ชี้ขาดวันนี้ รับ-ไม่รับ 11 เงื่อนไขไฮสปีด 'ซีพี'
จับตาประชุมฯ ชี้ขาดรถไฟความเร็วสูงรอบใหม่วันนี้ วัดใจคณะกรรมการการคัดลือกรับ หรือ ไม่รับ 11 เงื่อนไขพิเศษเพิ่มเติมจาก "กลุ่มซีพี"
วันนี้ (7 ก.พ.) คณะอนุกรรมการ คัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะมีการพิจาณาในมุมข้อกฎหมายที่กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัดและพันธมิตร (กลุ่มซีพี) เสนอเงื่อนไขพิเศษเข้ามาทั้ง 11 ข้อ รวม 200 หน้า จะได้รับการตอบรับจากคณะกรรมการหรือไม่
“กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” ขอนำเสนอ 11 เงื่อนไขที่กลุ่มซีพี ยื่นข้อเสนอมีอะไรกันบ้าง
1.ขอให้รัฐบาลการันตีผลตอบแทนจากการลงทุนโครงการ หรือ Interrest Rate of Return(IRR) ที่ระดับ 6.75% เนื่องจากเป็นโครงการที่ีรัฐบาลร่วมลงทุนด้วย เพราะฉะนั้นรัฐบาลควรมีส่วนร่วมในการรับผิดรับชอบ
2.ขอสิทธิ์ลดสัดส่วนหุ้นของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด จาก 70% เหลือ 5% ในอนาคต เนื่องจากตามแผนการลงทุนของซีพี จะนำโครงการรถไฟความเร็วสูงเข้าสระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ หรือ อาจจะระดมทุนในลักษณะกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน
3.ขอให้ภาครัฐจ่ายเงินอุดหนุนโครงการตั้งแต่ปีที่ 1 ของการดำเนินโครงการก่อสร้าง จากเดิมที่กำหนดให้รัฐจ่ายเงินอุดหนุนเมื่อเริ่มเดินรถ ซึ่งปกติจะใช้เวลาก่อสร้างและเตรียมการเดินรถประมาณ 5 ปี ดังนั้นรัฐบาลจะจ่ายเงินอุดหนุนในปีที่ 6
4.รัฐต้องสนับสนุน จัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่ระดับ 4% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าเงินกู้รายใหญ่ทั่วไป
5.ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่อนปรนเพดานการกู้เงินของเครือซีพี เนื่องจากปัจจุบันเงินกู้เต็มเพดาน ตามเกณฑ์กำกับของธปท.ที่เรียกว่า หลักเกณฑ์กำกับลูกหนี้รายใหญ่ หรือSingle Lending Limit (SLL)
6.กลุ่มซีพีขอขยายสัมปทาน จาก 50 ปี เป็น 99 ปี โดยในทีโออาร์ของโครงการรถไฟความเร็วสูง ที่ผู้เข้าร่วมประมูลทุกรายรับทราบว่าทีโออาร์ให้สิทธิในการเดินรถและการบริหารจัดการที่ดินที่มักกะสัน และศรีราชา เป็นเวลา 50 ปี โดยจะเป็นการใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี การเดินรถและบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์อีก 45 ปี
7.ขอชำระค่าเช่าที่ดินมักกะสันและศรีราชา เมื่อวันที่ถึงจุดที่มีผลตอบแทน จากจำนวนเงินที่ผู้ประมูลต้องจ่ายให้รัฐรวม 52,336 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าเช่าที่ดินมักกะสัน 150 ไร่ จำนวน 51,834 ล้านบาท และที่สถานีศรีราชา 25 ไร่ จำนวน 502 ล้านบาท
ขณะที่ในทีโออาร์กำหนดต้องจ่ายค่าเช่า ที่ดินตามขนาดพื้นที่ที่การรถไฟฯส่งมอบนับตั้งแต่วันที่ส่งมอบที่ดินในสัญญาจนสิ้นสุดระยะเวลา 50 ปี
8.ซีพีขอผ่อนชำระให้แอร์พอร์ตลิงค์ วงเงิน 10,671 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 11 ปี อัตราดอกเบี้ย 3%
ในทีโอาร์ ระบุว่าการรถไฟฯ จะได้รับเงินค่าให้สิทธิร่วมลงทุนในแอร์พอร์ต เรลลิงก์ โดยเอกชนคู่สัญญาจำนวน 10,671 ล้านบาท ก่อนที่เอกชนคู่สัญญาจะได้รับสิทธิการให้บริการเดินรถและบารุงรักษาโครงการเกี่ยวกับรถไฟในส่วนของแอร์พอร์ต เรลลิงก์
9.ให้รัฐบาลค้ำประกัน ร.ฟ.ท.เพื่อให้เอกชนมีความมั่นใจในการทำสัญญากับการรถไฟฯ หากเกิดปัญหาขึ้นมาในภายหลัง สามารถเรียกร้องจากรัฐได้ ซึ่งตามทีโออาร์กำหนดให้การรถไฟฯ เป็นผู้จ่ายเงินอุดหนุนในส่วนของที่รัฐบาลร่วมลงทุน
10.กรณีโครงการสนามบินอู่ตะเภาล่าช้า ขอให้รัฐชดเชยความเสียหายเนื่องจากความล้าช้ามีผลกระทบต่อการเดินรถ
11.ห้ามการรถไฟฯทำธุรกิจหรือเดินรถแข่งขันกับเอกชน
อย่างไรก็ตามในทีโออาร์ กำหนดซองที่ 4 ข้อเสนออื่นๆ “การเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการ” ระบุชัดเจนว่า ข้อเสนออื่นๆที่จะเป็นประโยชน์ต่อการให้บริการและการดำเนินงานของการรถไฟฯ
ประกอบด้วยข้อเสนอที่จะส่งเสริมให้เกิดการเพิ่มปริมาณผู้ใช้บริการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน รวมทั้งข้อเสนออื่นๆ เช่น การเพิ่มส่วนต่อขยาย การก่อสร้างสถานี เป็นต้น
ดังนั้น การที่กลุ่มซีพียื่น 11 ข้อเสนอ ที่นอกเหนือจากที่กำหนดในทีโออาร์ซอง 4 นี้ จะทำได้หรือไม่ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญบอกว่า เอกชนเสนอได้ไม่ผิด แต่อยู่ที่คณะกรรมการคัดเลือก จะรับหรือไม่รับ ต่างหาก