หนุนชุมชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน เพิ่มคุณค่าผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น
ชูโครงการต้นแบบ "หนึ่งหมู่บ้านหนึ่งผลิตภัณฑ์" ประเทศญี่ปุ่น หนุนชุมชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน เพิ่มคุณค่าผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน ในงาน "SD Symposium 2018"
เศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ Circular Economy ซึ่งเป็นแนวคิดการใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็นให้มีประสิทธิภาพสูงสุดตั้งแต่การผลิต การบริโภค จนถึงการนำกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบนั้น ไม่ใช่เพียงเรื่องที่ภาคธุรกิจขนาดใหญ่สามารถมีบทบาทขับเคลื่อนเท่านั้น แต่ในระดับชุมชนก็สามารถใช้ทรัพยากรในการสร้างรายได้อย่างรู้คุณค่า โดยนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาถ่ายทอดเป็นสินค้าหรือบริการที่สอดแทรกนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ และยึดการพึ่งพาตนเองเป็นสำคัญ
เช่นเดียวกับ "โครงการหนึ่งหมู่บ้านหนึ่งผลิตภัณฑ์" หรือ OVOP (One Village One Product)ประเทศญี่ปุ่น ที่ประสบความสำเร็จและโด่งดังไปทั่วโลกจากผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและการท่องเที่ยว รวมทั้งอีกหลายชุมชนในประเทศไทย เช่น ไม้หมอนฟาร์ม จ.เชียงราย สวนยายดา เจ๊บุญชื่น จ.ระยอง และโครงการ Paper Band ถักทอสายใยสานใจชุมชน จ.กาญจนบุรี ที่ได้มาถ่ายทอดประสบการณ์ในงาน"SD Symposium 2018" ซึ่งเอสซีจีจัดขึ้น ภายใต้แนวคิด "Circular Economy: The future we create"เมื่อเร็วๆ นี้
พลิกฟื้นชนบทด้วยภูมิปัญญา ยึดหลักพอเพียงนำพารายได้ให้ชุมชน
คุณทาดาชิ อูชิดะ ประธานโครงการ OVOP (Mr. Tadashi Uchida, President of International OVOP Exchange Committee) เล่าถึงภูมิหลังของ OVOP ซึ่งเริ่มต้นในเมืองโออิตะ บนเกาะคิวชู ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น ว่าที่นั่นเป็นเมืองเล็กๆ ในชนบทที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรม ทำให้ภาคเกษตรกรรมซึ่งเป็นพื้นฐานของชุมชนถูกลืม คนหนุ่มสาวย้ายเข้าสู่เมืองใหญ่ ทิ้งผู้สูงอายุไว้เช่นเดียวกับภูมิปัญญาต่างๆ ที่ไม่ได้รับการสานต่อ ชนบทจึงขาดพละกำลัง เกิดความยากจน กระทั่งเกิดจุดเปลี่ยนในปี 2512 ด้วยการสร้างรายได้ให้ชุมชน
"การทำให้ชุมชนมีรายได้จะต้องสร้างสถานที่ขึ้นมาให้ชุมชนหารายได้ได้เอง จึงเกิดการรณรงค์ตั้งแต่ปี 2512 เพื่อทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยมี OVOP เป็นศูนย์กลางที่กระตุ้นให้คนในชุมชนของโออิตะสร้างงานจนมีรายได้เข้ามา แต่ไม่จำเป็นต้องเร่งให้มีรายได้สูงมาก เพราะนั่นไม่ใช่เป้าหมายของเรา"
คุณอูชิดะ ขยายความถึงเป้าหมายของ OVOP ว่าต้องการยึดหลัก "เศรษฐกิจพอเพียง" มากกว่าตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับประเทศไทยซึ่งนับว่าโชคดีที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หรือรัชกาลที่ 9 ได้ทรงให้แนวทางไว้ ซึ่งการจะทำให้ชุมชนมีรายได้ที่ยั่งยืนได้ ต้องอาศัยความพอใจและความพอเพียง OVOP จึงเน้นให้ชุมชนทำสิ่งที่มีความสุข โดยใช้สิ่งที่มีในท้องถิ่นซึ่งใช้งบประมาณไม่มากในการทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ บนหลักการพึ่งพาตัวเองที่ใครก็ทำได้ ไม่ว่าที่ไหนหรือเมื่อไหร่
"เรามีเทคโนโลยีที่เป็นภูมิปัญญาในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่นำมาใช้เหมือนกับทั่วโลก ได้แก่1.การหมัก เช่น เหล้าสาเก 2.การตากแห้ง เช่น เห็ดอบแห้ง 3.การดอง เช่น ผักดองน้ำส้มสายชู 4.การรมควัน เช่น ไส้กรอก แฮม 5.การนึ่ง 6.การทอด 7.การคั้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นกรรมวิธีที่แทบจะไม่ต้องใช้เงินก็สามารถทำได้ หรืออาจจะเป็นกิจกรรมที่ต่อยอดจากภาคเกษตรกรรม เช่น Green Tourism หรือAgritourism ที่เป็นการท่องเที่ยวเชิงเกษตรนั่นเอง"
ชุมชนเริ่มด้วยความสุข องค์กรท้องถิ่นหนุนด้วยโอกาส ต่อยอดสินค้าสู่การท่องเที่ยว
คุณอูชิดะ ยกตัวอย่างจุดเริ่มต้นของ OVOP ที่เกิดจากคนในหมู่บ้านริเริ่มทำสินค้าเอง เช่น เกษตรกรแม่บ้าน Megumi-Kai ที่รวมกลุ่มกันเพื่อปลูกมะเขือเทศสดและนำมาทำซอสมะเขือเทศ ซึ่งหากพวกเขาคิดว่าจะต้องสู้กับตลาดใหญ่ๆ คงจะไม่สามารถทำจนประสบความสำเร็จได้ แต่ทุกคนกลับลองทำจริงจนซอสมะเขือเทศที่ทำด้วยมือและไม่มีส่วนผสมอื่นๆ สามารถขายได้ถึง 50,000 ขวดต่อปี สร้างมูลค่าเป็นเงินได้ถึง 20 ล้านเยน โดยที่ทุกคนต่างมีความสุขกับการทำงานร่วมกับเพื่อนในชุมชน และยังคงทำมาจนถึงทุกวันนี้
"สิ่งที่ OVOP ทำไม่ใช่นโยบายจากภาครัฐแต่เป็นการเคลื่อนไหวของชุมชน โดยมีผู้ว่าเมืองโออิตะช่วยต่อยอด โดยผลิตภัณฑ์ต้องมีเงื่อนไข 3 อย่าง คือ 1.คุณภาพต้องคงที่ 2.สามารถผลิตได้สม่ำเสมอ เพราะ OVOP มีคุณลักษณะอยู่ระหว่างอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐาน (Primary Industry) และอุตสาหกรรมขั้นทุติยะ (Secondary Industry) ที่นำผลผลิตจากอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐานมาแปรรูป 3.ผ่านการรับรองมาตรฐาน และทดลองขายในตลาดก่อนอย่างน้อย 2-3 ปี โดยชุมชนต้องอดทนรอ และศึกษาการทำบัญชีและเงินสดหมุนเวียนด้วย กระทั่งเมื่อมีการถามหาสินค้าเกิดขึ้น ตลาดก็จะตามมาแบบปากต่อปาก ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ควรสนับสนุนโอกาส เช่น การจัดงานออกร้านประจำปี การจัดตั้งเป็นนิติบุคคลเพื่อการผลิต หรือการมีร้านค้าปลีกซึ่งไม่ต้องใช้งบประมาณมาก"
จากนั้นสิ่งที่จะตามมา คือ การท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบัน OVOP มีอยู่ 3 รูปแบบ ได้แก่ การเยี่ยมชมประวัติศาสตร์ การศึกษาดูงาน และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม โดยชุมชนโออิตะพบว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะท่องเที่ยวในสองรูปแบบแรกมากกว่า จึงควรเน้นการสร้างความรู้และแรงบันดาลใจให้ผู้คนอยากมาท่องเที่ยว เช่นเดียวกับประเทศไทย เพื่อให้คนอื่นๆ ได้มาสัมผัสวิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่น และทำให้รายได้เกิดการกระจายไปถึงชุมชน
คุณอูชิดะกล่าวทิ้งท้ายว่า หลังจากมีโอกาสได้เยี่ยมชมการทำผลิตภัณฑ์และพูดคุยกับชุมชนในภาคเหนือ แล้ว เห็นว่าการพัฒนาสินค้าชุมชนของไทยมีทิศทางที่ดีเพราะมีหลายภาคส่วนสนับสนุน และยังหวังว่าประเทศไทยจะมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและยั่งยืน เพื่อจุดประกายให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางในการนำพลังชุมชนมาร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์แบบต่อไป
เน้นใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นอย่างรู้คุณค่า ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ ในงาน "SD Symposium 2018" ยังมีชุมชนตัวอย่างในประเทศไทยที่ได้นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนไปใช้ในการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าจะเป็น
ไม้หมอนฟาร์ม จ.เชียงราย โดยคุณอารีพร สุยะ และคุณสุนันท์ สุยะ ที่ได้บอกเล่าว่า จากการที่เชียงรายเป็นเมืองสมุนไพร ชุมชนจึงคิดทำเรื่องสมุนไพรร่วมกันอย่างพอเพียง โดยนำทุกอย่างมาใช้อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด และจากการที่ไม้หมอนฟาร์มมีเครื่องกลั่นสมุนไพรหอมระเหย จึงสนับสนุนให้ชุมชนนำสมุนไพรมาทำน้ำมันหอมระเหย เมื่อมีเศษสมุนไพรเหลือจากการต้มก็นำมาผสมกันจนเป็นก้อนหอมปรับอากาศสำหรับรถและห้องนอน นอกจากนี้ ยังอยู่ในระหว่างทดลองทำดินเพาะกล้าไม้ จากต้นกระถินริมรั้วซึ่งเดิมต้องตัดทิ้ง แทนการนำเข้าจากต่างประเทศ
ด้าน คุณบุญชื่น โพธิ์แก้ว จากสวนยายดา เจ๊บุญชื่น จ.ระยอง ร่วมแบ่งปันว่า สวนผลไม้ปลอดสารพิษแห่งนี้เปิดเป็นบุฟเฟ่ต์ผลไม้ ซึ่งเดิมได้นำเปลือกผลไม้ที่ทิ้งไว้เป็นตันๆ ไปทำปุ๋ยหมัก แต่เมื่อเห็นโครงการเลี้ยงไส้เดือนดินจึงคิดว่าน่าจะเพิ่มมูลค่าได้ ด้วยการนำเปลือกทุเรียนซึ่งย่อยสลายง่ายที่เหลือจากการทำปุ๋ยหมักมาเลี้ยงไส้เดือนดิน ทำให้ได้ทั้งปุ๋ยใส่สวนและเพิ่มรายได้จากการขาย จนเป็นต้นแบบการเกษตรอินทรีย์
ส่วน คุณสุพัตรา เงินสมบัติ จากโครงการ Paper Band ถักทอสายใยสานใจชุมชน จ.กาญจนบุรี เล่าว่า ชุมชนท่าตะคร้อรู้จัก Paper Band หรือเส้นเทปกระดาษ จากการไปดูงานที่โรงงานวังศาลาของเอสซีจี จึงคิดว่าน่าจะนำไปทำประโยชน์ได้ นอกจากนำไปรีไซเคิลเป็นเยื่อใหม่ จึงนำมาสานเป็นตะกร้าที่มีความสวยงาม นอกจากนี้ ยังพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน
เศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชนซึ่งเห็นผลสำเร็จเป็นรูปธรรมได้จากความร่วมมือและการเห็นความสำคัญของคนในชุมชน ที่กล้าคิด กล้าทำ จึงสามารถเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญของการทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนได้อย่างสมบูรณ์และยั่งยืน