'บีอีเอ็ม–สี่แสงโยธา' ดอดซื้อซองประมูลด่านมอเตอร์เวย์
"บีอีเอ็ม–สี่แสงโยธา" พร้อมชิงเค้กบริหารจัดเก็บค่าผ่านทาง ดอดซื้อซองประมูลมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช และบางใหญ่ - กาญจนบุรี 6.1 หมื่นล้าน ทล.ตั้งเป้าประมูลกลางปี ลงนามสัญญาทัน ธ.ค.นี้
นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า วันนี้ (5 มี.ค.) ทล.จำหน่ายเอกสารข้อเสนอร่วมลงทุน (RFP) ดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) โครงการมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา 196 กิโลเมตร (กม.) และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี 96 กม. เงินลงทุนกว่า 61,000 ล้านบาทเป็นวันที่ห้า โดยมีเอกชนเข้ามาซื้อเอกสารข้อเสนอเพิ่มอีก 2 ราย คือ บริษัท สี่แสงการโยธา (1979) จำกัด และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บีอีเอ็ม)
โดยสรุปสิ้นสุดวันที่ 5 มี.ค.2562 มีเอกชนที่ซื้อซองเอกสารข้อเสนอร่วมลงทุน แบ่งออกเป็น มอเตอร์เวย์สายบางปะอิน - นครราชสีมา จำนวน 9 ราย ประกอบไปด้วย 1.บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) 2.บริษัท ทางยกระดับดอนเมืองจำกัด (มหาชน) 3.บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) 4.บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จํากัด (มหาชน) 5.บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) 6. บริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด 7.บริษัท ซิโน - ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) 8.บริษัท สี่แสงการโยธา (1979) จำกัด และ 9.บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
ขณะที่มอเตอร์เวย์ สายบางใหญ่ - กาญจนบุรี มีจำนวน 8 ราย ประกอบไปด้วย 1.บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) 2.บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) 3.บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จํากัด (มหาชน) 4.บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) 5. บริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด 6.บริษัท ซิโน - ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) 7.บริษัท สี่แสงการโยธา (1979) จำกัด และ 8.บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
ทั้งนี้ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน - นครราชสีมา มีด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง จำนวน 9 แห่ง ส่วนสายบางใหญ่-กาญจนบุรี มีด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง จำนวน 8 แห่ง โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ระยะๆ ระยะที่ 1 เอกชนออกแบบและลงทุนก่อสร้างงานระบบและองค์ประกอบอื่นๆ ระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี 6 เดือน โดยทรัพย์สินที่เอกชนลงทุนก่อสร้างเป็นกรรมสิทธิ์ของ ทล. และระยะที่ 2 เอกชนดำเนินงานและบำรุงรักษาโครงการทั้งหมด ทั้งส่วนงานโยธาที่ ทล.เป็นผู้ลงทุนและงานส่วนที่เอกชนเป็นผู้ลงทุน โดยเอกชนเป็นผู้ดำเนินการบริหารจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางและมอบให้ ทล. ระยะเวลาสัญญาไม่เกิน 30 ปี นับแต่เปิดให้บริการ ซึ่งรายได้ค่าผ่านทางทั้งหมดจะเป็นกรรมสิทธิ์ของภาครัฐ
ขณะที่ผลตอบแทนที่รัฐจะจ่ายกลับคืนให้เอกชน (AP) แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1. ค่าลงทุนก่อสร้างงานระบบ และ 2. ค่าจ้าง การดำเนินงานและบำรุงรักษาโครงการ (O&M) ซึ่งหากเอกชนไม่สามารถบริหารจัดการได้ตามเงื่อนไขที่ตกลงไว้ ทล.จะคิดค่าปรับตามเงื่อนไขข้อกำหนดตามสัญญา สำหรับการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการ ทล.จะเร่งเดินหน้าดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2561 โดยมีลำดับขั้นตอนหลังดำเนินงาน แบ่งออกเป็น ก.พ.2562 ประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน และเริ่มขายซองเอกสารเป็นระยะเวลา 1 เดือน ระหว่างวันที่ 27 ก.พ. - 27 มี.ค.2562 หลังจากนั้นจะให้เวลาเอกชนจัดทำเอกสาร อีก 3 เดือน เพื่อเตรียมยื่นข้อเสนอประมูลโครงการ ทั้งนี้ ทล.คาดว่าจะประเมินข้อเสนอและเจรจาขออนุมัติผลการคัดเลือกแล้วเสร็จในเดือน ต.ค.-พ.ย.นี้ และเสนอขออนุมัติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อลงนามสัญญาในเดือน ธ.ค.2562