สมอ.เร่งศูนย์ทดสอบยานยนต์เฟส2

สมอ.เร่งศูนย์ทดสอบยานยนต์เฟส2

สนามทดสอบยานยนต์และล้อยางแห่งชาติ จ.ฉะเชิงเทรา เปิดดำเนินการไตรมาส 3 ปีนี้ ช่วยไทยรักษาแชมป์ศูนย์กลางผลิตรถยนต์ในอาเซียน ก้าวพ้นผู้รับจ้างผลิตไปสู่ผู้วิจัยพัฒนา ออกแบบรถยนต์ ด้านผู้ผลิตยางล้อ เผยช่วยลดต้นทุนทดสอบกว่า 30% หนุนเพิ่มใช้ยางในประเทศ

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยหลังเป็นประธานรับมอบใบรับรองสนามทดสอบยางล้อตามมาตรฐาน UN R117 จาก Applus+IDIADA ประเทศสเปน ว่า ศูนย์ทดสอบยานยนต์และล้อยางแห่งชาติ ได้รับใบรับรองสนามทดสอบตามมาตรฐาน UN R117 และผิวสนามทดสอบเสียง ตามมาตรฐาน ISO 10844 : 2014 ทำให้สนามทดสอบแห่งนี้ได้มาตรฐานสากล

ทั้งนี้ ศูนย์ทดสอบยานยนต์ฯ เฟส 1 จะเปิดบริการในไตรมาส 3 ปีนี้ ซึ่งจะให้บริหารทดสอบยางล้อตามมาตรฐาน UN R117 ที่จะเป็นมาตรฐานบังคับในปลายปีนี้ จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมยางล้อของไทยให้สูงขึ้น มีความปลอดภัยขึ้น และทำให้ต้นทุนการวิจัยพัฒนายางล้อรุ่นใหม่ลดลง ส่วนในเฟสที่ 2 ก็จะก่อสร้างทันที และศูนย์ทดสอบยานยนต์ฯ แห่งนี้จะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2564
“ศูนย์ทดสอบยานยนต์ฯ แห่งนี้ จะเป็นสนามที่ได้รับรองมาตรฐานสากลแห่งแรกในอาเซียน จะช่วยดึงดูดการลงทุนด้านการวิจัยพัฒนาชิ้นส่วนยานยนต์ และยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ช่วยเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้แข็งแกร่ง และเป็นแหล่งลงทุนของทั้งผู้ประกอบการไทยและต่างชาติ”

1_115

หนุนวิจัยชิ้นส่วนยานยนต์

นายสมชาย กล่าวว่า 50 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยได้เติบโตตามแผนที่รัฐบาลได้วางไว้ จนในปัจจุบันไทยเป็นแหล่งผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่แข็งแกร่งที่สุดในอาเซียน มีมูลค่าการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ใกล้เคียงกับการส่งออกรถยนต์ทั้งคัน สิ่งนี้จะเป็นจุดแข็งของไทยในอนาคต ซึ่งการที่ไทยเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ทั้งห่วงโซ่การผลิต จะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมดึงดูดการวิจัย พัฒนา การออกแบบ และการพัฒนายานยนต์ต้นแบบเข้ามาในไทย และศูนย์ทดสอบยานยนต์ฯ แห่งนี้จะเป็นเครื่องจักรสำคัญให้เกิดสิ่งเหล่านี้ เปลี่ยนจากประเทศผู้รับจ้างผลิตไปสู่การผลิตเทคโนโลยี

ส่วนการบริหารจัดการศูนย์ทดสอบยานยนต์ฯ หลังจากการก่อสร้างเสร็จ จะมอบหมายให้สถาบันยานยนต์ และบริษัทตรวจสอบรับรองมาตรฐานยานยนต์ และล้อยาง ต่างประเทศ เข้ามาร่วมบริหารจัดการ เพราะบริษัทผู้เชี่ยวชาญต่างชาติมีมาตรฐานการทดสอบที่เป็นมาตรฐานสากล มีความเป็นกลางที่ทั่วโลกให้การยอมรับ รวมทั้งภายในศูนย์ทดสอบยานยนต์ฯ ยังมีอาคารปฏิบัติการวิจัย ที่เปิดให้บริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ต่างๆ ก็จะเข้ามาตั้งศูนย์วิจัยในบริเวณนี้

เร่งก่อสร้างเพิ่ม5สนามทดสอบ

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า การดำเนินการก่อสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์ฯ เฟสที่ 1 ประกอบด้วยสนามทดสอบยางล้อและเครื่องมือทดสอบตามมาตรฐาน UN R117 ทดสอบรายการเสียงจากยางล้อที่สัมผัสผิวถนน การยึกเกาะถนนบนพื้นเปียก และความต้านทานการหมุนของยางล้อ ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการประหยัดพลังงาน

สำหรับศูนย์ทดสอบยานยนต์ฯ แห่งนี้ใช้งบประมาณรวม 3,705 ล้านบาท ใช้พื้นที่ 1,235 ไร่ ตั้งอยู่ที่ อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเฟสที่ 1 ใช้งบประมาณ 1,200 ล้านบาท

ส่วนเฟสที่ 2 ปี 2563 จะใช้งบประมาณ 1,100 ล้านบาท และปี 2564 จะใช้งบ 1,300-1,400 ล้านบาท ซึ่งในเฟส 2 จะประกอบด้วยการสร้างสนามทดสอบกลางแจ้ง 5 สนาม คือ 1.สนามทดสอบสมรรถนะยานยนต์ 2.สนามทดสอบระบบเบรก 3.สนามทดสอบระบบเบรกมือ 4.สนามทดสอบเชิงพลวัต 5.สนามทดสอบการยึดเกาะถนนขณะเข้าโค้ง ซึ่งออกแบบก่อสร้างสนามทั้ง 5 สนาม
“การดำเนินงานของศูนย์ทดสอบยานยนต์ฯ จะรับเงินอุดหนุนจากัฐบางส่วน และจะเปิดให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในบางส่วน ซึ่งมีบริษัทผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนรายใหญ่เข้ามาตั้งในพื้นที่นี้ รวมทั้งกำหนดให้บริษัทผู้ผลิตยางล้อในไทยจะต้องใช้ศูนย์ทดสอบยานยนต์ฯ แห่งนี้ ซึ่งจะสร้างรายได้ให้กับศูนย์ทดสอบฯ โดยค่าใช้จ่ายในการทดสอบจะถูกว่าการส่งไปทดสอบในต่างประเทศหลายเท่าตัว”

ส.อ.ท.ชี้ช่วยลดต้นทุนเอกชน

นายเอกชัย ลิมปิโชติพงษ์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ศูนย์ทดสอบยานยนต์ฯ จะช่วยลดต้นทุนการผลิตยางล้อได้กว่า 30% จากเดิมที่ต้องส่งไปทดสอบในต่างประเทศ จะมีต้นทุนเกือบ 1 ล้านบาทต่อยางล้อ 1 แบบ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยพัฒนายางล้อรุ่นใหม่ๆได้มากขึ้น โดยในส่วนของบริษัท ยางโอตานิ จำกัด ในแต่ละปีจะออกยางล้อรุ่นใหม่ประมาณ 2 รุ่น แต่ถ้ามีศูนย์ทดสอบฯแห่งนี้ จะทำให้พัฒนาได้มากขึ้นเป็นปีละ 5-6 รุ่น ซึ่งจะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมยางล้อของไทยให้แข่งขันกับบริษัทชั้นนำระดับโลกได้มากขึ้น

ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้สูงที่ผู้ผลิตยางล้อในอาเซียน จะเข้ามาใช้ศูนย์ทดสอบฯ แห่งนี้ เพราะในภูมิภาคนี้มีเพียงศูนย์ทดสอบฯ แห่งนี้ที่ได้มาตรฐานโลก ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้ให้ศูนย์ทดสอบยานยนต์ฯ เพื่อให้เลี้ยงตัวเองได้ แต่ภาครัฐควรกำหนดระเบียบให้ยางล้อที่ผลิตในไทยต้องผ่านการทดสอบจากศูนย์ทดสอบยานยนต์ฯ แห่งนี้ เท่านั้น เพราะยางล้อที่ใช้ในเมืองร้อนควรใช้สนามทดสอบในเขตเมืองร้อน เพื่อความปลอดภัยสูงสุด เพราะอุณหภูมิจะมีผลต่อคุณสมบัติของยางล้อ

หนุนเพิ่มใช้ยางในประเทศ

“ศูนย์ทดสอบยานยนต์ฯ จะช่วยลดต้นทุนการทดสอบยางล้อ โดยบริษัทขนาดเล็กจะประหยัดอย่างต่ำหลายแสนบาท แต่ถ้าบริษัทใหญ่จะช่วยประหยัดได้หลายล้านบาท รวมทั้งช่วยลดระยะเวลาในการทดสอบ จากเดิมต้องส่งไปทดสอบในยุโรป ใช้เวลา 4-5 เดือน แต่ถ้าทดสอบภายในประเทศจะใช้เวลาเพียง 2-4 สัปดาห์ ก็ได้ผลทดสอบ ทำให้ลดระยะเวลาในการพัฒนายางล้อรุ่นใหม่ๆ จากเดิม 1 ปี เหลือเพียง 5-6 เดือน ซึ่งการที่ลดเวลาได้มาก ก็ยิ่งสร้างรายได้เพิ่มให้กับผู้ผลิต”

นายเอกชัย กล่าวว่า ศูนย์ทดสอบฯแห่งนี้ ยังช่วยเพิ่มปริมาณการซื้อยางพาราให้กับเกษตรกรไทยด้วย เพราะยางพาราที่ผลิตได้ทั้งหมด 70% จะเข้าสู่อุตสาหกรรมยางล้อ หากมีการลงทุนขยายกิจการ มีโรงงานใหม่ๆ เกิดขึ้น มียอดส่งออกมากขึ้น ก็จะช่วยให้โรงงานต่างๆ ดูดซับยางพาราที่ผลิตภายในประเทศได้มากขึ้น