ผู้เลี้ยงโคขุนโอด ต้นทุนอาหารสูง-ราคาขายตกต่ำ
"กรมส่งเสริมสหกรณ์" เร่งช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคขุนในหมู่บ้านสหกรณ์หุบกะพง หลังแบกรับต้นทุนอาหารสูงขึ้น-ราคาขายตกต่ำเหตุพ่อค้าคนกลางไม่เข้ามารับซื้อ
เมื่อวันที่ 13 มี.ค.61 นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ติดตามการแก้ปัญหาของกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคขุนในพื้นที่หมู่บ้านสหกรณ์หุบกะพง จังหวัดเพชรบุรีว่า ขณะนี้เกษตรกรประสบปัญหา เรื่องวัตถุดิบในการผลิตอาหารโคขุนมีราคาสูงและปัญหาราคาจำหน่ายโคขุนตกต่ำ ซึ่งปัจจุบันชาวบ้านที่เลี้ยงโคขุน มีจำนวน 24 ราย แต่ละรายเลี้ยงโคจำนวนไม่เท่ากัน โดยคำนึงจากทุนทรัพย์เป็นหลัก และสมาชิกทุกรายเป็นระบบการเลี้ยงแบบเดี่ยว โดยเริ่มต้นจากการเลือกซื้อโคขุนจากแหล่งจำหน่ายโคทั่วไปในจังหวัดตาก คัดเฉพาะโคใหญ่ ที่มีน้ำหนักประมาณ 400 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 100 – 105 บาท เฉลี่ยราคาโคต่อตัวประมาณ 42,000 บาท จากนั้นก็นำโคใหญ่มาเลี้ยงด้วยอาหารหยาบ ซึ่งมีส่วนผสมของเปลือกสับปะรด หญ้าสับและฟางข้าว และอาหารข้น ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงประมาณ 4 เดือน โดยโคใหญ่จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณ 240 กิโลกรัม เพื่อให้มีน้ำหนักพร้อมจำหน่ายขนาด 640 กิโลกรัม
ผู้เลี้ยงโคขุนโอดต้นทุนอาหารสูง-ราคาขายตกต่ำ ขณะนี้เกษตรกรกลุ่มผู้เลี้ยงโคขุนต้องประสบกับปัญหาเรื่องวัตถุดิบในการผลิตอาหารโคขุนมีราคาสูงขึ้น อีกทั้งในแต่ละเดือนต้องไปซื้อวัตถุดิบที่นำมาเป็นส่วนผสมอาหารข้น ได้แก่ ข้าวโพดอาหารสัตว์ป่น ปาล์มเนื้อใน มันบด กากถั่วเหลือง จากจังหวัดอุทัยธานี ซึ่งปัจจุบันราคาวัตถุดิบที่นำมาเป็นส่วนผสมอาหารข้นที่มีคุณค่าทางอาหารสูงนั้นมีราคาสูงขึ้น และระยะทางในการขนส่งไกลจากจังหวัดเพชรบุรี ทำให้ต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์เพิ่มสูงขึ้น
สำหรับการจัดหาวัตถุดิบเพื่อการผสมอาหาร ทางกลุ่มฯ จะจัดหามาจำหน่ายให้กับสมาชิก แต่หากมีปริมาณที่เกินความต้องการของสมาชิกภายในกลุ่มฯ ก็นำไปจำหน่ายให้กับบุคคลภายนอก เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้กับสมาชิกกลุ่มฯ ขณะที่สูตรอาหารสำหรับเลี้ยงโค ทางกลุ่มเริ่มต้นจากการทดลองผสมอาหารตามประสบการณ์ เพื่อให้ได้สูตรอาหารที่เหมาะสมกับการเลี้ยงโค จึงมีการทดลองหลายครั้งกว่าจะประสบผลสำเร็จ ซึ่งโคที่ได้รับอาหารจากสูตรอาหารดังกล่าว มีความเจริญเติบโตและน้ำหนักเพิ่มขึ้นสามารถนำไปจำหน่ายได้ ส่วนเครื่องผสมอาหารที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ทางกลุ่มฯมีการจัดระดมทุนจากสมาชิกกลุ่มฯ เพื่อซื้อเครื่องผสมอาหาร และมอบให้ตัวแทนกลุ่มฯเป็นผู้ดำเนินการผสมอาหารตามสูตรมาตรฐานและกระจายอาหารให้แก่สมาชิกภายในกลุ่ม และสิ้นปีมีการปันผลกำไร คืนให้แก่สมาชิกด้วย
นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องราคารับซื้อโคขุนตกต่ำ เนื่องจากพ่อค้าคนกลางไม่เข้ามารับซื้อ ทำให้เกษตรกรต้องขุนโคล่วงเวลาที่สามารถส่งขายได้เกิน 4 เดือน เกษตรกรจึงต้องแบกรับภาระต้นทุนอาหารโคที่ต้องขุนเพื่อรอเวลาพ่อค้ามารับซื้อ อีกทั้งปริมาณความต้องการขายเนื้อโคขุนในตลาดภายในประเทศมีมากขึ้นเพราะมีเกษตรกรผู้เลี้ยง โคขุนมีจำนวนเพิ่มขึ้น ส่วนปริมาณความต้องการซื้อจากตลาดส่งออกไปประเทศเวียดนามลดลง เนื่องจากเกษตรกรในประเทศเวียดนามมีการเลี้ยงโคขุนไว้บริโภคเองภายในประเทศมากขึ้นในปัจจุบัน
ทางกรมฯได้หาแนวทางแก้ไขปัญหาให้กับสมาชิกสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด เร่งหาทางลดต้นทุนการเลี้ยงและวัตถุดิบในการผสมอาหาร ในเบื้องต้น กลุ่มผู้เลี้ยงโคขุนควรจะได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การเลี้ยงโคแบบคอกรวมกับทางสหกรณ์ในจังหวัดอื่นที่ดำเนินการแล้วประสบผลสำเร็จ เช่น สหกรณ์นิคมลานสัก จำกัด จังหวัดอุทัยธานี สหกรณ์นิคมพิชัย จำกัด จังหวัดอุตรดิตถ์ และสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคขุนในเขตปฏิรูปที่ดินปางศิลาทอง จำกัด จังหวัดกำแพงเพชร เพื่อที่จะนำแนวทางการเลี้ยงโคขุนแบบคอกรวมมาปรับใช้ในการแก้ไขปัญหาเรื่องต้นทุนการเลี้ยงโคขุนให้ลดลงได้
เบื้องต้นมีการวางแผนให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคขุนในหมู่บ้านหุบกะพงนำโคมาเลี้ยงรวมกันในลักษณะคอกรวม 500 ตัว เนื้อที่ 3-4 ไร่ รายละ 10 ตัว คอกละ 50 ตัว คนเลี้ยง 5 คน มีการวางระบบควบคุม ทั้งสูตรอาหารและการบริหารจัดการภายในคอกรวม ซึ่งจะช่วยให้ต้นทุนในการเลี้ยงโคขุนลดลงได้
ผู้เลี้ยงโคขุนโอดต้นทุนอาหารสูง-ราคาขายตกต่ำ นอกจากนี้ กรมฯจะสนับสนุนให้กลุ่มผู้เลี้ยงโคขุนเดินทางไปศึกษาดูงานการเลี้ยงโคขุนของสมาชิกสหกรณ์ที่ประสบความสำเร็จในจังหวัดต่าง ๆ เพื่อจะได้ศึกษา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อเกิดแนวคิดที่สอดคล้องกับพื้นที่และวิถีชีวิตท้องถิ่น และพัฒนากลุ่มผู้เลี้ยงโคขุนในหมู่บ้านสหกรณ์หุบกะพง โดยกรมฯจะให้การสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานและจะสนับสนุนเครื่องผสมอาหารสัตว์โคขุนผ่านไปยังสหกรณ์ เพื่อนำไปดูแลและให้บริการแก่สมาชิกต่อไป