สรรพสามิต ยันรัฐบาลห่วงสุขภาพ ไม่ไช่ถังแตก หวังรีดภาษีความเค็ม
สรรพสามิต แจงเก็บภาษีความเค็ม-มันยังอยู่ในขั้นตอนศึกษา ยันรัฐบาลห่วงสุขภาพ ไม่ไช่ถังแตกหวังรีดภาษี
นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต ยืนยันว่า แนวคิดเรื่องการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในสินค้าที่ใช้ไขมันทรานส์และสินค้าที่มีความเค็ม ยังอยู่ระหว่างการศึกษาและยังไม่ได้มีผลบังคับใช้ในเร็วๆ นี้ตามที่มีข่าวออกมาก่อนหน้านี้ สำหรับความจำเป็นที่ต้องมีการจัดเก็บภาษีดังกล่าว เพราะต้องการดูแลสุขภาพของคนในประเทศ และเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่ช่วยส่งเสริมนวัตกรรมกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (New S Curve) และมุ่งเน้นเรื่องสุขภาพอนามัย ซึ่งในระยะยาวจะเป็นการช่วยลดภาระงบประมาณค่ารักษาพยาบาล พร้อมยืนยันว่าการเก็บภาษีนี้ ไม่ได้เป็นเพราะรัฐบาลถังแตกต้องการหารายได้เพิ่มแต่อย่างใด
"ไม่เกี่ยวว่ารัฐบาลถังแตก เรื่องภาษีสินค้าที่มีความเค็มและใช้ไขมันที่ไม่ดี เป็นเรื่องนโยบายที่จะช่วยดูแลเรื่องสุขภาพของคนในชาติ กินเค็มมากไปก็เป็นโรคไต ส่วนไขมันทรานส์แม้จะมีการห้ามนำเข้า แต่ระหว่างกระบวนการผลิตก็อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งจะต้องไม่ให้มีอยู่ในอาหาร กรมสรรพสามิตต้องการเปลี่ยนบทบาทที่ถูกมองว่าเป็นกรมที่จัดเก็บภาษีบาป ซึ่งหมายความว่ายิ่งเก็บภาษีได้มาก ผลเสียกับประชาชนก็มาก มาเป็นกรมจัดเก็บภาษีที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย" นายพชร กล่าว
อธิบดีกรมสรรพสามิต ระบุว่า การเก็บภาษีของเค็มและไขมันทรานส์จะไม่กระทบกับผู้บริโภค เพราะเป็นการเก็บภาษีต้นทางจากผู้ประกอบการ เช่นเดียวกันกับการเก็บภาษีสินค้าที่มีความหวาน โดยในกรณีนี้จะจัดเก็บกับสินค้าที่มีการบรรจุหีบห่อและระบุปริมาณโซเดียมที่ชัดเจน ซอสปรุงรส บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และขนมขบเคี้ยวต่างๆ แต่ไม่รวมอาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง เพราะจะไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการ ซึ่งโดยหลักการแล้ว สินค้าที่สามารถลดความเค็มหรือไม่มีไขมันทรานส์ได้ควรจะมีราคาขายที่ต่ำกว่า แต่ปัจจุบันกลับเป็นว่าของยิ่งเค็มมากกลับขายถูกกว่า ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม
ส่วนกรณีที่จะมีการจัดเก็บภาษีบุหรี่ไฟฟ้านั้น กรมสรรพสามิตยืนยันว่ากรมฯ พร้อมเก็บภาษี เพราะมีอัตราภาษีอยู่ในพิกัดตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่ แต่การตัดสินใจว่าจะเก็บภาษีบุหรี่ไฟฟ้าหรือไม่นั้นต้องขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงพาณิชย์ ที่น่าจะมีข้อมูลที่ชัดเจนถึงความจำเป็นการจัดเก็บภาษีมากกว่า และสาเหตุที่ที่ผ่านมาไม่มีการเก็บภาษี เพราะกระทรวงสาธารณสุขเห็นว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่มีความเสี่ยงต่อการทำลายสุขภาพ โดยที่ผ่านมา 3 เดือน กรมดำเนินการจับกุมบุหรี่ไฟฟ้าที่ขายผ่านทางออนไลน์ มีการฟ้องร้องไปแล้วกว่า 80 คดี คิดเป็นค่าปรับประมาณ 5 ล้านบาท
"ตอนนี้กระทรวงพาณิชย์รับทราบปัญหาแล้ว และมีการแต่งตั้งคณะทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อมาพิจารณาในเรื่องนี้ คงต้องดูว่าคณะทำงานจะพิจารณาอย่างไร แต่ในชั้นนี้บุหรี่ไฟฟ้ายังถือว่าเป็นสินค้าที่ห้ามนำเข้า จึงไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้ ทางกรมฯ เป็นส่วนของปลายน้ำ ถ้าทางต้นนำ เห็นว่าสามารถนำเข้าได้ เราถึงค่อยเก็บภาษี เรามีพิกัดภาษีรองรับไว้แล้ว" อธิบดีกรมสรรพสามิตระบุ
นายพชร กล่าวว่า ขณะนี้กรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างพิจารณาแพ็คเกจภาษีสรรพสามิตทั้งหมด ซึ่งรวมถึงภาษีสินค้าที่มีความเค็มและไขมัน ภาษีสรรพสามิตรถจักรยานยนต์ที่จัดเก็บตามปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยคาดว่าจะเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาได้ภายไตรมาส 1 ปีงบประมาณ 62 หรือภายในสิ้นปี 2561 นี้
"คาดว่าจะได้ผลการศึกษาภายในไตรมาสแรก เราจะเสนอเป็นแพ็คเกจไปให้ รมว.คลังพิจารณาก่อน ว่า รมว.คลัง เห็นด้วยหรือไม่ ถ้าเห็นด้วย ก็ค่อยนำเสนอรัฐบาลต่อไป" นายพชรกล่าว