'เอฟเอโอ' ยกย่อง 'พระเทพฯ' ต้นแบบแก้ปัญหาผู้หิวโหย
“เอฟเอโอ” ยกย่อง “สมเด็จพระเทพฯ” แก้ปัญหาผู้หิวโหยทั้งไทยและภูมิภาค “กฤษฎา” ยันไทยทุ่มงบกว่า 1 พันล้านตั้งเป้าบรรลุเป้าหมายภายใน 12 ปี
เมื่อวันที่ 12 เม.ย. นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้แทนประเทศไทยร่วมพิธีเปิดและร่วมประชุมสมัชชาองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติสำหรับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 34 ณ เมืองนาดี สาธารณรัฐฟิจิ ระหว่าง 11-13 เม.ย.2561 โดยมีประธานาธิบดีฟิจิ และผู้อำนวยการใหญ่เอฟ เอ โอ ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิด ซึ่งภายในงานได้มีการฉายวีดิทัศน์สมเด็จพระเทพฯ ที่ได้ทรงกล่าวถึงการแก้ไขปัญหาความขาดแคลนอาหารและการปรับปรุงโภชนาการ
โดยนายโฮเซ กราเชียโน ดา ซิลวา ผู้อำนวยการใหญ่ของเอฟ เอ โอ ได้กล่าวยกย่องถึงบทบาทของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะทูตพิเศษประจำเอฟ เอ โอ ในการรณรงค์แก้ไขปัญหาการขาดอาหารและโภชนาการ ทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาคอื่นๆ ที่ทรงมีพระราชกรณียกิจช่วยเหลือผู้ยากไร้ และพัฒนาโภชนาการของเด็ก
ด้านนายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีความมุ่งมั่นที่จะขจัดความอดอยากหิวโหยให้หมดไป โดยเชื่อมโยงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติเข้ากับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของประเทศไทย และยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ 20 ปี ระหว่างปี 2560 ถึง ปี 2579 โดยน้อมนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่เน้นการพัฒนาแบบยั่งยืน โดยคำนึงถึง สิ่งแวดล้อมที่อยู่ในขณะนั้นของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตรมาเป็นแนวทางในการดำเนินนโยบาย ทั้งนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ทรงมีพระปณิธานแน่วแน่ที่จะทรงสานต่อโครงการพระราชดำริและพระราชกรณียกิจในการช่วยเหลือเกษตรกร และการแก้ไขปัญหาความยากจน
ขณะที่สมเด็จพระเทพฯ ในฐานะทูตพิเศษด้านการขจัดความหิวโหยทรงดำเนินโครงการเพื่อช่วยลดความหิวโหยมาตั้งแต่ปี 2523 เช่น โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน กองทุนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร โดยมีพระราชดำริให้ดำเนินโครงการความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาค เช่น ลาว พม่า กัมพูชา ภูฏาน และบังกลาเทศ เป็นต้น สำหรับนโยบายของรัฐบาลไทยขณะนี้ได้ริเริ่มโครงการไทยนิยมยั่งยืน โดยจัดสรรเงินงบประมาณกว่า 100,000 ล้านบาท ในการดำเนินโครงการมีแผนงานและงบประมาณด้านการปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตรกว่า 24,000 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกรลดรายจ่าย
อย่างไรก็ดี ไทยได้กล่าวยืนยันที่จะดำเนินงานเพื่อขจัดความหิวโหยทั้งในระดับประเทศและร่วมกับ ประชาคมโลก ในการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้คำมั่นไว้ในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ปี 2558 ก่อนนำไปสู่ความเป็นจริงก่อนปี 2573