องค์กรแห่งความสุข ในมุม ‘ธัชกรณ์ วชิรมน’

องค์กรแห่งความสุข ในมุม ‘ธัชกรณ์ วชิรมน’

องค์กรหน้าตาจะเป็นอย่างไร ถ้าในอนาคตบริษัทมีคน 700 คน ต้องทำอย่างไรให้การสื่อสารยังคงชัดเจน ทุกคนยังผูกพัน

ที่ผ่านมาอาจคุยแต่เรื่องของเอไอ ดาต้า ในวันนี้จึงขอเปลี่ยนมาคุยเกี่ยวกับจิตวิญญานความเป็นผู้ประกอบการ และมุมบริหารจัดการของ “ธัชกรณ์
วชิรมน” ซีอีโอ บริษัท เซอร์ทิส จำกัด


เขาเล่าว่า ตลอดระยะ 4 ปีที่เปิดบริษัท เซอร์ทิสขึ้นมา ก็ยังคงสนุกมีความสุขดี ยอมรับว่าโดยส่วนตัวเป็นคนที่เลือกงาน เลือกที่ทำงาน ดังนั้น
เมื่อตัดสินใจจะตั้งบริษัทขึ้นมาก็เลยสัญญากับตัวเองว่า จะต้องทำบริษัทที่ตัวเองอยากจะเข้ามาทำงานทุกวัน ต้องอยากสร้างเป็นองค์กรที่ตัวเองมีความสุข เพราะได้ทำงานกับคนเก่งๆ คนนิสัยดีๆ


ซึ่งทุกวันนี้เขาคอนเฟิร์มอีกครั้งว่ายังคงแฮบปี้กับการมาทำงานทุกๆวัน อย่างไรก็ดี แต่หากมีคนมาถามเขาว่าจะบริษัทเองดีหรือไม่?
ต้องบอกว่าอย่างแรกที่เขาคิดจะตอบ ก็คือ คุณกำลังเลือกเส้นทางที่ยากที่สุด


"คุณอาจจะคิดว่าชีวิตนี้เคยผ่านการเรียนแบบยากโคตรๆมา เคยทำงานที่ยากแบบสุดๆมาก่อน แต่ไม่มีอะไรยากเท่ากับการทำบริษัทตัวเอง
ใครที่เคยทำธุรกิจตัวเองจะเข้าใจจุดนี้ แต่พอได้ฟังคำเตือนนี้แล้วก็ท้อ บอกเลยว่าแค่นี้ไม่ควรท้อ เพราะถ้าทำจริงๆยังต้องเจออีกเยอะ ไม่ว่า
เรื่องคน เรื่องการเงิน เรื่องคู่แข่ง เรื่องลูกค้า มันมีหลายเรื่อง บางทีก็เป็นปัญหาที่เราคาดไม่ถึง เมื่อมันเกิดขึ้นก็ไม่มีใครมาช่วย ยกเว้นเรา
และทีมงานที่เราสร้างขึ้นมา แต่หนักสุดก็คือตัวเราซึ่งเป็นผู้บริหาร"


เชื่อไหมว่าออฟฟิศในวันแรกของเซอร์ทิสก็คือ “ห้องเก็บรองเท้า” ซึ่งเล็กและคับแคบมาก อย่างไรก็ดีการทำธุรกิจนับวันมันก็ยิ่งยากขึ้น
เรื่อยๆ แต่สำหรับตัวเขาเองก็ไม่เคยถอดใจ แม้อาจรู้สึกว่ามีบางวันที่ยากกว่าบางวัน ขึ้นอยู่กับปัญหาที่เจอ ทั้งปัญหาภายในและภายนอก


"ธุรกิจที่โตเร็วมากถือเป็นจุดเปลี่ยนของเรา เซอร์ทิสโตแบบดับเบิ้ลทุกปี จากคนไม่กี่คนเวลานี้ทีมงานทั้งหมดก็มีอยู่ถึง 70 คน เพราะที่ผ่านมาจากคน 10 คน เพิ่มเป็น 50 คน ก็ถือว่าโลกเปลี่ยนไปมากแล้ว แม้ 70 คนอาจดูเหมือนไม่เยอะ แต่ต้องอย่าลืมว่า 70 คนของเราเป็นคนระดับครีม เป็น PhD จากทั่วโลก ซึ่งเราต้องทำให้คนระดับนี้เวิร์คด้วยกันได้ อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข และทำงานร่วมกันได้โดยไม่เกิดปัญหา"


ทำให้ตัวเขาและองค์กรต้องเปลี่ยน ต้องปรับกันหลายต่อหลายเรื่องเลย แต่ที่ค่อนข้างมีความสำคัญก็คือ เรื่องของ “การสื่อสาร”


"เมื่อก่อนตอนมีแค่ไม่กี่คน เราคุยกันแค่แป๊บเดียวทุกคนก็รู้เรื่องเดียวกันแล้ว การสื่อสารมีความสำคัญเมื่อองค์กรใหญ่ขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดความ
เข้าใจผิดว่าบริษัทกำลังทำอะไรอยู่ หรือมีนโยบายใหม่ที่ต้องทำให้คนเข้าใจตรงกัน ปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในองค์กร ผมเชื่อว่าเป็นเรื่องการ
สื่อสาร เรื่องของการเข้าใจผิด"


นอกจากนี้เขายังให้ทีมงานเซอร์ทิสช่วยกันคิดวัฒนธรรมองค์กร เพื่อให้ทุกคนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และยึดเป็นแนวทาง เป็นกรอบในการปฏิบัติ
ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 7 ข้อ เมื่อเอาอักษรตัวหน้ามารวมกันก็เป็นคำว่า “HOMERUN” โดยมีรายละเอียดดังนี้
H -Helpful ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
O-Open เปิดใจคุยกัน และเปิดรับสิ่งใหม่ๆ
M-Modest อย่าไปหลงตัวเอง อย่าสำคัญตัวว่าเก่งที่สุด
E-Ethical ต้องคำนึงเสมอว่าจะต้องเป็นคนดี
R-Resourceful แม้บริษัทเล็กทุนไม่หนา แต่ต้องคิดหาวิธีที่แปลก และว้าว หากมีปัญหาก็ให้คิดนอกกรอบหาวิธีการแก้ไข
U-Understanding ปัญหาส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นจากการเข้าใจผิด เพราะฉะนั้นต้องพยายามเข้าใจซึ่งกันและกัน
N-New Learning เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับบริษัทเทคโนโลยีก็คือ หากหยุดเดิน หรือหยุดเรียนรู้เมื่อไหร่ก็จะหมายถึงความล้า
หลังทันที


"การจะทำให้วัฒนธรรมองค์กรขับเคลื่อนได้จริงๆ มีอยู่สองภาพ คือเราซึ่งเป็นซีอีโอต้องปฏิบัติให้คนอื่นเห็นเป็นแบบอย่าง เราต้องมีเหตุผลที่ชัดเจน การบริหารคนเก่งๆ จำเป็นต้องพูดกันด้วยเหตุผล หลายองค์กรมีกฏเต็มไปหมดแต่คนไม่เข้าใจเหตุผลทำไมต้องมี ก็เลยทำมั่งไม่ทำมั่งแต่ถ้าเขาเห็นว่ามีเหตุผล เขาก็แฮบปี้ที่จะทำตาม"


อีกด้านหนึ่งก็คือ กฏกติกาทุกข้อก็เพื่อส่วนรวม การตั้งกฏบางอย่างขึ้นมาเพราะอยากให้คนของบริษัทเก่งขึ้น อยากให้องค์กรเก่งขึ้น
“เมื่อคนเห็นว่ามันไม่ใช่เป็นเหตุผลเพื่อส่วนตัวแต่เพื่อส่วนรวมเขาก็จะแฮบปี้ที่จะทำ และเราเองก็ไม่อยากเขียนหรือกำหนดอะไรที่มันเป็นไป
ไม่ได้”


แต่เรื่องการบริหารคนก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่และกวนใจมากมายนัก ธัชกรณ์บอกว่าเพราะเซอร์ทิสจะคัดคนอย่างพิถีพิถัน และมุ่งเน้นเป็นพิเศษว่า
ต้องมีคุณสมบัติทั้งเก่ง ทั้งดี


"สำหรับเราการหาคนเก่งด้านเทคนิคอลไม่เป็นอะไรที่น่าห่วงเลย ข้อดีของเซอร์ทิสข้อหนึ่งคือเรามีคนเก่งจากทั่วโลกไม่ได้มีแค่คนไทย ถามว่า
คนเก่งๆ เขาอยากอยู่ทีไหน เขาก็อยากอยู่ที่ๆมีคนเก่งกว่าเขา ผมเชื่ออย่างนั้นว่าคนที่เก่งก็อยากจะเก่งขึ้น ถ้าเราเข้าไปในองค์กรที่เราเก่งที่สุด เราจะพัฒนาตัวเองอย่างไร ข้อดีในการเข้ามาทำงานที่เซอร์ทิสก็คือไม่ว่าคุณจะคิดว่าตัวเองเก่งแค่ไหนไม่ต้องห่วง เพราะต้องมีใครสักคนที่เขาจะเก่งกว่าคุณและก็สามารถเรียนรู้จากเขาได้"


ปฏิเสธไม่ได้ว่าตัวของธัชกรณ์เองซึ่งเรียนจบและมีประสบการณ์มาทางสายเทคนิคอล ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ดึงดูดคนให้อยากเข้ามาทำงาน


“ผมว่าธุรกิจเราก็เหมือนกับโรงพยาบาลที่ส่วนใหญ่คนที่เริ่มต้นก็คือหมอ และหมอด้วยกันเองจะรู้ใครเก่ง อยากทำงานด้วย ทั้งยังพูดภาษา
เดียวกัน”


อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ เซอร์ทิสไม่ได้พิจารณารับคนเพราะสถาบันว่าต้องเป็นระดับท้อบหรือต้องเกรดสวย แต่จะพยายามวัดหลายวิธีเพื่อหา
คนที่ใช่


"ก็มีทั้งสัมภาษณ์ ให้ทดลองงาน ให้ทำเทสต์ เราพยายามหาวิธีที่คิดว่าสามารถวัดคนได้โดยไม่ใช่วัดแบบวิธีเดิมๆ คือจบจากที่ไหน เคยทำงาน
ที่ไหน ทำงานอะไร แต่มาดูฝีมือจริงๆ ขณะที่อีกด้านเราก็ดูนิสัย คือต้องเมคชัวร์ว่าต้องเป็นคนที่เข้ากับเราได้"


ที่อาจแปลกกว่าใครก็คือ ที่เซอร์ทิสจะให้พนักงานที่เพิ่งรับเข้าไปทำงานมาร่วมเป็นหนึ่งในกรรมการที่จะทำหน้าที่สัมภาษณ์ด้วย และความคิด
เห็นก็มีน้ำหนักเทียบเท่ากับกรรมการคนอื่นๆรวมถึงซีอีโอ


"การให้เขามานั่งสัมภาษณ์ จะทำให้เขาเข้าใจบริษัทของเรามากขึ้น จะได้รู้ว่าเรามองคนและคัดคนประเภทไหน ต้องผ่านอะไรมาบ้าง ซึ่งเรา
ตัดสินใจด้วยวิธีเชิงวิทยาศาสตร์ไม่ได้ใช้ความรู้สึก มีเหตุผล มีหลักการเวลาเราเลือกใครเข้ามาจอยครอบครัวของเรา ทุกคนควรมีสิทธิในการ
ตัดสินใจ ความคิดต้องมีค่าเท่ากัน"


ต้องบอกว่าเซอร์ทิส เวลานี้นอกจากไทยยังไปเปิดสาขาอีกแห่งที่ประเทศสิงคโปร์ และมีแผนว่าจะไปเปิดสาขาอีกแห่งที่ซิลิคอน วัลเลย์ สหรัฐ
อเมริกาเร็วๆนี้


"เรากำลังวางแผนจัดองค์กร ปัจจุบันที่มีคน 70 คน ถ้าในอนาคตกลายเป็น 700 คน แล้วองค์กรหน้าตาจะเป็นอย่างไร จะต้องทำอย่างไรให้การสื่อสาร ยังคงชัดเจนอยู่ ทุกคนยังรู้สึกผูกพันกับบริษัท พอเป็นเรื่องซอฟท์สกิลผมมองว่าเป็นจุดยาก เพราะช่วงแรกเราเน้นเรื่องเทคโนโลยี เน้นเรื่องความสามารถของคนเป็นหลัก แต่ในเชิงผู้บริหารตัวเราเองก็ต้องเปลี่ยน ต้องพัฒนาตัวเองเพือให้ตอบสนองกับบริษัทที่เปลี่ยนไป ส่วนตัวผมเป็นคนชอบเทคโนโลยีมาก แต่พอเวลาผ่านไปถ้าคนมีเยอะขึ้น งานของผมที่เกี่ยวกับเรื่องของเทคโนโลยีก็จะน้อยลง"


แต่เพื่อการเติบโตของบริษัท เขาบอกว่าบางอย่างก็ต้องลด ละ เลิก และท่องคำว่า “เสียสละ”