ฝรั่งเศสรุกลงทุน5อุตฯ

ฝรั่งเศสรุกลงทุน5อุตฯ

สภาธุรกิจฝรั่งเศส-ไทย จับมือลงทุน 5 กลุ่มธุรกิจ "ชีวภาพ-คมนาคม-สมาร์ทซิตี้-พลังงาน-สุขภาพ" คาดเกิดการจับคู่ธุรกิจ 10 ราย ยกระดับผลิตชิ้นส่วนสู่ชิ้นส่วนอากาศยาน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมสภาธุรกิจฝรั่งเศส-ไทย ว่า การประชุมครั้งนี้ มีนักธุรกิจชั้นนำจากฝรั่งเศส 24 บริษัท เข้าร่วม โดยนักธุรกิจกลุ่มนี้สนใจลงทุน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) รวมทั้งความร่วมมือระหว่างบริษัทแอร์บัส กับบริษัทการบินไทยในการลงทุนศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน และแอรร์บัส ได้ลงนามความร่วมมือกับรัฐบาลไทยผ่านทางสถาบันการบินพลเรือนเพื่อพัฒนาบุคลากรการบิน

นอกจากนี้ ฝรั่งเศสสนใจลงทุนธุรกิจที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นสูง รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟระหว่างเมือง ท่าเรือแหลมฉบัง ศูนย์ซ่อมอากาศยาน รถไฟฟ้า สนามบินอู่ตะเภา สมาร์ทซิตี้

ฝรั่งเศสรุกลงทุน5อุตฯ

นายคงกะพัน อินทรแจ้ง ประธานร่วมสภาธุรกิจฝรั่งเศส-ไทย และประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีขั้นต้น บริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ จีซี กล่าวว่า หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เยือนฝรั่งเศสเมื่อเดือน มิ.ย.2561 สภาธุรกิจฝรั่งเศส-ไทย ได้ติดตามเพื่อให้เกิดการความร่วมมือระหว่างนักธุรกิจ 2 ประเทศ

ลงทุนสนลงทุนเทคโนฯสูง

ทั้งนี้ ได้จัดโครงสร้างการทำงานรองรับความร่วมมือด้านการลงทุน 5 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ 1.การเกษตรและอาหาร เศรษฐกิจชีวภาพ 2.โครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคม 3.สมาร์ทซิตี้ 4.การเปลี่ยนแปลงใช้พลังงานรูปแบบใหม่ 5.สุขภาพ การโรงแรมและการท่องเที่ยว

“ฝรั่งเศสเป็นประเทศแรกในสหภาพยุโรป (อียู) ที่มาหารือกับรัฐบาลนี้ มองไทยเป็นประเทศน่าลงทุน และไทยไปลงทุนในฝรั่งเศสมาก โดนนักธุรกิจฝรั่งเศสสนใจลงทุนหลายอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีใหม่น่าสนใจ โดยเฉพาะการลงทุนในอีอีซีและสมาร์ทซิตี้ เพราะฝรั่งเศสมีเทคโนโลยีดิจิทัลมาก”

นอกจากนี้ ได้จับคู่ธุรกิจ 2 ประเทศ ไปแล้วกว่า 50 คู่ และการประชุมครั้งนี้จะจับคู่ธุรกิจอีก 5-10 คู่ ซึ่งแต่ละฝ่ายได้ทำข้อมูลมาลงลึกด้านต่างๆ โดยวันนี้ (1 ก.พ.) จะนำคณะนักลงทุนฝรั่งเศสลงพื้นที่ อีอีซี เยี่ยมชมนิคมอุตสาหกรรมของอมตะ ท่าเรือแหลมฉบัง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รวมทั้งด้านดิจิทัล โดยนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) จะอธิบายข้อซักถามต่างๆ

"มุมมองต่อการเลือกตั้งของไทยนั้น นักลงทุนฝรั่งเศสยังคงมีความมั่นใจกับรัฐบาลไทย มองว่าการเลือกตั้งเป็นเรื่องที่ดี ทำให้ไทยมีความมั่นคง นโยบายที่สำคัญต่างๆ น่าจะได้รับการสานต่อ เพราะเป็นนโยบายที่ดี และความร่วมมือทางธุรกิจก็จะยังคงดำเนินต่อไป

ดึงบริษัทลูกแอร์บัสลงทุน

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัทดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในวันนี้ได้หารือกับผู้บริหารแอร์บัส ซึ่งนอกจากจะเข้ามาลงทุนร่วมกับการบินไทยตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานแล้ว บริษัทลูกของแอร์บัสที่ผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินต่างๆ ก็สนใจและเริ่มเข้ามาลงทุนในไทยแล้ว คาดว่าในอีก 5 ปี ไทยจะก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางด้านอากาศยานในภูมิภาคนี้ ทั้งการซ่อมบำรุง และการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน

“ดับบลิวเอชเอ ได้เตรียมพื้นที่ในนิคมฯเพื่อรองรับการลงทุนสำหรับอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอากาศยานในพื้นที่ อีอีซี แล้ว 2 แห่ง โดยการหารือกับนักลงทุนฝรั่งเศสในครั้งนี้ มีจำนวนกว่า 10 ราย ที่ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในนิคมฯของดับบลิวเอชเอ”

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้มีการจับคู่ธุรกิจใน 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพราะประเทศฝรั่งเศสมีเทคโนโลยีชั้นสูงทุกอุตสาหกรรมที่ผู้ประกอบการไทยสนใจ โดยนักธุรกิจฝรั่งเศส 24 บริษัท จะหารือจับคู่ธุรกิจกับผู้ประกอบการไทย 20 บริษัท ซึ่งผู้ประกอบการไทยส่วนหนึ่งไปลงทุนในฝรั่งเศสแล้ว จะหาพันธมิตรเพื่อขยายการลงทุน และมีผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย 3-4 ราย สนใจดึงบริษัทผลิตชิ้นส่วนอากาศยานเข้ามาร่วมลงทุน เพื่อยกระดับไปผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน

เล็งธุรกิจระบบสมาร์ทซิตี้

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า นักลงทุนฝรั่งเศสสนใจเข้ามาลงทุนในสมาร์ทพาร์ค ในนิคมฯมาบตาพุด เพราะเชี่ยวชาญระบบสมาร์ทซิตี้สูง รวมทั้งสนใจลงทุนระบบโมโนเรล เชื่อมโยงการขนส่งในพื้นที่สมาร์ทพาร์ค ซึ่งหลังโครงการสมาร์ทพาร์คผ่าน อีไอเอ จึงจะมาหารือในรายละเอียดต่อไป

ส่วนความคืบหน้าโครงการท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ขณะนี้ได้เลื่อนเวลาการยื่นซองประมูลจากเดิมวันที่ 6 ก.พ.2562 เป็นวันที่ 15 ก.พ.2552 เนื่องจากมีการปรับแก้ข้อกำหนดในเอกสารการประมูลเล็กน้อย โดยโครงการนี้ได้รับความสนใจจากนักลงทุนหลายราย เช่น โตเกียวแก๊ส มิตซุย รวมถึงกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ ของไทย

เร่งเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า นักลงทุนฝรั่งเศสที่มาไทยในครั้งนี้ สภาธุรกิจฝรั่งเศส-ไทย ได้คัดเลือกผู้ที่ต้องการมาลงทุนในไทย และได้ทำการบ้านพูดคุยกันผู้ประกอบการไทยอยู่พอสมควรแล้ว จึงคาดว่าจะเกิดการลงทุนจริงตามมาในอนาคต

ทั้งนี้ ฝรั่งเศสและประเทศอื่นๆ ในสหภาพยุโรป (อียู) ต่างสนับสนุนการเจรจาเปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างไทย-สหภาพยุโรป ซึ่งไทยพร้อมเจรจาได้ทันทีหลังมีรัฐบาลใหม่ และมีนโยบายผลักดันในเรื่องนี้ โดยที่ผ่านมาได้มีการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆหลายฉบับจนมีความพร้อมในการเจรจามากกว่าเมื่อ 4 ปี ก่อนที่ต้องยุติไป มั่นใจว่าหากเกิดเอฟทีเอไทย-อียู จะทำให้การค้าและการลงทุนระหว่างไทย ยุโรป เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ไทยจะเป็นศูนย์กลางการดึงดูดอุตสาหกรรมใหม่เข้าประเทศ

ทั้งนี้ ปี 2561 ไทยกับฝรั่งเศสมีมูลค่าการค้า 5,700 ล้านดอลลาร์ เป็นการส่งออกของไทยไปฝรั่งเศส 1,900 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สินค้าที่สำคัญ คือ ยางพารา อัญมณีและเครื่องประดับ ทูน่ากระป๋องและไก่ ส่วนการนำเข้าจากฝรั่งเศสมีมูลค่า 3,700 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 8.7% สินค้านำเข้าหลัก เช่น อากาศยานและชิ้นส่วน และเครื่องจักร