เร่งโครงสร้างพื้นฐาน 'ไอโอที'

เร่งโครงสร้างพื้นฐาน 'ไอโอที'

สกพอ. เร่งผลักดันโครงสร้างพื้นฐาน IoT ในพื้นที่อีอีซี กระทรวงดิจิทัลฯ-กสทช.แก้กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค สำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัล-อปท.จับมือผลักดันสมาร์ทซิตี้

หนุนใช้คลื่นความถี่ 2 รูปแบบ ทั้งคลื่นสาธารณะ คลื่นที่ขอใบอนุญาต ด้านเอกชนหวังช่วยกระตุ้นภาคธุรกิจ มั่นใจ 3 ปี ไทยผู้นำอาเซียน

การดำเนินธุรกิจและการพัฒนาเมืองในอนาคตจะนำเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) มาใช้เพิ่มมากขึ้น โดยรัฐบาลวางแผนที่จะให้พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นพื้นที่นำร่องของการนำ IoT มาใช้ ซึ่งรัฐบาลกำลังวางโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและกำหนดให้อุตสาหกรรมดิจิทัลเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ระบุว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างผลักดันแผนปฏิบัติการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อรองรับนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเดือน ต.ค.2561 ซึ่งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้เตรียมแผนดำเนินการแล้ว

ทั้งนี้ ได้กำหนดแผนโครงสร้างพื้นฐาน IoT เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนใช้เทคโนโลยีนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนดำเนินงาน รวมทั้งมีโครงสร้างพื้นฐานด้าน IoT ในพื้นที่ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เพื่อรองรับการทำสมาร์ทซิตี้ และการพัฒนาด้าน IoT โดยจะมีการวิจัยและพัฒนาจนผลิตหรือขายลิขสิทธิ์และสิทธิบัตรอุปกรณ์ IoT ได้ และประชาชนในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจาการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้

1_76

จับมือ อปท. ใช้ไอโอทีดันสมาร์ทซิตี้

สำหรับแผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน IoT ในเขตอีอีซี ในช่วงปีงบประมาณ 2561-2562 จะเป็นช่วงที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา IoT ในพื้นที่อีอีซี และตั้งแต่ปี 2562 จะจัดทำโครงการนำร่องด้านสมาร์ทซิตี้โดยใช้ IoT ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

ดังนั้นพื้นที่อีอีซีจึงจำเป็นต้องมีโครงข่ายที่จะรองรับอุปกรณ์ IoT ซึ่งแบ่งการเชื่อมต่อแบบไร้สาย 2 ประเภท ตามลักษณะความถี่ที่ใช้งานและมีจุดแข็งต่างกัน คือ 1.กลุ่มเทคโนโลยีที่ใช้ คลื่นความถี่สาธารณะ (Unlicensed Band) เช่น LoRaWAN จะมีความสะดวกสบายและความยืดหยุ่นในการใช้งาน เพราะไม่ต้องขอใบอนุญาตการใช้คลื่นความถี่ ทำให้ประชาชนติดตั้งระบบ IoT เพื่อการใช้งานส่วนตัวได้ 

รวมทั้งทำให้การทดลองใช้งานหรือโครงการ นำร่องต่างๆ มีความสะดวกและมีค่าใช้จ่ายต่ำ โดยต้องลงทุนเพียงอุปกรณ์เท่านั้น ซึ่งปัจจุบันบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ได้ให้การสนับสนุนด้านอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยี LoRaWAN

2.กลุ่มเทคโนโลยีที่ใช้คลื่นความถี่ที่ต้องขออนุญาต (Licensed Band) เช่น NB-IoT (Narrowband IoT), eMTC (enhanced Machine-Type Communication) ซึ่งกลุ่มเทคโนโลยีที่ใช้คลื่นความถี่ที่ต้องขออนุญาตจะมีสัญญาณรบกวนต่ำ เนื่องจากมีเพียงอุปกรณ์ที่ลงทะเบียนกับผู้ได้รับใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่เท่านั้นที่ใช้งานได้ ซึ่งทำให้การเชื่อมต่อมีความเชื่อถือได้สูง 

อีอีซีใช้คลื่นสัญญาณ2รูปแบบ

ทั้งนี้ ปัจจุบันการใช้คลื่นความถี่ที่ต้องของอนุญาตนี้มีเอไอเอสและทรูที่เริ่มให้บริการ และการที่จะนำเทคโนโลยี IoT ระบบใดมาใช้นั้น ขึ้นกับลักษณะและความต้องการของผู้ใช้งาน ดังนั้นพื้นที่อีอีซีจึงควรสนับสนุนให้มีโครงข่ายทั้ง 2 รูปแบบ เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของพื้นที่

รายงานข่าวระบุว่า แผนโครงสร้างพื้นฐาน IoT ได้ระบุความสำคัญที่ต้องการให้มีการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อให้บริหารการจัดการเมืองในพื้นที่อีอีซีมีประสิทธิภาพดี ซึ่งจะทำให้เมืองเป็นเมืองอัจฉริยะยกระดับคุณภาพ ชีวิตของประชาชนในจังหวัด ส่งเสริมเศรษฐกิจในรูปแบบเดิมและอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ โดยการพัฒนาในทิศทางนี้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ นอกจากจะมีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้นแล้ว จะมีความจำเป็นต่อการดำเนินการของสมาร์ทซิตี้

สำหรับเทคโนโลยี IoT จะทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เชื่อมต่อกับระบบเครือข่ายหรืออินเทอร์เน็ตได้สะดวก ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการทำงานเพิ่มขึ้น และชีวิตสะดวกสบายขึ้น การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นและต้นทุนต่ำลง เช่น อุปกรณ์ IoT ในโรงงานที่รายงานทำงานกับศูนย์ควบคุมได้ ซึ่งทำให้การบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (PM) ทำได้ง่าย รวดเร็วและประหยัด 

รวมทั้งอุปกรณ์ IoT ที่เสาไฟฟ้าในสมาร์ทซิตี้จะรายงาน สภาพจราจร ความสว่าง ระดับน้ำท่วมขัง คุณภาพอากาศได้ โดยไม่ต้องคอยเจ้าหน้าที่ตรวจสอบหรือประชาชนร้องเรียน ซึ่งทำให้ IoT มีความจำเป็นในการ พัฒนาหลายด้าน เช่น สมาร์ทซิตี้ อุตสาหกรรม 4.0

เอกชนชี้ไอโอทีกระตุ้นธุรกิจ

นายกำพล โชคสุนทสุทธิ์ นายกสมาคมไทยไอโอที กล่าวว่า ประเทศไทยได้เปรียบในเรื่องเทคโนโลยี IoT มากกว่าหลายประเทศในอาเซียน ในเรื่องของความหลากหลายของธุรกิจ มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สูงกว่า ทั้งในเรื่องของการเกษตร ท่องเที่ยว อุตสาหกรรม และบริการ ทำให้ไทยทดสอบเทคโนโลยี IoT ที่หลากหลายในทุกธุรกิจ แต่ไทยมีจุดอ่อนเรื่องการขาดความร่วมมือ มีคนเก่งเยอะแต่ทำงานร่วมกันไม่ได้ แต่หากภาครัฐกำหนดทิศทางที่ดีจะเติบโตได้

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ประกอบการในธุรกิจ IoT จึงได้รวมตัวตั้งสมาคมไทยไอโอทีขึ้นเพื่อผลักดันธุรกิจ IoT ให้ขยายตัวมากขึ้น โดยมีสมาชิกมากกว่า 100 รายเป็นทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ผู้ผลิตทั้งฮาร์ดแวร์ และซอฟแวร์

โดยแผนงานสำคัญในปี 2562 จะร่วมมือกับ อินโฟคอมจากสิงคโปร์เพื่อโรดโชว์ประสานความร่วมมือด้าน IoT ใน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม พาสมาชิกของสมาคมฯ ที่มีผลิตภัณฑ์ หรือมีโครงการโดดเด่นออกไปพบปะกับผู้ประกอบการในประเทศเหล่านี้ โดยมีเป้าหมาย 3 ปี ยกระดับไทยไปสู่ศูนย์กลาง IoT ของอาเซียน

นายกำพล กล่าวว่า การนำเทคโนโลยี IoT มาใช้ในไทย จะเน้นใน 5 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ เกษตร ท่องเที่ยว สุขภาพ อุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ ซึ่งหากทำทั้ง 5 กลุ่มนี้แล้ว จะเกิดสมาร์ทซิตี้ในไทยขึ้น โดยการนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ในภาคการเกษตรเป็นสมาร์ทฟาร์มมิ่ง ส่วนในโรงงานอุตสาหกรรม จะนำเซ็นเซอร์ต่างๆไปติดที่เครื่องจักร เพื่อพัฒนาไปสู่เครื่องจักรอัตโนมัติ ยกระดับโรงงานไปสู่สมาร์ทแฟคเตอรี่ ซึ่งจะเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับสมาร์ทโลจิสติกส์ รวมทั้งการผลิตสินค้าต่างๆ ผู้ผลิตตสามารถติดชิพเข้าไปในสินค้า เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคได้อย่างเรียบไทม์ เพื่อผลิตสินค้าใหม่ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค