จับตาแบงก์เร่งสินเชื่อบ้านโค้งสุดท้าย

จับตาแบงก์เร่งสินเชื่อบ้านโค้งสุดท้าย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยสินเชื่อ ต.ค. โต 5.8% คาดทั้งปีเข้าเป้า 6% จับตาแบงก์เร่งปล่อยที่อยู่อาศัย 2 เดือนสุดท้ายก่อนมาตรการเข้มบังคับใช้

บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานข้อมูลสินเชื่อ เงินฝาก และสภาพคล่อง ของธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2561 พบว่า ภาพรวมสินเชื่อสุทธิเดือน ต.ค.61 กลับมาเร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อน 8.2 หมื่นล้านบาท หรือ 0.73% มาที่ 11.427 ล้านล้านบาท


โดยเป็นผลมาจากการขยายตัวดีขึ้นของสินเชื่อรายย่อยทุกประเภท (สินเชื่อที่อยู่อาศัย เช่าซื้อ และสินเชื่อไม่มีหลักประกัน) และสินเชื่อธุรกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ ขณะที่สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอียังบวกเล็กน้อย


ทั้งนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และสิ้นปีก่อน สินเชื่อสุทธิ ยังขยายตัวที่ 5.82% YoY และ 3.31% YTD ตามลำดับ
สำหรับแนวโน้มสินเชื่อในอีก 2 เดือนที่เหลือ (พ.ย.-ธ.ค.) ของปี 2561 มองว่า ยังมีสินเชื่อรายย่อยเป็นตัวนำการขับเคลื่อนหลัก โดยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์น่าจะได้รับอานิสงส์จากการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ และรายการส่งเสริมการขายในงานมอเตอร์ เอ็กซ์โป
ขณะที่สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยอาจมีทิศทางที่เร่งขึ้นตามธุรกรรมการซื้อที่อยู่อาศัย ก่อนที่เกณฑ์กำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีผลบังคับใช้


“สถานการณ์สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์จะยังคงขยายตัวดีต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี ซึ่งน่าจะช่วยทำให้ภาพรวมของสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ทั้งปี 2561 เติบโตได้ใกล้เคียงกับตัวเลขประมาณการที่ 6.0%”


ขณะที่ภาพรวมเงินฝากเดือน ต.ค.61 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าถึง 2.28 แสนล้านบาท หรือ 1.86% MoM มาที่ 12.504 ล้านล้านบาท ซึ่งเงินฝากที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ โดยประมาณครึ่งหนึ่งเป็นเงินฝากภาครัฐในเข้ามาพักในบัญชี CASA ที่เหลือเป็นเงินฝากเอกชนทั้งบัญชี CASA และเงินฝากประจำ


สำหรับแนวโน้มเงินฝากในอีก 2 เดือนที่เหลือของปี 2561 คาดว่าจะยังไม่เห็นการแข่งขันระดมเงินฝากในวงกว้าง เนื่องจากสภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์ยังคงอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่าอาจจะเริ่มเห็นการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากที่มีระยะเวลาการฝากยาวขึ้น เพื่อล็อกต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายบางส่วน


"ประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในระยะใกล้ๆ นี้ จะอยู่ที่ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในเดือนธ.ค.นี้ รวมถึงสัญญาณ/ท่าทีต่อแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของไทยในปีหน้า เพราะนั่นอาจจะมีผลต่อเนื่องต่อทิศทางของอัตราดอกเบี้ยหลายๆ ประเภทที่จะเปลี่ยนแปลงไป"


ส่วนภาพรวมสภาพคล่องของธนาคารผ่อนคลายมากขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากเงินฝากที่เพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้สัดส่วนเงินให้สินเชื่อรวมต่อเงินฝากที่รวมตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม (LTD+Borrowing Ratio) ปรับลดลงมาอยู่ที่ 86.72% จากระดับ 87.43% ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งสภาพคล่องที่ยังอยู่ในระดับผ่อนคลายดังกล่าว สอดคล้องกับอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อสินทรัพย์รวมที่ปรับขึ้นมาที่ 21.64% ในเดือนต.ค. จากระดับ 21.30% ในเดือนก.ย.ที่ผ่านมา