CRD ชกข้ามรุ่น สู่สังเวียน 'ซูเปอร์เฮฟวี่เวท'
'เชียงใหม่ริมดอย' ท้าชนรับงานตลาดใหญ่ มูลค่า 1,000 ล้านบาท เกาะเทรนด์โครงการเมกโปรเจคทั่วประเทศ 'ธีรพัฒน์ จิรพิพัฒน์' หุ้นใหญ่ วางเป้าหมาย 5 ปีข้างหน้า มีโอกาสเห็นรายได้แตะ 2,000-3,000 ล้านบาท
ผู้ประกอบการธุรกิจรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่สุดจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือ ความโดดเด่นนี้อาจเป็นตัวผลักดันให้ หุ้น เชียงใหม่ริมดอย หรือ CRD ของ 'ตระกูลจิรพิพัฒน์' ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 39.76% ยังคงยืนเหนือราคาจอง 1.44 บาทต่อเนื่อง แม้จะปรับตัวลดลงจากราคาเปิดซื้อขายวันแรก (5 ต.ค.2560) ที่ระดับ 1.75 บาท ปัจจุบันราคาซื้อขายเฉลี่ย 1.47 บาท
ทว่า แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ กำลังเป็น 'แรงผลักดัน' การเติบโตในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น โครงการขยายท่าอากาศยานเชียงใหม่ เพื่อรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยว โครงการรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ โครงการมอเตอร์เวย์ เชื่อมเชียงใหม่-เชียงราย และโครงการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดบริเวณสามแยกแม่โจ้ (เทพปัญญา) ขนาด 6 ช่องจราจร
'ธีรพัฒน์ จิรพิพัฒน์' กรรมการผู้จัดการ บมจ.เชียงใหม่ริมดอย หรือ CRD บอกสตอรี่ใหม่ ๆ ผลักดันฐานะทางการเงินกับ 'กรุงเทพธุรกิจ Biz Week' เช่นนั้น...!!
หากย้อนไปเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา 'ธุรกิจรับเหมา-ก่อสร้าง' ในจังหวัดเชียงใหม่ค่อนข้างนิ่งแต่ปัจจุบันโครงการลงทุนขนาดใหญ่เป็น 'ปัจจัยบวก' ดึงดูดบริษัทอสังหาริมทรัพย์เข้ามาลงทุนพัฒนาที่ดินในเชียงใหม่อย่างต่อเนื่อง อาทิ โรงแรม ,คอนโดมิเนียม , บ้านจัดสรร ,ห้างสรรพสินค้า อาคารจอดรถ เป็นต้น เพื่อรองรับความต้องการ (ดีมานด์) โดยเฉพาะประเทศจีนที่สนใจซื้ออสังหาฯ เพื่อลงทุน ส่งผลให้ราคาที่ดินปรับตัวสูงขึ้นราว 7-8 เท่า หรือ ราคาเฉลี่ย 2 แสนบาทต่อตารางเมตร
'จังหวัดเชียงใหม่ถือว่าเป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับ 1 ของภาคเหนือ ในแต่ละปีดึงดูดจำนวนนักท่องเที่ยวไปเยือนปีละไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน และสร้างรายได้ปีละเกือบแสนล้านบาท'
ปัจจุบันแบ่งธุรกิจเป็น 2 ประเภทหลัก ประกอบด้วย 1.รับเหมาก่อสร้างงานอาคารและสิ่งก่อสร้างทั่วไป ตั้งแต่บริการรับเหมาก่อสร้างงานวิศวกรรมโยธา งานสถาปัตยกรรม และงานระบบประกอบอาคาร ตามแบบที่ลูกค้ากำหนด และ 2.การรับเหมาก่อสร้างงานระบบสาธารณูปโภค อาทิ การรับเหมาก่อสร้างและติดตั้งระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย ระบบประปา งานก่อสร้างสถานีไฟฟ้าแรงสูง (Sub Station) โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ งานปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้าเป็นสายเคเบิ้ลใต้ดิน เป็นต้น
เมื่อจังหวัดเชียงใหม่กำลังเนื้อหอมให้บรรดาผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่-เล็ก เข้ามาแย้งงานในตลาดมากขึ้น ในฐานะเจ้าถิ่นจำต้อง 'กระจายความเสี่ยงพอร์ต' รับเหมาก่อสร้างจากพื้นที่ภาคเหนือไปสู่การรับงานทั่วประเทศ ด้วย 'จุดแข็ง' ของธุรกิจเกิดมาจากงานก่อสร้างโครงการภาครัฐ เน้นรับเหมาก่อสร้างงานระบบสาธารณูปโภคประเภทก่อสร้างและติดตั้งระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย ก่อสร้างสถานีไฟฟ้าแรงสูง ก่อสร้างอาคารโรงไฟฟ้าและระบบส่งน้ำ
หลังจากบริษัทมีเงินระดมทุนจะช่วยให้มีศักยภาพในการรับงานขนาดใหญ่สูงสุด 'ระดับ 1,000 ล้านบาท' จากปัจจุบัน 500 ล้านบาท โดยเฉพาะงานภาครัฐที่ยังมีอีกเป็นจำนวนมากที่บริษัทพร้อมจะเข้าร่วมประมูล รวมทั้งจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวได้ดีในขณะนี้ก็เชื่อว่าจะทำให้ภาคเอกชนลงทุนทำโครงการใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอีกมาก
'การระดมทุนนอกจากจะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งด้านการเงินแล้ว ยังส่งเสริมความน่าเชื่อถือของบริษัท และเพิ่มความไว้วางใจให้กับลูกค้าและพันธมิตรต่างๆ เชื่อว่าจะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้ารับงานจากหน่วยงานราชการและบริษัทเอกชนได้ในอนาคต'
ฉะนั้น ในแผนธุรกิจ 5 ปี (2561-2565) บริษัทตั้งเป้ารายได้ระดับ 2,000-3,000 ล้านบาท จากการรับงานที่มีมูลค่าสูงขึ้น และรักษาอัตรากำไรขั้นต้นไว้เท่าเดิม โดยในส่วนของงานภาครัฐบริษัท 'โฟกัส' รับงานก่อสร้างด้านสาธารณูปโภคน้ำและไฟฟ้าทั่วประเทศ โดยบริษัทเพิ่มเครื่องจักรและบุคลากรด้านวิศวกรประมาณ 40-50 คน
'ปัจจุบันมีงานภาครัฐอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างและยื่นซองประมูล คือ สถานีไฟฟ้าย่อยของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมูลค่า 100 ล้านบาท และงานบำบัดน้ำเสียการสนามบินเชียงใหม่'
เขาบอกว่า สำหรับงาน 'ภาคเอกชน' บริษัทจะเน้นรับงานของผู้ประกอบการอสังหาฯ ในจังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ต้องการมาพักผ่อนของนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ทำให้มีผู้ประกอบการรายใหญ่เข้ามาลงทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยหลายราย ซึ่งผู้ประกอบการอสังหาฯ มีความต้องการผู้รับเหมา-ก่อสร้างในท้องถิ่นมากกว่าจะก่อสร้างเอง
ปัจจุบันมีงานก่อสร้างทาว์โฮมในจังหวัดเชียงใหม่ เฟส 1 มูลค่า 50 ล้านบาท โครงการคอมโดมีเนียมเชียงใหม่คาดว่าจะเปิดประมูลปี 2561 มูลค่า 100 ล้านบาท และก่อสร้างครัวการบินเชียงใหม่ มูลค่า 100 ล้านบาท
ในแง่ของการแข่งขันงานเอกชนมีความ 'ร้อนแรง' มากกว่างานภาครัฐ เพราะว่ามีผู้เล่นในตลาดทั้งรายเล็ก-กลาง-ใหญ่ ซึ่งบริษัทไม่กังวลระดับมูลค่างานต่ำกว่า 30-50 ล้านบาทขึ้นไป แต่ที่กังวลคือ กลุ่มผู้รับเหมารายใหญ่จากกรุงเทพฯ เข้าไปแข่งขันด้วย ส่งผลให้มีการแข่งขันกันรุนแรงมาก ดังนั้น บริษัทต้องปรับแผนขึ้นมาเน้นรับงานระดับ 100 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งเป็นตลาดที่มีผู้เล่นน้อยราย
'หุ้นใหญ่' บอกต่อว่า ในแผนธุรกิจในอนาคตอยู่ระหว่างศึกษาลงทุนใน 'ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์' จากที่ดินเปล่าที่มีอยู่หลายแปลงในมือ โดยคาดว่าจะสามารถสรุปแผนงานได้ราวปีหน้า ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ทั้งการพัฒนาโครงการด้วยตัวเองหากกำหนดแผนเป็นโครงการขนาดเล็ก หรือหากมีแผนพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ก็อาจจะดึงพันธมิตรเข้ามาร่วมด้วย
อย่างไรก็ตาม บริษัทจะไม่ใช้เงินจากการเสนอขาย IPO แต่อาจจะตัดขายที่ดินบางส่วนเพื่อนำเงินมาใช้ลงทุนพัฒนาโครงการบนที่ดินที่เหลือเอง
สำหรับเป้าหมายรายได้ปี 2560 คาดว่าจะอยู่ที่ 1,500 ล้านบาท และปีหน้าตั้งเป้ารายได้เพิ่มเป็น 1,600-1,700 ล้านบาท เนื่องจากยังมีงานใหม่ทยอยเข้ามาเพิ่มขึ้น จากที่มีมูลค่างานในมือ (Backlog) ราว 1,000 ล้านบาท ซึ่งจะรับรู้รายได้ในช่วงครึ่งปีหลังราว 700-800 ล้านบาท และยังมีงานที่รอเซ็นสัญญาอีกจำนวนหนึ่ง
ทั้งนี้ บริษัทมีการเน้นรับงานทั้งรัฐมากขึ้น ทำให้สัดส่วนรายได้ในปีนี้เป็นงานรัฐเป็น 80% และเอกชน 20% จากเดิมรัฐ 65% เอกชน 35% แต่ในปีหน้าสัดส่วนรายได้จะเปลี่ยนเป็นรัฐ 70% และเอกชน 30% สาเหตุเพราะว่าปีนี้งบประมาณของงานภาครัฐได้ปิดงบไปแล้ว ต้องรอเปิดงบประมาณรอบใหม่ คาดการณ์ว่าจะมีอีกหลายโครงการที่ออกมา และงบแต่ละโครงการก็ค่อนข้างสูงต้องใช้ระยะเวลา
สำหรับแนวโน้มงานเอกชน เชื่อว่าเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว สะท้อนภาพให้เห็นจากลูกค้ามีการประมูลงานค่อนข้างมาก อาทิ งานก่อสร้างโรงแรมมูลค่ากว่า 200 ล้านบาท และเตรียมที่จะประมูลเพิ่มอีกหลายงานด้วย
'ด้วยพื้นที่เชียงใหม่ขึ้นอยู่กับภาคการท่องเที่ยวเป็นหลักที่ขับเคลื่อนภาคเอกชน และยังเป็นเมืองที่มีสถานการศึกษาจำนวนมาก ยิ่งของภาครัฐจะมีการขยายงานก่อสร้างเพิ่มเติม ซึ่งทุกวันนี้ที่พักอาศัยมีความต้องการสูง'
โดยเฉพาะความต้องการจากจีนที่มาร่วมลงทุนกับคนไทยเพื่อสร้างที่พักอาศัยเพื่อไว้รองรับคนจีนที่เข้ามาท่องเที่ยวจำนวนมาก แม้ว่าจะมีข่าวว่าซับพลายที่อยู่อาศัยตามหัวเมืองท่องเที่ยวจะล้นตลาดทำให้ขายโครงการไม่หมดแต่ก็ไม่ใช่ทุกราย หากเป็นโครงการที่ดีจะขายได้เร็วมาก ซึ่งเป็นห่วงปัญหาเรื่องแรงงานจะกลับมาเป็นอุปสรรคได้ในอนาคต
'ตอนนี้กังวลใจเรื่องแรงงานขาดแคลน เพราะภาครัฐมีการบังคับใช้กฎหมายให้ขึ้นขึ้นทะเบียนถูกต้อง หากเรียบร้อยแล้วจะมีปริมาณแรงงานน้อยลง ยิ่งเศรษฐกิจโตแรงงานไม่พอ เกิดแย่งชิงแรงงาน เกิดความปั้นป่วนในอุตสาหกรรม แต่ช่วงนี้ยังดีอยู่เพราะการบังคับใช้กฎหมายยังไม่เข้มข้น'
จุดกำเนิด 'เชียงใหม่ริมดอย'
'ธีรพัฒน์ จิรพิพัฒน์' กรรมการผู้จัดการ บมจ.เชียงใหม่ริมดอย หรือ CRD เล่าให้ฟังว่า ชื่อบริษัท 'เชียงใหม่ริมดอย' ไปที่ไหนมักจะเจอคำถามจากนักลงทุนว่าทำไมต้องตั้งชื่อนี้ 'ผมถูกถามคำถามนี้เยอะมาก' เขาย้ำให้ฟัง
ก่อนจะแจกแจงว่า คำว่า 'เชียงใหม่' เพราะว่าบริษัทถือกำเนิดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยการรวมตัวกันของกลุ่มเพื่อนวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกันมาทำธุรกิจด้วยกันจำนวน 3 คน ส่วนคำว่า 'ริมดอย' มาจากที่ตั้งของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่อยู่บริเวณเชิงดอยสุเทพนั้นเอง
เมื่อความฝันต้องการอยากขยับตัวเองขึ้นมาจากคำว่า 'ลูกจ้าง' มาเป็น 'เจ้าของกิจการ' จึงชักชวนเพื่อนสมัยเรียนด้วยกันรวมตัวมาตั้งบริษัทก่อสร้างเมื่อปี 2557
โดยมีตนเองเป็นแกนหลักในการบริหารธุรกิจ เพราะว่ามีประสบการณ์ในการทำงานด้านการบริหารจัดการน้ำทำให้มีประสบการณ์วิศวกรที่ปรึกษา ซึ่งถือว่าตรงกับสายที่เรียนจบปริญญาโทมา สบจังหวะพอดีกับที่ภาวะเศรษฐกิจช่วงนั้นกำลังรุ่งเรือง ตามประสาคนหนุ่มวัย 30 ปี ก็อยากออกมาทำเอง อยากเป็นเจ้าของกิจกรรมของตัวเองจึงลาออกมาทำเอง
ตอนนั้นไปขอยืมเงินภรรยาบวกกับเงินตัวเองมาลงทุนทั้งหมด เพราะถือว่าเป็นการลงทุนสร้างความฝัน สร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเอง โดยไม่ได้ไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ เลย ในทางกลับกันกลับสร้างสินทรัพย์ไปโดยไม่รู้ตัว
ทว่า ธุรกิจก่อสร้างต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เป็นที่ดินเวลาของสินเชื่อทำโครงการกับสถาบันการเงิน ทำให้บริษัทต้องซื้อสะสมที่ดินเอาไว้ เมื่อก่อนซื้อสะสม ไม่แพงจากการประมูล เพื่อเอามาค้ำประกันเวลาทำธุรกิจ ซึ่งเมื่อดูจากมูลค่าปัจจุบันน่าจะประมาณ 100 ล้านบาท
ช่วงนั้นที่ดินที่ซื้อไว้ในจังหวัดเชียงใหม่อดีตยังไม่เจริญเท่าตอนนี้มีที่ถนนช้างคลานประมาณ 7 ไร่ ซื้อมาในราคาที่ถูก แต่ราคาปัจจุบันขึ้นมา '4 เท่าตัว' ที่ดินแถวแม่ริม 14 ไร่ ที่หางดงจำนวน 1 ไร่ และ บริเวณใกล้ๆ กับเซ็นทรัลแอร์พอร์ตเชียงใหม่จำนวน 1 ไร่กว่า
'ทุกวันนี้ไม่ได้มีโครงการอยากพัฒนาทำอะไรแม้จะมีคนมาติดต่อซื้อบ้าง เพราะเชื่อว่าในอนาคตความเจริญมากขึ้น ซึ่งอยากทำโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามเทรนด์ของโลก นั่นคือ บ้านผู้สูงอายุ ให้เป็นสถานที่พักผ่อน โรงแรมที่พักก็สนใจ'