาล เพื่อสร้างความยั่งยืนทางการคลังและความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ โดยกรมสรรพากรมีบทบาทสำคัญในฐานะหน่วยงานหลักที่จัดเก็บรายได้กว่า 80% ของรายได้รัฐบาล

ปัจจุบัน สัดส่วนการจัดเก็บรายได้รัฐต่อ GDP ของประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่องจนอยู่ที่ 16.7% ขณะที่รัฐบาลจำเป็นต้องใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น เพื่อการพัฒนาและลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ควบคู่ไปกับการจัดสวัสดิการให้แก่คนไทยทุกช่วงวัย

 

โดยเฉพาะเมื่อประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงวัย หากรัฐบาลไม่สามารถจัดเก็บรายได้ให้เพียงพอต่อรายจ่ายที่เพิ่มมากขึ้นอาจมีความจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่เป็นผลดีกับประเทศไทยในระยะยาว 

นายจุลพันธ์ กล่าวว่า การศึกษาปฏิรูประบบภาษีมีความจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศไทยอยู่ระหว่างกระบวนการเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) ซึ่งส่วนใหญ่ประเทศที่เป็นสมาชิกจะมีอัตราการจัดเก็บภาษีต่อ GDP เฉลี่ย 34% ขณะที่สัดส่วนการจัดเก็บภาษีต่อ GDP ของประเทศในเอเชีย-แปซิฟิกจะอยู่ที่ 19.3% เท่ากับว่ารายได้ทางภาษีของประเทศไทยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโดยประมาณ 2.6%

"เป้าหมายของประเทศไทยที่จะทำให้เศรษฐกิจและสังคมเติบโตได้บนพื้นฐานความยั่งยืนทางการคลัง จะต้องทำให้สัดส่วนการจัดเก็บรายได้รัฐต่อ GDP ไม่ต่ำกว่า 20%"

โดยเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2567 นายจุลพันธ์ เป็นประธานในพิธีเปิดงานพร้อมมอบนโยบายโครงการหลักสูตรการประชุมสัมมนาผู้บริหารกรมสรรพากรทั่วราชอาณาจักร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยมีนายสุรชาติ เทียนทอง เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยนายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง นายปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากร และผู้บริหารระดับสูงกรมสรรพากร เข้าร่วมด้วย 

โดยนายจุลพันธ์ กล่าวถึง แนวทางการดำเนินงานของกรมสรรพากรในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อลดช่องว่างทางภาษี (Tax Gap) ซึ่งเป็นความแตกต่างระหว่างรายได้ที่ควรจัดเก็บกับรายได้ที่จัดเก็บได้จริง โดยเทคโนโลยีดิจิทัลจะช่วยติดตามผู้มีหน้าที่เสียภาษีอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงนำเศรษฐกิจนอกระบบเข้าสู่ระบบภาษี เพื่อขยายฐานรายได้โดยไม่สร้างภาระเพิ่มเติมให้กับประชาชน

รวมถึงแนวทางการคืนภาษีซึ่งเป็นข้อร้องเรียนสำคัญจากผู้ประกอบการ ซึ่งได้เน้นย้ำให้ปรับปรุงกระบวนการคืนภาษีด้วยระบบบริหารความเสี่ยง โดยเฉพาะผู้เสียภาษีที่มีความเสี่ยงต่ำควรได้รับเงินคืนอย่างรวดเร็วเพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องของธุรกิจตลอดจนการปราบปรามการทุจริตในระบบภาษีโดยใช้วิธี Domestic Reverse Charge ซึ่งประสบความสำเร็จในหลายประเทศมาใช้แก้ไขปัญหาทุจริตในภาษีมูลค่าเพิ่ม