กฟก.เฉพาะกิจ เตรียมเสนอครม. โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรฯ
กองทุนฟื้นฟูฯเฉพาะกิจ เตรียมเสนอครม. โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ลูกหนี้ ธ.ก.ส.
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ ครั้งที่ 6/2561 ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้เสนอโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ลูกหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ได้แก่ 1) เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการเป็นหนี้ผิดนัดชำระ (NPLs) ของเกษตรกรสมาชิกฯ ที่ขึ้นทะเบียนหนี้เกษตรกร เพื่อให้ได้รับสิทธิในการจัดการหนี้จากเดิม ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2552 เป็น ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2560 2) เห็นชอบให้มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อชดเชยให้ ธ.ก.ส. ที่ลดหนี้ให้เกษตรกรสมาชิก ที่คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ (กฟก.) ได้ชำระหนี้แทน จำนวน 239 ราย ในอัตราร้อยละ 50 ของต้นเงินมูลหนี้ 3) เห็นชอบให้มีการสนับสนุนงบประมาณเพื่อชดเชยให้ ธ.ก.ส. แทนเกษตรกรสมาชิกที่มีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดการหนี้ของเกษตรกร พ.ศ. 2560 จำนวน 36,366 ราย โดยการปรับโครงสร้างหนี้ของเกษตรกร ในอัตราร้อยละ 50 ของเงินต้นมูลหนี้ 4) เกษตรกรที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ที่ทำไว้กับ ธ.ก.ส. จนกลายเป็น NPLs โดยไม่มีเหตุอันควรผ่อนผันตามที่เจ้าหนี้กำหนดไว้ ให้ถือว่าเป็นการผิดนัดชำระและเจ้าหนี้สามารถเรียกเก็บเงินต้นและดอกเบี้ยได้ตามสัญญาเดิมที่มีก่อนการปรับโครงสร้างหนี้ 5) เห็นชอบการดำเนินงานกรณี NPLs ที่เกิดขึ้นตามโครงการนี้ ไม่คำนวนรวมเป็น NPLs เพื่อการประเมินผลตามบันทึกข้อตกลงการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจและเป็นโครงการที่ต้องแยกเป็นบัญชีธุรกรรมนโยบายรัฐ (Public Service Account : PSA) ให้แก่ ธ.ก.ส. และ 6) เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการปรับโครงสร้างหนี้ ต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพเกษตรกร ตามระเบียบที่กำหนด
“กระทรวงเกษตรฯ ได้ปรับฐานะจากผู้กำกับดูแลกองทุนฟื้นฟูฯ เป็นผู้ทำหน้าที่เจรจาทำความตกลงระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ให้ตกลงกัน ซึ่งปัจจุบันเจ้าหนี้รายแรกที่ตกลงรับเงื่อนไขได้ คือ ธ.ก.ส. และเจ้าหนี้ที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการเจรจา คือ ธนาคารพาณิชย์ทั่วไป ธนาคารออมสิน และธนาคารอาคารสงเคราะห์ มีลูกหนี้ประมาณ 2,000 กว่าราย นอกจากนี้ยังมีลูกหนี้ในส่วนของสหกรณ์การเกษตรประมาณ 1,000 กว่าราย อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ เฉพาะกิจ พยายามจะผลักดันให้ใช้หลักเกณฑ์รูปแบบเดียวกันกับ ธ.ก.ส. เนื่องจากเป็นหนี้ประเภทเดียวกัน โดยทั้งหมดอยู่ในระหว่างการหารือแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกร ทั้งการลดเงินต้น ลดดอกเบี้ย เพื่อให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว” นายกฤษฎา กล่าว
ทั้งนี้ เกษตรกรที่มีสิทธิยื่นคำขอขึ้นทะเบียนหนี้ต้องมีคุณสมบัติ คือ 1) เป็นเกษตรกรที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด 2) เป็นสมาชิกองค์กรเกษตรกร 3) มีหนี้ที่เกิดจากการทำเกษตรกรรม และ 4) เป็นหนี้ในระบบตามที่กฎหมายกำหนด หนี้โครงการส่งเสริมของรัฐ หนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมจากสถาบันการเงินประเภทธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) หรือนิติบุคล และหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมเงินจากสถาบันเกษตรกร โดยเปิดให้เกษตรกรมาขึ้นทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม – 13 ตุลาคม 2561 เป็นระยะเวลา 60 วัน ที่สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรทั่วประเทศ