แผนรบ 'ทีมกรุ๊ป' โครงการขนาดใหญ่ ดันงานทะลัก...!
โครงการขนาดใหญ่รัฐ โอกาสทอง 'บมจ. ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์' หุ้นน้องใหม่ไอพีโอ เตรียมระดมทุนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) 12 ก.ค.นี้ 'ชวลิต จันทรรัตน์' ซีอีโอ ฉายภาพธุรกิจ 3-5 ปี พร้อมโลดแล่น 'ขึ้นแท่นผู้นำที่ปรึกษาวิศวกรรม'
เหลือเวลาอีกไม่กี่เดือน...!! ก่อนที่รัฐบาลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะหมดวาระตามโรดแมทที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งในปี 2562 ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญ นั่นคือ 'การกระตุ้นเศรษฐกิจ' สะท้อนผ่านการเร่งผลักดันการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ 'มูลค่ากว่า 2.02 ล้านล้านบาท' อาทิ โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง (ทางบก-น้ำ-อากาศ) โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นต้น
สอดคล้องกับแนวโน้มของอุตสาหกรรมก่อสร้างของภาครัฐในปี 2561-2562 คาดว่าจะเติบโต 'ระดับ 13-16%' ต่อปี ตามความคืบหน้าของโครงการขนาดใหญ่ ขณะที่งานภาคเอกชนจะเริ่มทยอยฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ โดยคาดว่าจะเติบโต 'ราว 2-4%' ต่อปี
สัญญาณดังกล่าวกำลังส่งผลดีต่อหุ้นน้องใหม่ไอพีโอที่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในวันที่ 12 ก.ค.นี้ จำนวน 180 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท ในราคาหุ้นละ 2.42 บาท ได้เม็ดเงินระดมทุนรวม 435.6 ล้านบาท
'ชวลิต จันทรรัตน์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ หรือ TEAMG ผู้ประกอบการให้บริการในการเป็นที่ปรึกษาด้านวิศวกรรม และสิ่งแวดล้อมแบบบูรณาการ (Integrated Consulting Services) และจัดทำรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยสามารถให้บริการแบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียว (One-stop Service) บอกถึง 'จุดเด่น' ให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า
'ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์' เป็นหนึ่งในผู้นำของบริษัทที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมของเมืองไทย ด้วยประสบการณ์ 'นานกว่า 40 ปี' และเป็นบริษัทที่ให้บริการที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมและสิ่งแวดล้อมแบบครบวงจร สามารถตอบสนองทุกความต้องการในทุกภาคธุรกิจ ด้วยเทคโนโลยีทันสมัย รวมทั้งมีการพัฒนาบุคลากรทางวิชาชีพวิศวกรรมที่มีประสิทธิภาพ และมีพนักงานประจำกว่า 1,500 คน การนำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหุ้น
'เราไม่ได้ต้องการเงินระดมทุนเป็นประเด็นสำคัญ' ซีอีโอ TEAMG บอกวัตถุประสงค์การนำบริษัทเข้าตลาดหุ้นจะไม่ได้ประโยชน์เพียงแค่มีช่องทางการหาเงินทุนมากขึ้น แต่สิ่งสำคัญกว่าจะได้เรื่องหน้าตา และความน่าเชื่อถือเต็มๆ และสิ่งสำคัญมาตรฐานของบริษัทจะถูกยกระดับขึ้นทันที และยังสามารถดึงดูดความสนใจของลูกค้าและพันธมิตรโดยเฉพาะต่างชาติเพิ่มอีกด้วย
สอดคล้องกับเป้าหมายของบริษัท 3-5 ปี (2561-2565) ที่ต้องการก้าวไปสู่ความเป็น 'ผู้นำในการให้บริการที่ปรึกษาทางวิศวกรรมในประชาคมอาเซียน' สะท้อนผ่านปัจจุบันบริษัทเข้าไปลงทุนใน 7 ใน 10 ประเทศในอาเซียนแล้ว โดยเหลือเพียงประเทศ สิงคโปร์ ,บูรไน และอินโดนีเซีย คาดว่าตามเป้าหมายจะเข้าไปลงทุนทุกประเทศทั้งหมดภายใน 3-5 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นเรื่องที่เราอยากทำมากที่สุด เขา ย้ำให้ฟังเช่นนั้น...!!
'มาตรฐานของบริษัทที่ถูกยกระดับขึ้นภายหลังการระดมทุนจะเป็นโอกาสในการขยายธุรกิจที่ปรึกษาแบบบูรณาการของทีมกรุ๊ปไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน และในประเทศอื่นๆ ต่อไป'
ฉะนั้น จึงเป็นโอกาสเติบโตในอนาคตอีกมาก...! ทั้งในและต่างประเทศ โดย 3 ปีย้อนหลัง ผลประกอบการเติบโตเฉลี่ยไม่ถึงระกับ 10% ทว่า อนาคตด้วยปัจจัยบวกต่างๆ เข้ามาถือเป็น 'โอกาสทอง' ของบริษัทที่รายได้จะเติบโตเป็น 'ตัวเลขสองหลัก' ได้
สำหรับ ลักษณะการประกอบธุรกิจแยกตามสาขาความเชี่ยวชาญ 'ซีอีโอ' แบ่งออกเป็น 5 ธุรกิจ ประกอบด้วย 1.การคมนาคมและโลจิสติกส์ (Transportation and Logistics) คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 42.69% ซึ่งให้บริการที่ปรึกษาทุกขั้นตอน สำหรับโครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน ทั้งระบบราง ถนน เพื่อการขนส่งคนและสินค้าทั้งในเมือง-ชนบท การขนส่งทางเรือและอากาศ รวมทั้งงานวิศวกรรมจราจร การบริหารจัดการจราจร รวมทั้งการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์อย่างครบวงจร
โดยปัจจุบันมีโครงการที่บริษัทได้งาน คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (ช่วงแคราย-มีนบุรี) โครงการรถไฟความเร็วสูง (กรุงเทพฯ-นครราชสีมา) โครงการรถไฟความเร็วสูง (กรุงเทพฯ-ระยอง) โครงการทางหลวงพิเศษ (มอเตอร์เวย์) (ช่วงบางประอิน-นครราชสีมา) เป็นต้น
2.ทรัพยากรน้ำ (Water Resources) คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 27.29% ซึ่งให้บริการที่ปรึกษาในการบริหารจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำในระดับลุ่มน้ำไปจนถึงระดับชุมชน การพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำทั้งในประเทศและต่างประเทศ การชลประทานและการจัดหาแหล่งน้ำ การคาดการณ์สถานการณ์น้ำ การ ระบายน้ำและป้องกันอุทกภัย การแก้ปัญหาภัยแล้ง ตลอดจนถึงงานวิศวกรรม ชายฝั่ง
3.อาคารและสาธารณูปโภค (Building and Infrastructure) คิดเป็น 20.80% ซึ่งให้บริการที่ปรึกษาในการศึกษา วางแผน ออกแบบ เขียนแบบ ไปจนถึงงานบริหารโครงการและควบคุมงานก่อสร้างอาคารและระบบสาธารณูปโภค การ วางผังเมืองและผังภูมิภาค การวางแผนพัฒนาที่ดิน อาคารและนิคม อุตสาหกรรม รวมถึงงานอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และงานวิศวกรรม ธรณีเทคนิค
4.สิ่งแวดล้อม (Environment) คิดเป็น 4.15% ซึ่งให้บริการที่ปรึกษาสำหรับการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม การวางแผนงานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมแผนปฏิบัติการอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน และแผนพัฒนาสังคม ตลอดจนบูรณาการความเชี่ยวชาญวิศวกรรม สิ่งแวดล้อมเพื่อ สนับสนุนการพัฒนาระบบบำบัดและกำจัดมลพิษทางน้ำ การควบคุมมลพิษทางอากาศ มลพิษในดิน ระบบผลิตและจ่ายน้ำประปา ระบบจัดการขยะมูลฝอย
5.พลังงาน (Energy) คิดเป็น 5% ซึ่งให้บริการที่ปรึกษาในการพัฒนาระบบไฟฟ้า การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้สนับสนุนการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานธรรมชาติและแหล่ง พลังงานทดแทน ตลอดจนการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านพลังงานอื่นๆ การอนุรักษ์พลังงานและการบริหารจัดการพลังงาน รวมทั้งการศึกษาวิเคราะห์ ข้อมูลทางด้านเทคนิคเพื่อลดต้นทุนด้านพลังงาน
ขณะที่ มีอีกกลุ่มธุรกิจที่บริษัทกำลังโฟกัสมากขึ้น นั่นคือ 'ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง' ซึ่งสัดส่วนรายได้ไตรมาส 1 ปี 2561 อยู่ที่ 11.15% เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2560 ที่มีสัดส่วนรายได้ 5.15% เนื่องจากบริษัทมีการพัฒนากระบวนการทำงานโดยการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และลดระยะเวลาในการทำงาน ทำให้สามารถเพิ่มคุณภาพของผลงานที่ส่งมอบให้แก่ลูกค้า อาทิ การถ่ายภาพทางอากาศและทำแผนที่ (Drone-based survey) ซึ่งมีการใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) เพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการถ่ายภาพทางอากาศและจัดทำแผนที่ให้แก่ลูกค้า
อีกทั้งยังมีการใช้เทคโนโลยีการสร้างแบบจำลองอาคาร พร้อมข้อมูลหรือสารสนเทศ (Building Information Model) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการจำลองการก่อสร้างอาคารเสมือนจริงทั้งในด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมด้วยมุมมองในรูปแบบ 3 มิติ ทำให้ลูกค้าสามารถนำผลงานการบริการที่มีรายละเอียดและส่วนประกอบของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่ชัดเจน
'ถือว่าเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้เสริมเข้ามาอีกทางจากธุรกิจหลัก รวมทั้งเตรียมความพร้อมเพื่อขยายไปต่างประเทศด้วย เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัย'
ปัจจุบันบริษัทมีกลุ่มลูกค้าแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ ลูกค้าส่วนงานภาครัฐ , ลูกค้าส่วนงานภาคเอกชน , ลูกค้าส่วนงานต่างประเทศ และลูกค้าส่วนงานธุรกิจเกี่ยวเนื่อง โดยในส่วนงานลูกค้าต่างประเทศนั้น บริษัทมีการให้บริการที่ปรึกษาให้แก่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะใน สปป.ลาว และเมียนม่า เป็นต้น
'เราไม่อยากนำไข่ไว้ในตะกร้าเมืองไทยใบเดียว ฉะนั้นเราต้องการกระจายไข่ออกไปในตะกร้าหลายๆ ใบ'
'ชวลิต' บอกต่อว่า สำหรับทิศทางรายได้ของบริษัทในปี 2562 จะเติบโตมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติที่เติบโตเป็นตัวเลขหลักเดียว เนื่องจากจะมีปริมาณงานออกมาค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะงานโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ อาทิ รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง และรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ รวมไปถึงโครงการภายใต้เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่จะช่วยให้บริษัทมีโอกาสสร้างรายได้เข้ามามากขึ้น จะทำให้งานที่ปรึกษามีการเติบโตต่อเนื่อง
นอกจากนี้ การเข้าจดทะเบียนจะทำให้บริษัทขยายฐานลูกค้าไปยังต่างประเทศได้มากขึ้นด้วยโดยปัจจุบันบริษัทมีงานในมือรอรับรู้รายได้ (Backlog) มูลค่า 3,473.94 ล้านบาท แบ่งเป็นงานมูลค่าราว 2,371.14 ล้านบาท เป็นงานของภาครัฐที่จะทยอยรับรู้รายได้ไปจนถึงปี 2563 ส่วนที่เหลือจะเป็นงานของภาคเอกชนในประเทศ ต่างประเทศ และ กลุ่มธุรกิจเกี่ยวเนื่อง 1,102.80 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้อย่างต่อเนื่องสำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุนจะใช้ลงทุนในระบบคอมพิวเตอร์ ซอฟท์แวร์ และเทคโนโลยี ลงทุนในอากาศยานไร้คนขับ(โดรน) เพิ่มศักยภาพในการให้บริการ ลงทุนสร้างบุคลากรเพื่อรองรับแผนการขยายฐานลูกค้าในต่างประเทศ รวมถึงเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจท้ายสุด
'ชวลิต' ทิ้งท้ายว่า แม้ดัชนีตลาดหุ้นไทยผันผวน มองว่าเป็นไปตามภาวะทั่วไปของตลาด แต่อย่างไรก็ตามเราเชื่อว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน เพราะบริษัทมีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มนี้ และด้วยความชำนาญของบริษัทที่มีมายาวนานกว่า 40 ปีด้วย