เปิดวิชั่น“ศุภลักษณ์ อัมพุช” ทรานส์ฟอร์มสู้ศึก“ดีสรัป”
มองสมรภูมิค้าปลีกไทยในเซ็กเมนต์ “ชอปปิงคอมเพล็กซ์” ทุนไทย 3 รายใหญ่ครองตลาดไว้อย่างเหนียวแน่น และหนึ่งในต้องมีชื่อ “เดอะมอลล์ กรุ๊ป” ของตระกูล “อัมพุช” คร่ำหวอดในวงการมา 38 ปี ทำรายได้เป็นอันดับ 2 โดยปี 2561 ปิดตัวเลขไปประมาณ 58,000 ล้านบาท
เดอะมอลล์ เป็นองค์กรธุรกิจ “ครอบครัว” มีนางหงส์ค้าปลีก “ศุภลักษณ์ อัมพุช” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด เป็นแม่ทัพสร้างอาณาจักรให้เจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง เมื่อธุรกิจค้าปลีกถูกป่วนจากดิจิทัล สร้างการเปลี่ยนแปลงให้ตลาด พฤติกรรมผู้บริโภคสะเทือนผู้ประกอบการต้องปรับตัวกันยกใหญ่ ดึงเทคโนโลยี นำดิจิทัลเข้ามาเชื่อมออฟไลน์ สู่ออนไลน์ การเป็นศูนย์การค้าดึงขาช้อปไม่เพียงพอ ต้องเป็นพื้นที่ใช้ชีวิตเติมสุขให้คนในครอบครัว
ปี 2562 “ศุภลักษณ์” ยึดโรงภาพยนตร์สยามภาวลัย ประกาศโรดแมพแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี แก่ผู้บริหารในงานประชุมใหญ่ประจำปี “TMG TOWN HALL : TOGETHER WE CAN” พร้อมเผยโฉมผู้บริหารดับสูงใหม่ เพื่อลุยโปรเจคศูนย์การค้า มุ่งสู่เป้าหมายใหญ่เป็น “จิ๊กซอว์” ที่จะเปลี่ยนเกมค้าปลีก(Game Changer)ในประเทศไทย สลัดภาพศูนย์การค้าแบบเดิมๆ และก้าวเป็น “บรรษัทข้ามชาติ” หรือ Multinational company เพื่อไปถึงเป้าที่วางไว้ จึงต้องเกิด "เอ็ม ทรานส์ฟอร์เมชั่น"(M TRANSFORMATION) เธอเปิดฉากเล่า
เดอะมอลล์เป็นธุรกิจครอบครัว มี “ทายาท” หลักๆร่วมบริหารคือพี่น้อง “สุทธิพงษ์-อัจฉรา อัมพุช” ส่วนหลานๆจะนั่งเก้าอี้บริหารได้ต้องฝ่าด่านพิสูจน์ฝีมือให้เป็นที่ประจักษ์ก่อน ขณะที่คนเก่าแก่หลายรายอยู่ในวัยเกษียณ ตลอดจนความสนใจแปลงบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็น “มหาชน” จึงลงตัวในการจัดขุนพลแม่ทัพนายกองใหม่ โดยเฉพาะดึงมือเก๋าบริหารธุรกิจระดับโลกมาร่วมงาน มีประสบการณ์ทำงานในห้างวอลมาร์ท สหรัฐ, ห้างสรรพสินค้าแกลเลอรี ลาฟาแยต, บิ๊กซี ลาซาด้าและดีลอยต์(DELOITTE) เป็นต้น มาคุมทัพส่วนต่างๆ เช่น ด้านรีเทล ดูแลทุกห้างสรรพสินค้า ทุกศูนย์การค้า สินค้าแฟชั่น ด้านเทคโนโลยี เป็นต้น
“เดอะมอลล์ก้าวเข้าสู่ปีที่ 38 เราเรียกว่าเป็น เอ็ม ทรานส์ฟอร์เมชั่น โดยเรามีเป้าหมายเปลี่ยนผ่านองค์กรให้เป็นมัลติเนชั่นแนล คัมปะนี พลิกภาพธุรกิจโลคัลใหม่ ดึงมือบริหารจากปลายประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐ เยอรมนี ฝรั่งเศส สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ฯ มาร่วมงาน เพื่อเสริมองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รองรับการแข่งขันค้าปลีกในอนาคตจะมีความรุนแรงขึ้น และการแข่งขันไม่จำกัดแค่คู่แข่งในประเทศหรือโลคัลแต่เจอผู้เล่นระดับโลก เราจึงต้องเตรียมตัวให้พร้อม”
การมีมืออาชีพมาเคลื่อนธุรกิจยังเป็นการ “กระจายอำนาจ”ในมือของเธอด้วย เนื่องจากที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นหน่วยธุรกิจไหน ขออนุมัติโปรเจคใดต้องมีลายเซ็นต์ “ศุภลักษณ์” กลายเป็นงานจำนวนมหาศาลมากองที่เธอ
การลงทุนขยายธุรกิจยังเป็นกลยุทธ์สำคัญในการเบ่งอาณาจักรค้าปลีก เดอะมอลล์จึงกางแผน 6 ปี เทงบลงทุน 80,000-100,000 ล้านบาท พัฒนาศูนย์การค้าแห่งใหม่ ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่อง เช่น แบงค็อกมอลล์ มิกซ์ยูส มูลค่าราว 50,000 ล้านบาท พื้นที่โครงการกว่า 1.2 ล้านตารางเมตร(ตร.ม.) บนเนื้อที่กว่า 100 ไร่ บริเวณสี่แยกบางนา ซึ่งมี “ชาลี โสภณพนิช” เป็นหุ้นส่วน
พัฒนาศูนย์การค้า ดิ เอ็มสเฟียร์ มูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท พื้นที่ 200,000 ตร.ม. เติมเต็มดิ เอ็มดิสทริคให้ครบทั้ง ดิ เอ็มโพเรียม ดิ เอ็มคอวเทียร์ รวมมีพื้นที่ 650,000 ตร.ม. และมีการปรับโฉมศูนย์การค้าเดิม ได้แก่ เดอะมอลล์ 2 และ 3(รามคำแหง)มูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท เดอะมอลล์ 5 ท่าพระ มูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาท เดอะมอลล์ 6 งามวงศ์วาน มูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาท และยังมีอีก 2 โครงการในแผนรอการพัฒนาในอนาคต ส่วนโครงการบลูเพิร์ล ภูเก็ต ยังรอดูสถานการณ์ตลาดค้าปลีกในพื้นที่ กำลังซื้อตลอดจนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะเอื้อต่อการลงทุนจังหวะใด ซึ่งการมีคู่แข่งไปเปิดก่อนเป็นการชิมลางให้เห็นสภาวะตลาดได้อย่างดี
จากแผนดังกล่าว บริษัทยังตั้งเป้าหมายจะเติบโตเท่าตัว หรือมียอดขายแตะ “แสนล้านบาท” ใน 6 ปี จากปีที่ผ่านมาปิดยอดขายที่ 58,000 ล้านบาท
อีกสิ่งที่เข้ามามีอิทธิพลต่อค้าปลีกคือดิจิทัล ชอปปิงออนไลน์ ทำให้การพัฒนาศูนย์การค้าภายใต้คอนเซปต์เดิมๆ เป็นแหล่งให้ลูกค้ามาซื้อสินค้า ใช้ชีวิต ไม่เพียงพออีกต่อไป “ศุภลักษณ์” ต้องการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้วงการค้าปลีกไทย โดยชู “เอ็นเตอร์เทนเมนต์” เป็นจุดขายใหม่ สร้างจุดแข็งให้ประเทศ ดึงนักท่องเที่ยวทั่วโลกใช้บริการ หนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอีกระดับ เพราะในระดับโลกนักท่องเที่ยวที่เสพความบันเทิงจะมีการใช้จ่าย “สูง” กว่านักท่องเที่ยวเชิงศิลปะและวัฒนธรรม
ขณะที่พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวเหล่านี้ จะเริ่มใช้ชีวิตตั้งแต่ 22-23.00 น.ไปจนถึงรุ่งสาง ทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศไทยยาวนาน 24 ชั่วโมง เช่นเดียวกับมหานครอื่นในโลก เช่น ดูไบ ปารีส เวียดนาม มีความบันเทิงให้ใช้บริการถึงตี 5
“เรามีเป้าหมายจะเปลี่ยนมหานครกรุงเทพฯให้เป็นศูนย์กลางด้านเอ็นเตอร์เทนเมนต์ แข่งเทียบชั้นเซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง ปารีส ลอนดอน”
เดอะ มอลล์ จึงเตรียมผนึกกำลังผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เช่น โรงแรมฯ เพื่อยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่ของไทยหลังการเลือกตั้ง ในการร่วมกันพัฒนาโครงการเอ็นเตอร์เทนเมนต์ให้เป็นศูนย์กลางของไทยและเอเชีย ซึ่งขณะนี้ได้เตรียมนำโมเดลความบันเทิงของมาเลเซีย ที่อิบิซ่า(Ibiza) ประเทศสเปนมาดูแลให้ ขณะเดียวกันเธอยังเดินทางไปดูงานเอ็นเตอร์เทนเมนต์ระดับโลก เช่น งานประกาศรางวัลแกรมมี่ อวอร์ด ซึ่งเออีจี เป็นเจ้าของในฐานะพันธมิตรใหม่ของเดอะมอลล์ด้วย
การพัฒนาห้างค้าปลีก ใช้สูตรเดิมไม่ได้แล้ว ตลอดระยะเวลากว่า 3 ทศวรรษที่เดอะมอลล์ ประสบความสำเร็จในตลาด เพราะเราใช้สูตร All in one ใส่ทุกอย่างให้มากที่สุด แต่สูตรใหม่ต้องมีขีปณาวุธ เป็นอาวุธลับใหม่ ต้องมีสิ่งที่ดึงดูด เหนือกาลเวลา โดยใช้ประสบการณ์เก่า และประสบการณ์ใหม่จากมืออาชีพมาช่วยกัน
“ธุรกิจค้าปลีกไม่ว่ากี่ยุคกี่สมัยการเปลี่ยนแปลงสำคัญคือการพยายามปรับตัวของผู้ประกอบการ อย่าคิดว่าตัวเองแน่ หากไม่มีปรับตัวจะเป็นเหมือนไดโนเสาร์ เราไม่ใช่ดีที่สุด ไม่อหังการว่าเราดีที่สุด ถ้าคิดแบบนั้นเมื่อไหร่..จบ! เหนือฟ้ายังมีฟ้า จึงต้องเรียนรู้ตลอด มีผิดพลาดตรงไหนบ้าง”