สกพอ.ดันฮับการเงินปีนี้
เร่งหารือ ธปท. วางกรอบดันศูนย์กลางการเงินอีอีซี กรมโยธาฯ ร่างผังเมืองขีดกรอบ 500 ไร่ รัศมี 10 กม.จากสนามบินอู่ตะเภา วางแผนพัฒนา 6 ด้าน ตั้งวงเงิน 432 ล้านบาท พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กำหนดมาตรการจูงใจ โรดโชว์ดึงลงทุน
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเดือน ต.ค.2561 ได้กำหนดแนวทางการผลักดันศูนย์กลางการเงินอีอีซี โดยจะเป็น สกพอ.อยู่ระหว่างหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อร่างกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องในการเป็นศูนย์กลางการเงิน ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเวลาไม่นานในการยกร่างกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง
รายงานข่าวจาก สกพอ.ระบุว่า แผนการดำเนินงานอีอีซีกำหนดให้ สกพอ.และ ธปท.จัดทำข้อกำหนดการผลักดันเมืองศูนย์กลางการเงินให้เสร็จภายในปี 2562 โดย สกพอ.และกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ทำแผนการใช้ประโยชน์ในที่ดินในภาพรวม ประเภทพื้นที่พัฒนาเมืองใหม่และพื้นที่ศูนย์กลางธุรกิจอย่างน้อย 15,500 ไร่ แบ่งเป็นการพัฒนาเมืองใหม่อัจฉริยะน่าอยู่ 12,500 ไร่ ศูนย์กลางการเงิน 500 ไร่ และมหานครการบินภาคตะวันออก 2,500 ไร่
ทั้งนี้ เมืองศูนย์กลางการเงินและศูนย์กลางธุรกิจพื้นที่ 500 ไร่ จะเป็นการเตรียมพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักลงทุนมาตั้งสำนักงาน รวมทั้งให้ทำธุรกรรม ธุรกิจและการเงินครบวงจรเพื่อสนับสนุนการลงทุน และการดำเนินธุรกรรมต่างๆ ของนักลงทุนในอีอีซี
โดยจะเป็นการสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่อีอีซี ทั้งในลักษณะของการเป็นปัจจัยสนับสนุนการตัดสินใจลงทุนจากความพร้อมในการอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ การดำเนินธุรกรรมของพื้นที่ และการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นรูปธรรม โดยพื้นที่เมืองศูนย์กลางการเงินและศูนย์กลางธุรกิจจะตั้งอยู่ในรัศมี 10 กิโลเมตรจากสนามบินอู่ตะเภา
ตั้งงบ 432 ล้านดันศูนย์กลางการเงิน
นอกจากนี้ แผนปฏิบัติการภายใต้แผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (2560-2565) กำหนดแผนงานการพัฒนาศูนย์กลางทางการเงิน 15 โครงการ วงเงิน 432 ล้านบาท แบ่งเป็น 6 แผนงาน คือ 1.การจัดหาพื้นที่ของรัฐและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 30 ล้านบาท โดยมีโครงการศึกษาความเหมาะสมการจัดตั้งเมืองศูนย์กลางการเงินและศูนย์กลางธุรกิจในอีอีซีของ สกพอ. และโครงการพัฒนาขอบเขตของพื้นที่ศูนย์กลางธุรกิจและศูนย์กลางการเงินของ สกพอ.กรมธนารักษ์และภาคเอกชน
2.การพัฒนามาตรการจูงใจ 3 โครงการ วงเงิน 10 ล้านบาท โดยมีโครงการพัฒนาสิทธิประโยชน์และปรับปรุงกฎระเบียบทางด้านการเงินเพื่อสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์กลางธุรกิจและศูนย์กลางการเงินระยะที่ 1-2 และโครงการศึกษาพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันภาคการเงินไทย ซึ่มีหน่วยงานรับผิดชอบ คือ สกพอ.กรมสรรพากร ธปท. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และสมาคมธนาคารไทย
6หน่วยงานลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
3.การพัฒนาเมืองศูนย์กลางธุรกิจและศูนย์กลางการเงิน 5 โครงการ วงเงิน 320 ล้านบาท โดยมีโครงการลงทุนก่อสร้างและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภคและสาธารณูปของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 310 ล้านบาท
โครงการพัฒนาพื้นที่โดยภาคเอกชน โครงการตั้งสำนักงานนำร่องในอีอีซี และโครงการความเป็นไปได้ในการขยายขอบเขตพื้นที่ศูนย์กลางธุรกิจและศูนย์กลางการเงินในอีอีซีของ สกพอ.10 ล้านบาท
4.การพัฒนาบุคลากร 2 โครงการ วงเงิน 46 ล้านบาท มีโครงการพัฒนาบุคลากรระยะสั้นและระยะปานกลางของกระทรวงศึกษาธิการ 5.การประชาสัมพันธ์แก่นักลงทุนและผู้ประกอบการ 2 โครงการ วงเงิน 16 ล้านบาท มีโครงการประชาสัมพันธ์ศูนย์กลางธุรกิจและศูนย์กลางการเงิน โครงการโรดโชว์เพื่อหาภาคเอกชนเข้าร่วมลงทุนในพื้นที่ของ สกพอ. และ 6.การติดตามและประเมินผลการพัฒนาศูนย์กลางธุรกิจและศูนย์กลางการเงินของ สกพอ.10 ล้านบาท
หนุนตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามชาติ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลได้จัดทำแผนปฏิบัติการศูนย์กลางธุรกิจและศูนย์กลางการเงิน (2560-2564) โดยมีเป้าหมายให้อีอีซีเป็นพื้นที่นำร่องไทยแลนด์ 4.0 โดยเน้นขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีและมีเป้าหมายผลักดันให้อีอีซีเป็นศูนย์กลางการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย ศูนย์กลางธุรกิจและการเงินครบวงจร
นโยบายนี้จะดึงดูดนักลงทุนมาจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (International Headquarter) บริษัทการค้าระหว่างประเทศ (International Trading Company) ศูนย์บริหารเงิน (Treasury Center) และ สถาบันการเงิน (Financial Institute) อย่างครบวงจรในพื้นที่ รวมถึงเป็นการเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจและศูนย์กลางการเงินต่อไปในอนาคต ธุรกิจและธุรกรรมเป้าหมายที่ต้องการดึงดูดให้เกิดขึ้นในพื้นที่
นอกจากนี้ธุรกิจที่ส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางทางการเงินประกอบไปด้วย 1.สำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (International Headquarter) 2. บริษัทการค้าระหว่างประเทศ (International Trading Company) 3. ศูนย์บริหารเงิน (Treasury Center) 4.สถาบันการเงิน (Financial Institute) ซึ่งต้องมีการให้สิทธิประโยชน์ครอบคลุมด้านการเงินและที่ไม่ใช่ทางด้านการเงิน โดยอาจผ่อนปรนกฎระเบียบที่มีอยู่แล้ว หรือเพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่ เช่น การลดความซับซ้อนของการทำธุรกรรม
ทำธุรกรรมออฟชอร์ในประเทศ
ทั้งนี้ ธุรกรรมเป้าหมายที่สำคัญคือ การทำธุรกรรมของตลาดต่างประเทศ (Offshore) ได้ในประเทศ (Onshore) เสมือนว่าพื้นที่นั้นอยู่ในต่างประเทศ รวมทั้งการอนุญาตให้ใช้เงินตราต่างประเทศนอกเหนือจากเงินบาทภายในพื้นที่พิเศษ (Super Zone) และมีการกำหนดสิทธิประโยชน์ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการลงทุนทั้งสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับ ภาษีและสิทธิประโยชน์อื่นๆ โดยเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น สิงคโปร์มาเลเซียและฮ่องกงที่เป็นผู้นำในการเป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาค
โดยมีมาตรการบางอย่างที่สามารถปรับปรุงเพิ่มเติมเพื่อ ยกระดับให้ดีขึ้นได้เช่น นโยบายการพัฒนาศูนย์กลางและศูนย์กลางทางการเงินอื่นๆ และกฎหมายบางประการที่ ต้องปรับปรุงแก้ไข เช่น การกำหนดให้สถาบันการเงินต่างชาติมาตั้งสาขาได้เพิ่มเติมในพื้นที่ การให้สิทธิประโยชน์ แก่ภาคเอกชน รวมถึงความจำเป็นในการยกร่างกฎหมายด้านที่ดินและอาคารให้ง่ายต่อการลงทุนมากขึ้น
สำหรับการชักจูงต่างชาติเข้ามาลงทุนศูนย์กลางการเงินในอีอีซีที่ผ่านมา นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เคยหารือกับบริษัท ABN AMRO สถาบันการเงินชั้นนำจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งได้สอบถามนโยบายศูนย์กลางทางการเงินของไทย โดยรัฐบาลเดินหน้าอีอีซีก็จะเป็นต้องผลักดันศูนย์กลางทางการเงินควบคู่ไปด้วย