'สนธิรัตน์' นำทีมลงพื้นที่เร่งพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมข้ามพรมแดน
"พาณิชย์" นำทีมลงพื้นที่เร่งพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วม ข้ามพรมแดนระหว่างไทยกับประเทศสมาชิกแม่โขง-ล้านช้าง เพื่อขยายการค้าในอนุภูมิภาค
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำคณะผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชนทั้งจากส่วนกลาง และในพื้นที่ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ลงพื้นที่สำรวจบริเวณด่านเชียงของเพื่อรับฟังความเห็นในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมข้ามพรมแดน (Cross Border Economic Zone) ระหว่างไทยกับประเทศสมาชิกกลุ่มความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (MLC)
นายสนธิรัตน์กล่าวว่า ผลจากการประชุมผู้นำกลุ่มประเทศแม่โขง-ล้านช้าง ประกอบด้วย ไทย จีน สปป. ลาว เมียนมาร์ กัมพูชา และเวียดนาม ตั้งเป้าหมายที่จะขยายการค้าจาก 220,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2560 ให้เป็น 250,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2563 กระทรวงพาณิชย์ในฐานะหน่วยงานหลักของไทยในคณะทำงานความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดนภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ได้รับมอบให้ร่วมกับประเทศสมาชิกแม่โขง - ล้านช้างดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการค้าดังกล่าว ซึ่งหนึ่งในพันธกิจที่เห็นควรดำเนินการ คือ พิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมระหว่างประเทศสมาชิกแม่โขง – ล้านช้าง ที่มีพรมแดนติดกันเพื่อให้สิทธิพิเศษทางการค้า การลงทุน ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ที่ก่อให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างกันและส่งเสริมให้มีการขยายการค้าระหว่างกันให้มากขึ้น โดยปัจจุบันประเทศสมาชิกแม่โขง-ล้านช้าง อาทิ สปป. ลาว เวียดนาม และจีน ได้มีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษระหว่างกันแล้ว ในขณะที่ไทยเป็นประเทศเดียวในอนุภูมิภาคที่ยังไม่มีเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมข้ามพรมแดนกับประเทศใด
นายสนธิรัตน์ กล่าวเสริมว่า จากการหารือเบื้องต้นกับคณะผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชนมีความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า ด่านเชียงของ จังหวัดเชียงราย เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพน่าจะสามารถพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมข้ามพรมแดนกับ สปป. ลาว จีน และเมียนมาร์ได้ เนื่องจากเชียงรายเป็น 1 ใน 10 จังหวัดที่รัฐบาลประกาศให้เป็นพื้นที่เป้าหมายของการพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่จะสามารถพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมและบริการหลายสาขา อาทิ อุตสาหกรรมการเกษตร ประมง อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมผลิตเครื่องเรือน อุตสาหกรรม อัญมณี ธุรกิจบริการขนส่งและโลจิสติกส์ ธุรกิจบริการด้านการท่องเที่ยว และที่สำคัญยังมีพรมแดนติดต่อกับเมียนมาร์และสปป. ลาว ตลอดจนมีเส้นทางคมนาคม R3A ที่จะเชื่อมไปถึงจีนตอนใต้ได้ เป็นต้น
นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า การรับฟังความเห็นในครั้งนี้ สถาบันเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ให้ความช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านของไทยในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และเร่งพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน ได้นำเสนอตัวอย่างของเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมข้ามพรมแดนระหว่าง สปป. ลาวและจีน ได้แก่ บ่อหาน-บ่อเต็น ซึ่งมีการพัฒนาให้เป็นศูนย์แปรรูปสินค้าเพื่อการส่งออก มีการก่อสร้างสถานีรถไฟและเส้นทางรถไฟผ่านบ้านบ่อเต็น เพื่อเชื่อมต่อเมืองคุนหมิงของจีนกับเวียงจันทน์ของลาวด้วย และ ผิงเสียง (จีน) – หลังเซิน (เวียดนาม) โดยเมืองผิงเสียงเป็นศูนย์กระจายสินค้าเกษตร “เมืองการค้าผลไม้” อันดับหนึ่งของจีนต่อเนื่องมาหลายปี มีแนวพรมแดนติดกับเวียดนาม มีเส้นทางที่ใช้เชื่อมต่อกับอาเซียนด้วย ซึ่งเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ ช่วยให้เกิดการขยายการค้าและการลงทุนในอนุภูมิภาค
สำหรับภาคการศึกษาได้เสนอให้ไทยอาจพิจารณาพัฒนาพื้นที่เชียงของให้เป็นคลังสินค้า E-commerce ที่ให้สิทธิพิเศษแก่ผู้ประกอบการ ช่วยลดต้นทุนในการส่งสินค้าไปขาย ซึ่งตลาดนี้จะเติบโตอีกมากในอนาคตอันใกล้ นอกจากนี้ ภาคเอกชนได้เสนอให้ไทยหารือกับฝ่ายลาวเพื่อปรับปรุงเส้นทาง R3A ให้มี ความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น และทำความเข้าใจกับฝ่ายลาวถึงประโยชน์ที่สองฝ่ายจะได้รับร่วมกัน อาทิ การสร้าง rest areas เพื่อเป็นที่พักซึ่งสามารถนำสินค้าอุปโภค บริโภค สินค้าพื้นเมือง/ท้องถิ่น มาขายได้ หรือการพัฒนาเส้นทางดังกล่าวให้เป็นเส้นทางท่องเที่ยวจากไทยไปยังจีนได้ นายสนธิรัตน์เสริมว่า กระทรวงพาณิชย์จะนำข้อมูลและความเห็นที่ได้จากการประชุมครั้งนี้หารือประเทศสมาชิกแม่โขง – ล้านช้าง เพื่อผลักดันให้การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมข้ามพรมแดนระหว่างสมาชิกเกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป
ทั้งนี้ ในปี 2560 การค้าระหว่าง 6 ประเทศสมาชิกแม่โขง-ล้านช้าง มีมูลค่ากว่า 220,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 16 และในช่วง 9 เดือน (มกราคม-กันยายน) ของปี 2561 มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 191,267 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวประมาณร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยประเทศสมาชิกแม่โขง-ล้านช้าง ได้ตั้งเป้าที่จะขยายการค้าระหว่างกันเป็น 250,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2563