ปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 พลิก “มนุษย์” เหนือหุ่นยนต์

ปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 พลิก “มนุษย์” เหนือหุ่นยนต์

การค้นพบที่ยิ่งใหญ่ หลังปฏิวัติอุตสาหกรรมยุค4.0 สั่นสะเทือนวิถีชีวิตผู้คน สังคม ธุรกิจ และรัฐ บริบทพลิกโลก เร่งให้ทุกฝ่าย"พลิกมุมคิด" เปลี่ยนความสับสนวุ่นวาย กลายเป็นพลังเคลื่อนโลก “ควบคุม”เทคโนโลยีมากกว่า ปล่อยให้เทคโนโลยี“ครอบงำ”

การปฏิวัติอุตสาหกรรมแต่ละรอบ“สั่นสะเทือน”การเปลี่ยนแปลงโลกอย่างฉับพลัน ไล่เลียงตั้งแต่ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 เกิดขึ้นในปี 1760 -1840 กับการสร้างรางรถไฟ คิดค้นเครื่องจักรไอน้ำ 

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 จนเลยมาถึงศตวรรษที่ 20 เกิดการผลิตจำนวนมาก จากการคิดค้นพลังงานจากกระแสไฟฟ้า และระบบสายพานการผลิตในโรงงาน 

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 เริ่มต้นในช่วงปี 1960 ถูกเรียกว่าการปฏิวัติดิจิทัล หรือ การปฏิวัติคอมพิวเตอร์ เข้ามามีบทบาทเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

ล่าสุด กับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เมื่อระบบอินเตอร์เน็ตถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลาย จนเกิดผลการเชื่อมโยงการผลิตทั้งฮาร์ดแวร์ (ระบบปฏิบัติการ) และซอฟต์แวร์ (ระบบการควบคุม สั่งการ) นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อย่างฉับพลัน หรือที่ถูกให้นิยามว่าเป็นยุคอุตสาหกรรม 4.0” ที่เกิดการเชื่อมโยงห่วงโซ่คุณค่าของโลก หรือการหลอมรวมเทคโนโลยีอย่างบูรณาการของหลายภายส่วน

นี่คือการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ทรงพลัง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ซึ่งเป็นทั้ง “โอกาสและวิกฤติสำหรับผู้ที่ปรับตัวไม่ทัน" ที่ทุกอุตสาหกรรมที่กำลังแข่งขันกันดุเดือดต้องหันกลับมาทบทวนวิธีการทำธุรกิจแบบเดิม ๆ เพื่อก้าวให้ทันกับความคาดหวังของผู้บริโภค และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว

เคลาส์ ชวาบ (Mr.Klaus Schwab) นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังของโลก ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารของสภาเศรษฐกิจโลก ผู้เขียนหนังสือ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4” (The Fourth Industrial Revolution) หนังสือที่บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) จัดทำขึ้นเพื่อให้คนไทยได้เข้าใจคำว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุคที่ 4 ได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น

นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง อธิบายปรากฎการณ์การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 โดยระบุว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา โดยเทคโนโลยีจะเข้ามาเชื่อมต่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบเศรษฐกิจ ระบบอุตสาหกรรม การบริหารงานของรัฐบาลทุกประเทศ กลายมาเป็นการเปลี่ยนแปลง“วิถีชีวิต”ผู้คนและ“การทำงาน”อย่างพลิกโลก

โดยแปลงความเปลี่ยนแปลงอย่างมหันต์นี้ เป็น “พลังบวก” หรือโอกาสสร้างความเจริญให้กับทุกคน

โดยสิ่งที่เขาคาดหวัง คือ ผู้นำในทุกภาคส่วน สังคม การเมือง เศรษฐกิจ ธุรกิจ ต้องลุกขึ้นมาทำความเข้าใจ รับมือกับความเปลี่ยนแปลง เพื่อบรรเทาผลกระทบที่รุนแรง โดยเขาระบุว่า ที่ผ่านมาผู้นำส่วนใหญ่ยังขาดมุมมองที่ดีพอในการรับมือปรากฎการณ์ที่ว่านี้ และเมื่อผู้นำปรับตัวแล้ว ทุกฝ่ายต้องร่วมด้วยช่วยกันเสริมพลัง

เคลาส์ ยังกล่าวถึงตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ ในระยะไม่ถึง 10 ปี อาทิ การเกิดขึ้นของ ยักษ์อีคอมเมิร์ซโลกสัญชาติจีนอย่างอาลีบาบา เว็บไซด์ให้เช่าที่พักดังของโลกแอร์บีเอ็นบี แอพพลิเคชั่นเรียกรถโดยสารของอูเบอร์ ฯลฯ เป็นต้น ที่ล้วนขับเคลื่อนธุรกิจด้วยเทคโนโลยี 

เปรียบเทียบให้ชัดธุรกิจยุคก่อน ยักษ์ใหญ่สุด 3 แห่งในดีทรอยต์ มีมูลค่าตลาดรวมกันกว่า 36,000 ล้านดอลลาร์ มีรายได้ 250,000 ล้านดอลลาร์ มีพนักงาน 1.2 ล้านคน

ทว่า เมื่อมาเจอกับบริษัทยักษ์ใหญ่ในยุคนี้ ปี 2014 บริษัท 3 แห่งในซิลิคอนแวลลีย์ มีมูลค่าตลาดรวมกันสูงกว่ายักษ์ใหญ่จากดีทรอยต์มหาศาล มูลค่าราว 1,090,000 ล้านดอลลาร์ ทำรายได้เกือบจะเท่ากันทั้งสามบริษัทอยู่ที่ 247,000 ล้านดอลลาร์ แต่พนักงานกลับน้อยกว่าประมาณสิบเท่า หรืออยู่ที่ 137,000 คน 

งานเขียนของเคลาส์ ยังนำผลงานวิจัยของสภาเศรษฐกิจโลกมาอธิบาย โดยระบุถึงแรงขับเคลื่อนสำคัญที่กลายเป็น เมกะเทรนด์” เชื่อมโยงกันสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ มีองค์ประกอบจาก กายภาพ ดิจิทัล และชีวภาพ เมื่อทั้ง 3 กลุ่มมาเชื่อมโยงกัน จึงเกิดการค้นพบความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม

การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ ส่งผลต่อการพัฒนาเทคโนโลยี ที่เห็นเด่นชัด ประกอบด้วย ยานยนต์ไร้คนขับ (Self-Driving Car) ที่ขับเคลื่อนโดยระบบอัตโนมัติ เช่น รถบรรทุก โดรน เครื่องบินและเรือ เมื่อเซ็นเซอร์ และปัญญาประดิษฐ์ (AI -Artificial Intelligence) ก้าวหน้าในไม่ช้าจะถูกพัฒนาเข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นเรื่อยๆ เครื่องพิมพ์สามมิติ ที่ถูกนำมาใช่แพร่หลายในหลากหลายอุตสาหกรรมทั้งยานยนต์ การบินและอวกาศ การแพทย์ วิทยาการหุ่นยนต์ที่ความซับซ้อนสูง หุ่นยนต์จะทำงานร่วมกันกับมนุษย์และเครื่องจักรกล และเข้าทอดแทรกวิถีชีวิตในกิจกรรมประจำวันของผู้คนหลากหลายมากขึ้น

หรือแม้กระทั่งการค้นพบวัสดุใหม่ๆ น้ำหนักเบา แข็งแกร่ง และนำมาใช้ใหม่ได้ จะพลิกการผลิตเชิงโครงสร้าง เช่น การค้นพบ กราฟีน (Graphene) ที่แข็งแกร่งกว่าเหล็ก 200 เท่า เป็นนำตัวไฟฟ้าและความร้อน แต่ยังไม่นำมาใช้แพร่หลายเพราะต้นทุนการผลิตสูง โดยราคาเส้นกราฟีนขนาดหนึ่งไมโครเมตร สูงถึง 1,000 ดอลลาร์ 

การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล คืออินเทอร์เน็ต ที่เชื่อมโยงกับทุกสรรพสิ่ง (IoT-Internet of Things) ส่งผลไปถึงการพลิกวิธีการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานต่างๆอย่างถอนรากถอนโคน ทำให้เกิดวิธีการบริหารจัดการธุรกิจรูปแบบใหม่ เช่น บล็อกเชน (Blockchain) หรือ บัญชีธุรกรรมแบบกระจายเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่ร่วมกันตรวจสอบการทำธุรกรรม สร้างความน่าเชื่อถือให้คนไม่รู้จักกันมาทำธุรกรรมร่วมกันได้ รวมถึงการเกิดขึ้นของบิตคอยน์ (Bitcoin) สกุลเงินบนโลกดิจิทัล เป็นต้น

การเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพ  คือความก้าวหน้าในการถอดรหัสพันธุกรรม (DNA) มนุษย์ ที่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการลดลงเรื่อง ในการค้นพบชีววิทยาสังเคราะห์ เอื้อต่อการสร้างสิ่งมีชีวิตด้วยการกำหนด DNA จะเป็นรหัสที่นำไปสู่การป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพในอนาคต เริ่มต้นจากการควบคุม หรือการวิเคราะห์ DNA

รวมถึงความก้าวหน้าทางการแพทย์ทำให้เกิด สังคมผู้สูงวัย” (Aging  Society) เพิ่มขึ้น ประชากรโลกที่คาดว่าจาก 7,200 ล้านคน จะเพิ่มเป็น 8,000 ล้านคน ภายในปี 2030 และขึ้นเป็น 9,000 คนในปี 2050  ยังคาดการณ์กันว่า1 ใน4 ของประชากรโลกจะมีอายุถึง 100 ปี นั่นหมายถึง ภาคการผลิตและการซื้อสินค้า ที่ส่งผลต่อแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจจะลดลง และการเริ่มใช้เครื่องจักร หรือหุ่นยนต์เข้ามาแทนที่แรงานทำซ้ำ

บทความของเคลาส์ มองความท้าทายที่เกิดขึ้นพร้อมเทคโนโลยีว่า จะพลิกเป็นโอกาสบูรณาการการทำงาน ตั้งแต่ การดึงให้ประชากรโลกกว่า 2,000 ล้านคน เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโลก กระตุ้นเศรษฐกิจให้มีศักยภาพมากขึ้น และเทคโนโลยียังชี้ข้อด้อยจากปัจจัยเชิงลบที่จะเกิดขึ้น เช่น การตรวจจับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก่อนการลงทุน เป็นต้น 

ที่สำคัญยังส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในระบบธุรกิจ จะมีสินค้าและบริการใหม่ๆ รวมทั้งการบริหารจัดการและจัดสรรทรัพยากรของธุรกิจต่างๆ เพราะเมื่อความคาดหวังผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป มีผลิตภัณฑ์ถูกพัฒนาให้ดีขึ้นด้วยข้อมูลสุดล้ำ เกิดการรวมกลุ่มของหุ้นส่วนใหม่ๆ ที่จับคู่ข้ามบริษัทมาร่วมทุน และแลกเปลี่ยนจุดแข็งของแต่ละฝ่าย ทำให้เกิดการปรับปรุงระบบปฏิบัติการให้อยู่ในรูปแบบเทคโนโลยีดิจิทัล มากขึ้น

ทุกอุตสาหกรรมต่างก็เผชิญกับแรงกดดันเพื่อเอาตัวรอด รูปแบบการทำงานของวิสาหกิจขนาดลางและขนาดย่อม (SMEs) “เคลาส์”มองว่าจะคล่องตัวรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วกว่า ดังนั้นองค์กรขนาดใหญ่จึงต้องเอาตัวรอดด้วยการใช้ข้อได้เปรียบของกลุ่มธุรกิจ SMEs หรือ สตาร์ทอัพ เข้ามาเชื่อมต่อกับธุรกิจทั้งการจัดหาและจับมือร่วมทุน เช่นเดียวกันกับโมเดลของกูเกิล (Google) ที่ปรับโคงสร้างองค์กรขนาดใหญ่ให้เป็นบริษัทโฮลดิ้งส์ชื่อ อัลฟาเบ็ต อิงค์ (Alphabet Inc) เพื่อไปร่วมทุนในบริษัทที่สร้างนวัตกรรมอย่างคล่องตัว

กลไกสำคัญอีกด้านคือ ภาครัฐ จะต้องพลิกบทบาทตัวเองจากผู้มีอำนาจสั่งการ กุมอำนาจ กำกับดูแล ออกกฎระเบียบเปลี่ยนกรอบความคิด ย้ายแพลตฟอร์ม ร่วมมือกับภาคประชาสังคม และภาคธุรกิจ พร้อมกันกับดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดนโยบาย

---------------------------------------

ตีโจทย์พลิกโลก "สมการ" ปฏิวัติไทย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้คำนิยมเส้นทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของไทยในศตวรรษที่ 21 ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ใหม่เชิงโครงสร้างวัฒนธรรมการดำรงชีวิตอย่างสิ้นเชิง จากนี้ต่อไปชาติที่จะดำรงอยู่ได้ต้องขับเคลื่อนความมั่งคั่งจากเทคโนโลยีและนวัตกรรม โจทย์ใหญ่ที่ไทยจะต้องแปลงการพัฒนาประเทศสู่ยุค 4.0 ด้วยระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า (Value -Base Economy)

เปลี่ยนจากเกษตรดั้งเดิมเป็นเกษตรสมัยใหม่ เปลี่ยนจากวิสาหกิจดั้งเดิม เป็น Smart Enterprise เปลี่ยนจากธุรกิจบริการแบบดั้งเดิม สู่ มูลค่าสูง(High -Value Service)เปลี่ยนความคิดดีๆให้มีคุณค่าสู่ Start up โดยใช้กลไกพัฒนาประชารัฐ (PPP-Public Private Partnership) ที่ทุกฝ่ายร่วมด้วยช่วยกันขับเคลื่อนนวัตกรรม เพื่อสร้างความมั่งคั่งและยั่งยืน

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น กุนซือ วางหมากเคลื่อนทัพประเทศสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” และเคยเขียนหนังสือ “โลกเปลี่ยน ไทยปรับ” มีความเห็นสอดคล้องกันกับเมกะเทรนด์ที่ เคลาส์ ชวาบ รวบรวมไว้

โดยระบุว่า 3 ปีของการบริหารประเทศของรัฐบาลนี้ ได้วางโมเดลไทยแลนด์ 4.0 เคลื่อนพร้อมเทรนด์มาโดยตลอด ตั้งแต่ การหลอมรวมการทำงาน ภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ภายใต้ กลไกประชารัฐ  เพราะโลกยุคหน้าไม่สามารถทำงานโดยลำพังได้

ประชารัฐ มีการทำงานแบบลองผิดลองถูกมาตลอด เพื่อเปิดโอกาสให้เกิดการมีส่วนร่วม เพราะเป็นการขับเคลื่อนแรกที่นำโมเดลมาปฏิบัติจริงจึงออกมาในรูป 12 คณะทำงาน ซึ่งมีหลายด้านที่พัฒนาแล้วเริ่มเห็นผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลง เช่น กลุ่มเศรษฐกิจฐานราก ที่มีการตั้งบริษัทธุรกิจเพื่อสังคม ประชารัฐรักสามัคคี กระจายตัวในหลายจังหวัด

รวมถึงการพัฒนาการศึกษา ได้พัฒนาโรงเรียนต้นแบบ และกลุ่มพัฒนาอาชีวะศึกษา ทุกกลุ่มมีความคืบหน้าและเห็นมิติของการร่วมมือกันพัฒนาประเทศ

ในโลกอนาคตขับเคลื่อนด้วย 2 ปัจจัย วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีคนเป็นผู้ขับเคลื่อน (Key Driver) จึงต้องสร้างคนให้อัจฉริยะ เติมปัญญาให้คน รู้เท่าทันการบูรณาการการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ไม่เช่นนั้น โอกาสปลาใหญ่กินปลาเล็กจะเกิดขึ้น รัฐบาลจึงลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ ให้เอื้อต่อการพัฒนาร่วมกันสร้างเครือข่ายการพัฒนา

นอกจากนี้ยังมีกลไกพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีให้จำนวนมาก เพื่อเป็นกองทัพนักรบเศรษฐกิจใหม่ ส่งเสริมผู้ประกอบการ ที่พัฒนาเว็บไซต์ และผู้ประกอบการสร้างสรรค์ หรือพัฒนาด้านการบริการพื้นฐานได้ รวมถึงการพัฒนาผู้ประกอบการในต่างจังหวัด เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เช่น การผลักดันวิสาหกิจชุมชน ส่งเสริมการรวมกลุ่ม ตั้งกองทุนหมู่บ้านและเปิดให้ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย วิเคราะห์ข้อมูลจากBig Dataเข้ามาช่วยให้เข้าไปทำงานตอบโจทย์ได้ตรงจุดความต้องการของประชาชนกว่า 11.4 ล้านคน

“เรานำบิ๊กดาตามาช่วยผู้มีรายได้น้อยทำให้วิเคราะห์ข้อมูลได้แม่นยำและยั่งยืน ตรงจุดรู้ว่าขาดอะไรก็เติมเต็ม ให้มีศักยภาพ และลดทอนข้อจำกัด บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นจุดเริ่มต้น จากนั้นจะสร้างสังคมอนาคตแห่งยุค 4.0 ทำให้คนเหล่านี้เป็นผู้มีศักยภาพสร้างโอกาส ให้อยู่รอดได้ในศตวรรษที่ 21”

ส่วนภาคการเกษตรจะส่งเสริมให้นำการวิเคราะห์ข้อมูลที่แม่นยำ ผนวกกับบิ๊กดาต้ามาใช้ในการทำการเกษตรสมัยใหม่ โดยนำผลงานวิจัยที่ยังไม่ถูกพัฒนามาแปลงไปสู่การใช้งานได้จริง รวมไปถึงการพัฒนาการแพทย์ เทคโนโลยีจะสร้างโอกาสให้ผู้ใฝ่รู้เท่านั้น จึงต้องสร้างสังคมไทยให้เข้าถึงโอกาสเท่าเทียม เพื่อเข้าถึงองค์ความรู้

สุวิทย์ ยังกล่าวว่า 1ปีที่เหลือของรัฐบาลชุดนี้อยู่ “ปัญหาปากท้อง” ยังเป็นปัญหาหลักที่ต้องทำแก้ไข ควบคู่ไปกับการวางรากฐานให้กับประชาชน ในระยะปานกลาง และระยาว ประกอบด้วย การยกระดับการศึกษา นำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาต่อยอดในเชิงการค้า สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ทางการเกษตรและอาหาร ซึ่งเป็นหัวใจของประเทศ โดยร่วมมือกันกับมหาวิทยาลัย พร้อมกันกับวางรากฐานระยะยาว เช่น การบริหารจัดการน้ำ และการวางรากฐานการศึกษา รวมถึงวางโครงข่ายอินเตอร์เน็ทให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

เขาเชื่อว่า หากการเมืองมีเสถียรภาพ และดำเนินนโยบายต่อเนื่อง เศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง เติบโตเฉลี่ยปีละ 5-6% โดยใช้จุดแข็งที่ความมีศักยภาพของการเป็นจุดศูนย์กลางยุทธศาสตร์ในหลายกลุ่มเศรษฐกิจ ทั้ง CLMV(กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) รวมถึงอาเซียน ตลอดจน ยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมใหม่ (OBOR-One Belt One Road)

การขับเคลื่อนจากนี้มุ่งเน้นการกระจายการทำงานไปสู่พื้นที่ภูมิภาค ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในท้องถิ่นทั้ง 6 ภาคให้แข็งแกร่ง โดยกระจายไปสู่จังหวัด อำเภอ ตำบล ผ่านกองทุนหมู่บ้าน 7 หมื่นหมู่บ้าน ที่เริ่มเทงบลงไป ให้เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจเข้มแข็งจากภายใน

-----------------------------------------

23 ปรากฎการณ์เปลี่ยนโลกยุคหน้า

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่สภาเศรษฐกิจโลกได้สำรวจผู้บริหารกว่า 800 คนทั่วโลก เพื่อรายงานการสำรวจการเปลี่ยนแปลงสุดล้ำ และจุดเปลี่ยนของเทคโนโลยีต่อผลกระทบทางสังคม พบว่า ทำให้เกิด"23ปรากฎการณ์หลอมรวมซอฟต์แวร์กับสังคมที่น่าจะเกิดขึ้น ไม่เกินปี 2025 ได้แก่..

1.เทคโนโลยีฝังกาย การเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ ทั้งโทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อตรวจจับสัญญาณสุขภาพ ถูกฝังลงในร่างกายมนุษย์ ฟังดูเป็นเรื่องล้ำยุคที่มีเฉพาะในหนังไซไฟ(Sci-Fi) แต่ไม่ไกลเกินรอราวปี 2025 ผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 82% คาดว่า อุปกรณ์ต่างๆ จะถูกฝังในประชากรโลกได้จริง

2.ตัวตนบนโลกดิจิทัล ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่กว่า 84% มองว่าเพียงช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คนยังคิดแค่เพียงมือถือ อีเมล์หรือเว็บไซต์ แต่ในยุคต่อไป จะเกิดความเข้มข้นของการปฏิสัมพันธ์ของคนในโลกโซเชียลมิเดียเชื่อมต่อกับชีวิตจริงมากขึ้น

3.การเชื่อมต่อระบบอินเตอร์เน็ตกับอุปกรณ์เชื่อมต่อกับการมองเห็น เช่น การเชื่อมต่อแว่นอ่านหนังสือเข้ากับอินเตอร์เน็ต อย่างที่เคยเห็นการเปิดตัวของกูเกิลกลาส หรือแว่นกูเกิล เป็นช่องทางแรกที่จะสร้างแว่นตา อุปกรณ์ที่ใช้กับตาและหูฟัง หรือเป็นอุปกรณ์ติดตามดวงตา“อัจฉริยะ” ช่วยในการปฏิสัมพันธ์กับข้อมูลและตอบสนองข้อมูลได้

4.เน็ตนุ่งได้ จากคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ เปลี่ยนมาเป็นแท็บเล็ตที่สามารถพกพาได้ ภายในปี 2025 คอมพิวเตอร์จะถูกพัฒนาไปใส่ไว้ในเสื้อผ้า และเครื่องประดับของผู้ใช้ ซึ่งที่ผ่านมาเคยเปิดตัวนาฬิกาเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ทไปแล้วในปี 2015 แต่ยุคต่อไปคอมพิวเตอร์จะแทรกซึมในทุกสิ่งที่เราใช้สวมใส่

5.อุปกรณ์คอมพิวเตอร์แพร่หลาย เพียงอีกไม่กี่ปีข้างหน้าประชากรโลกกว่า 3 ใน 4 จะเข้าถึงอินเตอร์เน็ตจะเป็นจุดเปลี่ยนที่นำอุปกรณ์สมองกลต่างๆเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ทเข้าไปเชื่อมต่อกับชีวิตประจำวัน

6.ซูเปอร์คอมพิวเตอร์พกพาได้ ตามคาดการณ์ที่ผู้ใช้สมาร์ทโฟนทั่วโลกจะมีจำนวน 3,500 ล้านคน ภายในปี 2019 นั่นเท่ากับประชากรโลกสัดส่วน 59%เข้าถึงสมาร์ทโฟน เสมือนเป็นคอมพิวเตอร์พกพาให้ประชากรโลกนำไปใช้ได้ทุกที่ทุกเวลา และฟังก์ชันการใช้งานจะง่ายและสะดวกขึ้น

7.ที่จัดเก็บข้อมูลเพื่อทุกคน ราคาค่าจัดเก็บที่ถูกลงเรื่อยๆ และประสิทธิภาพของการจัดเก็บข้อมูลที่สูงขึ้น ทำให้คนสัดส่วน90% สนใจใช้บริการพื้นที่จัดเก็บข้อมูลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพราะบริษัทผู้โฆษณาเป็นผู้ลงทุนให้ผู้ใช้บริการ

8.อินเตอร์เน็ตเพื่อทุกสรรพสิ่ง(IoT-Internet of Things)อุปกรณ์เซ็นเซอร์กว่า 1 ล้านตัวเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต เกิดพลังในการคำนวณพัฒนาต่อเนื่อง และราคาฮาร์ดแวร์ที่ลดลง จึงเกิดความเป็นไปได้กับความคุ้มค่าทางธุรกิจที่จะเชื่อมโยงการบริการต่างๆ อย่างอัจฉริยะ เพื่อเชื่อมโยงกับอินเตอร์เน็ต

9.บ้านต่อเน็ต มีผู้ใช้สัญญาณอินเตอร์เน็ตในบ้านสัดส่วน 50% ที่ส่งไปยังบ้านเรือนเพื่อเชื่อมต่อไปยังอุปกรณ์ต่างๆ ภายในบ้าน เช่น การควบคุมค่าไฟฟ้า ม่าน การระบายลม การปรับอากาศ เครื่องเสียง และวีดีทัศน์ ระบบรักษาความปลอดภัย รวมไปถึงเครื่องใช้ต่างๆภายในบ้าน ถูกควบคุมโดยเจ้าของบ้านสั่งการจากนอกบ้าน

10.เมืองอัจฉริยะ(Smart City) หลายเมืองในโลกเริ่มนำระบบเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตมาใช้ในการบริการสาธารณะ เช่น สิงคโปร์ และบาเซโลน่า ในสเปน พัฒนาเมืองอัจฉริยะ เพื่อแก้ไขปัญหาเมือง จำนวนคนเมืองที่สูงเกินกว่า 50,000 คน เป็นตัวเร่งให้เกิดการควบคุมบริการ และอำนวยความสะดวกผ่านอินเตอร์เน็ท

11.ข้อมูลมากมายมหาศาลเพื่อการตัดสินใจ(Big Data)ข้อมูลที่เกิดขึ้นกับชุมชนต่างๆและประชากร สามารถต่อยอดข้อมูลมาประมวลผล เป็นประโยชน์กับรัฐบาลเก็บข้อมูลก่อนหน้า ช่วยนำไปสู่การใช้บิ๊กดาต้า มาช่วยในการตัดสินใจพัฒนาโครงการได้สะดวกรวดเร็วขึ้น และสอดคล้องกับความต้องการ

12.ยานยนต์ไร้คนขับ  บริษัทค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่และบริษัทด้านไอที อย่าง ออดี (Audi) และกูเกิล ได้เริ่มทดสอบรถยนต์ไร้คนขับแล้ว พร้อมกันกับบริษัทอื่นๆ ก็พัฒนายานยนต์ทางเลือกในการบริการใหม่ๆ ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและปัญหาความคับคั่งของจราจรและการปล่อยของเสีย

13.ปัญญาประดิษฐ์และการตัดสินใจ (AI)คือต้นแบบของการเรียนรู้จากสถานการณ์ก่อนหน้าแล้วประมวลผลเป็นข้อมูลที่เข้ามาช่วยเพิ่มกระบวนการตัดสินใจที่ซับซ้อนได้ ระบบAI ช่วยให้ข้อสรุปชัดเจน ง่าย และรวดเร็วขึ้น

14.ปัญญาประดิษฐ์กับงานออฟฟิศ เมื่อ AI เก่งเรื่องการจับคู่สิ่งที่มีแบบแผนเดียวกันแบบอัตโนมัติ เทคโนโลยีที่ตอบสนองหน้าที่การทำงานหลายส่วนในองค์กรขนาดใหญ่ได้ ทำให้หลายฟังก์ชั่นการทำงาน เริ่มใช้ปัญญาประดิษฐ์เข้ามาทำงานแทนพนักงานในออฟฟิศ

15.วิทยาการหุ่นยนต์และบริการต่างๆ พัฒนาการของหุ่นยนต์เริ่มเข้ามามีบทบาทในการทำงานหลายด้าน ตั้งแต่ผลิต เกษตร ค้าปลีก จากข้อมูลสมาพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติ รวบรวมหุ่นยนต์ทำงาน 1.1 ล้านตัว มีจักรกลสัดส่วน 80% ทำงานในสายพานการผลิตรถยนต์ เพื่อลดทอนความล่าช่าของห่วงโซ่อุปทานบางอย่าง

16.บิตคอยน์และบล็อกเชน เงินสกุลดิจิทัล และการสร้างกลไกความไว้วางใจแบบกระจาย หรือ บล็อกเชน ซึ่งจะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ

17.ระบบเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน เทคโนโลยีก้าวขึ้นมาเป็นตัวกลางเชื่อมโยงการแบ่งปันให้บุคคล หรือองค์กรแบ่งปันสินทรัพย์ สินค้าหรือการบริการผ่านสื่อกลางออนไลน์ หรือแอพพลิเคชั่น เช่น การคมนาคม ของ Zipcar เสนอวิธีให้คนใช้ยานพาหนะ รวมตัวให้บริการเช่ารถ รวมถึงอูเบอร์ที่เข้ามาให้บริการแบบแท็กซี่ รูปแบบธุรกิจเหล่านี้จะเกิดกว้างขวางขึ้น

18.รัฐบาลกับบล็อกเชน เป็นการสร้างโอกาสให้แก่ประเทศที่เอื้อให้เกิดการติดตั้งกลไกทางภาษีต่างๆ เช่น ภาษีในการทำธุรกรรม ที่ช่วยให้รัฐบาลเก็บภาษีจากบล็อกเชน เป็นการพลิกมุมคิดจากช่องโหว่ที่เป็นความเสี่ยง เพราะบล็อกเชนไม่มีกฎระเบียบควบคุมและไม่อยู่ภายใต้การดูแลของธนาคารกลางใดๆบล็อกเชนจึงเป็นเทคโนโลยีที่ออกบัตรประชาชนให้ตัวตนกับพลเมืองในอินเตอร์เน็ต ที่นำมาใช้ตั้งกลไกการตรวจจับการทำธุรกรรมได้

19.การพิมพ์สามมิติกับการผลิต เป็นการหล่อหลอมสร้างวัตถุเสมือนจริงตามความคิดและการออกแบบ ที่จำลองขึ้นมาจากภาพวาด หรือภาพจำลองสามมิติ แก้ไขปัญหาเรื่องความเร็ว ต้นทุน และขนาดได้ โดยลดการสูญเสียก่อนผลิตจริง เช่น การผลิตรถยนต์สามมิติคันแรกขึ้น เร่งให้เกิดการพิมพ์สามมิติในการผลิตอื่นๆตามมา

20.การพิมพ์ภาพสามมิติกับสุขภาพของมนุษย์ ช่วยสร้างอวัยวะของมนุษย์ที่คล้ายการพิมพ์วัตถุอื่นๆ เป็นแบบสามมิติ รับมือกับการขาดแคลนอวัยวะที่ได้จากการบริจาค เมื่อมีผู้รอการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ เพราะสามารถจำลองภาพที่แน่นอนก่อนผ่าตัด

21.การพิมพ์สามมิติกับการผลิตเครื่องอุปโภคบริโภคล้ำไปถึงขั้นนำไปใช้กับการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่ช่วยลดต้นทุนในการเข้าถึงสินค้าอุปโภคบริโภค ทำให้เกิดการสร้างผลิตภัณฑ์เฉพาะกลุ่มและเป็นโอกาสร้างรายได้

22.มนุษย์ออกแบบได้ ที่จะช่วยให้เกิดมนุษย์ที่มีการตัดแต่งพันธุกรรมอย่างตั้งใจให้กำเนิดขึ้น หลังการศึกษาจีโนมของมนุษย์เพื่อผลิตยีนมนุษย์ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 2003 ต่อมาในปี 2009 ต้นทุนลดลง จึงถูกนำไปช่วยพัฒนาต่อยอดผลผลิตทางการเกษตร และบำบัดรักษาด้านการแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

23.ประสาทเทคโนโลยี สืบเนื่องมาจากการต่อยอดโครงการวิจัยด้านสมองของมนุษย์ที่สหรัฐฯเฝ้าสังเกตุกลไกการทำงานของสมอง และระบบประสาท จนนำไปสู่การพัฒนาการทำงานและชีวิตส่วนตัวที่เชื่อมต่อกับการทำงานของสมอง โครงการดังกล่าวนำไปต่อยอดพัฒนาปูฟังสื่อประสาทที่พกพาได้ที่มีราคาหาซื้อได้ตั้งแต่ปี 2015