'บลูเทค' ลุ้นผังเมืองสีม่วง
"บลูเทค ซิตี้" ดึงลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ หุ่นยนต์ แสนล้าน คาดเต็มพื้นที่ภายใน 5 ปี เผย รอสรุปผังเมืองอีอีซี มั่นใจเดินหน้าอีไอเอ เสร็จภายใน ต.ค. นี้ ยืนยันสร้างนิคมตามหลักวิชาการ ไม่ขวางทางน้ำ เตรียมพื้นที่ 12 ไร่ 50 แปลง เยียวยาชุมชนในพื้นที่
โครงการนิคมอุตสาหกรรมบลูเทค ซิตี้ ฉะเชิงเทรา เป็นอีกโครงการที่ถูกชุมชน ต.เขาดิน อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ยื่นหนังสือคัดค้านต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ในขณะที่โครงการนี้ยังไม่ได้ประกาศเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ ไม่เฉพาะโครงการนิคมอุตสาหกรรมบลูเทค ซิตี้ ที่ถูกคัดค้าน แต่ยังมีอีกหลายโครงการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ถูกชุมชนในพื้นที่ยื่นหนังสือคัดค้านการพัฒนา เช่น โครงการจัดตั้งสถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์ (ไอซีดี) ฉะเชิงเทรา โครงการนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี โครงการ 2 พื้นที่ 6,000 ไร่
น.ส.กุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ผู้บริหารบริษัท ดับเบิล พีแลนด์ จำกัด และผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทราบลูเทค ซิตี้ เปิดเผยว่า โครงการนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทราบลูเทค ซิตี้ มีพื้นที่โครงการรวม 2,500 ไร่ ในจำนวนนี้จะเป็นพื้นที่สีเขียวและพาณิชยกรรม 500 ไร่ เพื่อเป็นแนวกันชนและสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้นิคมอุตสาหกรรม มีพื้นที่รองรับอุตสาหกรรม 2,000 ไร่ คาดว่าใช้เงินลงทุนพัฒนาสาธารณูปโภค และสร้างโรงงาน 1.05 แสนล้านบาท รองรับโรงงานได้ 14 แห่ง และจะมีโรงงานเข้ามาเต็มพื้นที่ภายใน 5 ปี
เร่ง “อีเอไอ” หลังคลอดผังเมือง
สำหรับความคืบหน้าอยู่ระหว่างการรอผังเมืองรวมอีอีซี ที่ต้องปรับผังสีในบริเวณนี้ให้เป็นสีม่วง เพื่อประกอบกิจการอุตสาหกรรม ซึ่งที่ผ่านมาลงพื้นที่สอบถามความคิดเห็นจากชุมชนแล้ว ซึ่งคาดว่าผังเมืองฉบับใหม่จะประกาศได้ในเดือน ส.ค.นี้ และถ้าปรับเป็นผังสีม่วงแล้วก็จะเริ่มทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ทันที และจะเสร็จในเดือน ก.ย.-ต.ค.นี้ เพราะร่างแบบโครงสร้างในนิคมอุตสาหกรรมไว้แล้ว จากนั้นจะเริ่มงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทันที
น.ส.กุลพรภัสร์ กล่าวว่า ได้ออกแบบนิคมอุตสาหกรรมตามหลักวิชาการอย่างเข้มงวด ซึ่งจะไม่มีสิ่งกีดขวางลำคลองธรรมชาติที่ผ่านพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 4-5 สาย โดยเมื่อพัฒนาเสร็จแล้วจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านลำคลองไม่ต่ำกว่าปริมาณที่ไหลผ่านก่อนพัฒนานิคมนิคมอุตสาหกรรม และได้นำแผนที่น้ำท่วมในรอบ 100 ปี มาประกอบการออกแบบ รวมทั้งตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐ เอกชน และชุมชนเพื่อมาดูแลระหว่างก่อสร้างและหลังก่อสร้าง เพื่อไม่ให้กระทบต่อความเป็นอยู่ชุมชน
ส่วนปัญหากับชุมชนที่ผ่านมา ได้ลงพื้นที่หารือกับชุมชนใกล้ชิดเพื่อชี้แจงรายละเอียดและมาตรการช่วยเหลือ โดยพื้นที่ทั้งหมด 3,000 ไร่ ได้ซื้อจากเจ้าของที่ดินอย่างถูกต้อง แต่ปัญหาเกิดจากผู้ที่เช่าที่ดินทำกินต่อจากเจ้าของที่ดิน ซึ่งเป็นหน้าที่ของเจ้าของที่ดินในการแก้ปัญหา แต่บริษัทเข้าไปช่วยเยียวยาผลกระทบให้ผู้เช่าที่ดินทุกราย เช่น จ่ายชดเชยให้ในอัตราที่เหมาะสมเพื่อไปเช่าที่ทำกินแห่งใหม่
เตรียมแผนเยียวยาชุมชน
นอกจากนี้ ได้เตรียมพื้นที่ 12 ไร่ ฝั่งตรงข้างถนนของที่ดินเดิม จัดแบงพื้นที่แปลงละ 50 ตารางวา รวม 50 แปลง เพื่อให้ชุมชนที่หาที่อยู่ใหม่ไม่ได้มาเช่าหรือผ่อนซื้อ โดยกรณีเช่าจะคิดอัตราวันละ 10 บาทหรือเดือนละ 300 บาท หรือกรณีผ่อนซื้อจะผ่อนเดือนละ 3,000 บาท ปลอดดอกเบี้ย 10 ปี และบริษัทจะสร้างบ้านให้ถ้าไม่มีเงินสร้างบ้าน แต่ต้องตรวจสอบประวัติและเป็นผู้มีรายได้น้อยจริง โดยบริษัทเตรียมทำสัญญากับชาวบ้าน และสร้างสาธารณูปโภคให้ ซึ่งค่าเช่าที่เก็บได้จะนำไปใช้ดูแลสาธารณูปโภค
“ในหมู่บ้านนี้บริษัทฯ จะเข้าไปสร้างสาธารณูปโภค ไฟฟ้า น้ำประปา ถนนคอนกรีตภายในโครงการทั้งหมด และมีบ่อบ้ำในพื้นที่ให้ชาวบ้านใช้สอย ซึ่งเชื่อว่าสภาพความเป็นอยู่จะดีกว่าเดิมอย่างแน่นอน ซึ่งชาวบ้านผู้ที่เช่าที่ดินได้รับผลกระทบ 17 ราย แต่ที่บริษัทสร้างเผื่อไว้ถึง 50 แปลง ก็เพื่อให้ชาวบ้านที่ยากจนในบริเวณนี้ได้เข้ามาพักอาศัยมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น”
รองรับลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า
น.ส.กุลพรภัสร์ กล่าวว่า ในนิคมอุตสาหกรรมบลูเทคจะมีสัดส่วนโรงงานยานยนต์ 60% คือ โรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้า โรงงานแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า โรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ส่วนโรงงานหุ่นยนต์และชิ้นส่วน 40% ซึ่งจะเป็นอุตสาหกรรมที่ปลอดมลพิษ
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการหลักที่จะตั้งโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมจะเป็นกลุ่ม บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ที่จะตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ ใช้เงินลงทุนเฟส 1 รวม 5,000 ล้านบาท โดยโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจะใช้งบลงทุน 2,500-3,000 ล้านบาท ตั้งเป้ากำลังการผลิต 5,000 คันต่อปี ในระยะแรก และจะขยายกำลังการผลิตเป็น 20,000 คันต่อปีในอนาคต
ส่วนโรงงานแบตเตอรี่ จะมีกำลังการผลิต 50 กิกกะวัตต์ ซึ่งโรงงานแบตเตอรี่นี้จะเริ่มผลิตตั้งแต่เทคโนโลยีขั้นแรกไปจนเสร็จสิ้นเป็นแบตเตอรี่ทั้งชิ้นพร้อมติดตั้งในรถยนต์ไฟฟ้า ทำให้ประเทศไทยมีเทคโนโลยีชนิดนี้ตั้งแต่เริ่มแรกทั้งระบบ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีจากไต้หวันและได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แล้ว
มั่นใจไม่กระทบสิ่งแวดล้อม
น.ส.กุลพรภัสร์ กล่าวว่า กรณีชุมชนกังวลผลกระทบจากโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน จะกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งในประเด็นนี้ผู้ประกอบการที่จะตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ ได้ศึกษาเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่แบบลิเทียมไอออนต้นแบบจากไต้หวัน ซึ่งเป็นโรงงานสะอาดเหมือนโรงงานอิเล็กทรอนิกส์ และการผลิตทุกส่วนอยู่ในระบบห้องสะอาด รวมทั้งมีกระบวนการผลิตไม่มีน้ำเสีย
รวมทั้งโรงงานแบตเตอรี่ของไต้หวัน มีการจัดสร้างอยู่ในแหล่งชุมชน ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่าอุตสาหกรรมสมัยใหม่ไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนอยู่รวมกันได้ และคาดว่าจะเกิดการจ้างงานในท้องถิ่นกว่า 20,000 ตำแหน่ง
“โรงงานรถยนต์ไฟฟ้าที่ตั้งในนิคมอุตสาหกรรมจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ ไมน์ โมบิลิตี้ ของคนไทยผลิตโดยฝีมือคนไทยแห่งแรก และในอนาคตนอกจากแบตเตอรี่แล้วจะตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนสำคัญอื่นๆ เช่น มอเตอร์ ระบบควบคุมพลังงาน และล่าสุดได้ผลิตเรือโดยสารไฟฟ้าอีกด้วย”