ดอกเบี้ยโลก‘ขาขึ้น’ โจทย์ท้าทายนโยบายการเงินไทย
ทิศทางนโยบายการเงินโลกกำลังเปลี่ยนทิศกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หรือ Policy Normalization หลังจากที่หลายประเทศเลือกใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยและดอกเบี้ยต่ำมาเป็นเวลานานหลายปี เพื่อดูแลเศรษฐกิจนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินโลก
แต่ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น เศรษฐกิจของหลายประเทศมีการเติบโตไปในทิศทางเดียวกัน วัฏจักรเศรษฐกิจกลับมาเป็นขาขึ้นอีกครั้ง ดังนั้นนโยบายการเงินที่ต่ำมานานก็ควรต้องกลับเข้าสู่ภาวะปกติเช่นกัน
โดยสหรัฐฯ ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก ได้เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาสักระยะหนึ่งแล้ว และคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ “เฟด” จะขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมนัดสุดท้ายของปีช่วงวันที่ 12-13 ธ.ค.นี้ อีกทั้งปีหน้าเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยอีก 3 ครั้ง ภายใต้การนำของประธานเฟดคนใหม่ “เจอโรม พาวเวลล์”
นอกจากนี้ ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา มีธนาคารกลาง 3 ประเทศ เริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปบ้างแล้ว ได้แก่ แคนาดา อังกฤษ และเกาหลีใต้ ขณะเดียวกัน ตลาดยังคาดการณ์ว่า ในปีหน้า “มาเลเซีย” และ “ฟิลิปปินส์” อาจเป็นรายต่อไปที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ย ส่วนในฝั่งยุโรปปัจจุบันอยู่ในช่วงของการเตรียมลดวงเงิน “คิวอี” ซึ่งคาดว่าน่าจะหมดลงภายในสิ้นปีหน้า และมีโอกาสที่ธนาคารกลางยุโรป หรือ อีซีบี จะปรับขึ้นดอกเบี้ยภายในปี 2562-2563
จะเห็นได้ว่านโยบายการเงินของหลายประเทศเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ถือเป็นความท้าทายสำหรับประเทศไทยว่าการดำเนินนโยบายการเงินของไทยในระยะต่อไปจะเป็นอย่างไร โดย “ดอน นาครทรรพ” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของโลกกำลังกลับมาเป็นขาขึ้นอีกครั้ง แต่การปรับขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นไปอย่างช้าๆ เพราะหลายประเทศยังค่อนข้างระมัดระวัง โดยพยายามดูว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแข็งแกร่งมากน้อยแค่ไหน
ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อที่ยังไม่ได้เร่งตัวขึ้นมากนัก ซึ่งปัจจุบันยอมรับว่าเงินเฟ้อมีการตอบสนองกับภาวะเศรษฐกิจน้อยลง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นด้านพลังงานมีที่แหล่งพลังงานจากชั้นหินดินดาน หรือ เชลล์ออยล์ ออกมามากขึ้น ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ด้านการค้าขายที่อีคอมเมิร์ซทำให้ผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบราคาได้ง่าย ประกอบกับการค้าโลกทุกวันนี้ก็มีการเชื่อมโยงกันมากขึ้น
ดอน บอกว่า ความท้าทายในการดำเนินนโยบายการเงินของไทย สิ่งสำคัญที่สุด คือ “การสื่อสาร” เนื่องจากคนส่วนใหญ่มักคิดว่ากรอบนโยบายการเงินของไทยใช้เงินเฟ้อเป็นเป้าหมายเพียงอย่างเดียว แต่ที่จริงแล้วนโยบายการเงินของไทยใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น หรือ Flexible Inflation Targeting ซึ่งไม่ได้ดูแค่เงินเฟ้อ แต่ต้องรักษาความสมดุลระหว่าง 3 วัตถุประสงค์ได้แก่ เงินเฟ้อ การขยายตัวของเศรษฐกิจ และเสถียรภาพของระบบการเงิน
ขณะที่ความท้ายทายอีกด้านหนึ่ง คือ การเชื่อมโยงนโยบายการเงินของไทยกับนโยบายการเงินของโลกที่ดอกเบี้ยกำลังเป็นขาขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย เช่น หากสหรัฐฯขึ้นดอกเบี้ยจนสูงกว่าไทย เงินทุนก็มีโอกาสไหลกลับไปที่สหรัฐฯ เพื่อไปหาผลตอบแทนที่สูงกว่า
“ถ้าดูแค่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย คนอื่นขึ้นแต่เราไปขึ้น สินทรัพย์ของเราก็จะมีความน่าสนใจน้อยลง เงินก็อาจจะไหลออกไปข้างนอกได้ แต่จริงๆแล้วปัญหาที่สำคัญของไทยตอนนี้ไม่ใช่เงินทุนไหลออก แต่เป็นเงินทุนไหลเข้า ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล ถ้าไหลออกไปบ้างจะช่วยลดแรงกดดันด้านเงินบาทได้ ทำให้กำไรของผู้ส่งออกดีขึ้น”
อย่างไรก็ตาม ดอน มองว่า ส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐฯหากอยู่ที่ระดับไม่เกิน 0.5% ยังไม่น่ากังวล แต่หากถึง 1% ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะถ้าหากเกิดความผันผวนในตลาดการเงินโลกขึ้นมาจะทำให้เงินทุนไหลออกได้อย่างรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ตาม แรงกดดันหลักคงไม่ได้อยู่ที่การปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯเพียงแค่ประเทศเดียว เพราะสุดท้ายแล้วถ้าส่วนใหญ่ปรับขึ้นกันหมดก็จะเป็นปัจจัยให้เราต้องขึ้นตามไปด้วย
อีกหนึ่งปัจจัยที่จะทำให้ กนง. ขึ้นดอกเบี้ยและยังเป็นเรื่องที่คณะกรรมการหลายท่านกังวล ก็คือการที่ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าดอกเบี้ยที่ต่ำมานานนั้นได้ไปสะสมความเสี่ยงในระบบการเงินตรงไหนบ้าง ดังนั้นการดำเนินนโยบายการเงินที่ดี จึงควรขึ้นดอกเบี้ยตั้งแต่ปัญหายังไม่เกิด
“การที่แบงก์ชาติจะขึ้นดอกเบี้ยต้องดูหลายองค์ประกอบด้วยกัน คือเงินเฟ้อต้องเข้ากรอบและทิศทางเป็นขาขึ้น รวมทั้งเรื่องความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจ อย่างการกระจายตัวที่พูดกันเยอะ จริงๆแล้วการกระจายตัวนโยบายการเงินเข้าไปดูไม่ได้ ต้องใช้นโยบายการคลัง เรามองว่าอาจไม่ต้องให้มีการกระจายตัวอย่างทั่วถึงแล้วค่อยขึ้นดอกเบี้ย ขอแค่เศรษฐกิจโดยรวมเข้มแข็งพอที่จะไปได้ก็ขึ้นได้แล้ว ไม่ต้องรอให้การกระจายตัว 100%”
ดอน บอกว่าความท้าทายของธปท.ในระยะถัดไป คือ เรื่องการประเมินศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจว่าอยู่ที่ระดับเท่าไหร่ ซึ่งที่จริงแล้วเป็นสิ่งที่วัดไม่ได้ ต้องมีการใช้แบบจำลอง ต้องดูความร้อนแรงของภาวะเศรษฐกิจ การใช้กำลังการผลิต การใช้แรงงาน หลายๆปัจจัยประกอบกัน
ส่วนตัวมองว่าตัวเลขการขยายตัวที่ระดับ 4% ถือว่าน่าพอใจ อาจเรียกได้ว่าเต็มศักยภาพหรือเกินกว่าศักยภาพอยู่เล็กน้อยด้วย แต่ในอนาคตก็อยากให้เศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็งและมั่นคงมากกว่านี้ แต่อาจไม่ต้องถึงขั้นการกระจายตัวอย่างทั่วถึง ขอเพียงแค่เศรษฐกิจสามารถหล่อเลี้ยงตัวเองได้ก็น่าพอใจแล้ว ส่วนตัวเลขที่หลายหน่วยงานคาดการณ์กันไว้ที่ 5% คงจะได้เห็นเมื่อมีการปฎิรูปเศรษฐกิจและภายหลังการพัฒนาโครงการะเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี
“ความท้าทายของแบงก์ชาติคือพยายามวัดว่าศักยภาพของเราอยู่ตรงไหนกันแน่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ง่าย สิ่งที่กรรมการต้องจับตาในอนาคตก็คือแรงกดดันเงินเฟ้อ อย่างเช่นถ้าเรามองการเติบโตที่ 4% แต่ถ้าเงินเฟ้อพื้นฐานไม่ได้เร่งตัวขึ้นมาตาม ก็แสดงว่าสิ่งที่เราประเมินไว้อาจต่ำไป หรือถ้ามองว่าศักยภาพอยู่ที่ 5% แต่ตอนนี้ทำได้แค่ 4% ถ้าไปขึ้นดอกเบี้ยเลยก็คงไม่ได้”
ดอน บอกด้วยว่า ปัจจัยที่ต้องติดตามในปีหน้า คือ เงินเฟ้อจะเข้ากรอบเป้าหมายหรือไม่ และการเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเป็นอย่างไร ขณะที่ปัจจัยในต่างประเทศยังเผชิญความเสี่ยงจากการกีดกันทางการค้า ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ และภาวะเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวเกินคาด
ส่วนความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะฟองสบู่ในสินทรัพย์ต่างๆนั้นก็ต้องจับตาเช่นกัน หลังหลายสินทรัพย์มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งหากเกิดภาวะฟองสบู่ขึ้นจริงจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อตลาดเงินตลาดทุนโลก แต่ดูเหมือนว่าตอนนี้ตลาดการเงินโลกยังไม่ได้กังวลมากนัก เนื่องจากเงินเฟ้อในตลาดโลกยังค่อนข้างต่ำ แต่ในทางตรงกันข้ามหากเงินฟ้อโลกกระชากตัวขึ้นเร็วกว่าคาด และนำไปสู่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เร็วขึ้น ก็จะยิ่งทำให้ฟองสบู่แตกขึ้นได้