'สุวัจน์' โชว์วิชั่นนโยบาย 5G แนะคิดใหม่มุ่งให้สิทธิ์พิเศษ-ภาษี
ชี้เพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน ไม่เอารายได้เข้ารัฐเป็นตัวตั้ง พร้อมชูนโยบายแก้หนี้แก้จน มุ่งจัดการที่ต้นทาง เสนอตั้งกองทุนสวัสดิการเกษตรกร 2 หมื่นล้าน อัพเกรดเกษตรกรเป็น Smart Farmer ช่วยโชห่วยให้เท่าทัน "โมเดิร์นเทรด" สู้เศรษฐกิจเสรี
เมื่อวันที่ 13 มี.ค. ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดเวทีดีเบต เรื่อง การขับเคลื่อนเรื่องประชาชนและเอกชนให้ความสนใจ โดยให้พรรคการเมืองร่วมแสดงวิสัยทัศน์ถึงแนวคิดที่จะทำให้ประเทศไทยเจริญก้าวหน้าใน 4 ปี ข้างหน้า เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กระจายรายได้ เพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขัน รวมถึงแนวทางการใช้งบประมาณอย่างโปร่งใสและปราศจากการคอร์รัปชันจะเป็นอย่างไร
นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ว่า การทำให้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ ไอที เพื่อให้ประเทศไทยมีคุณภาพทัดเทียบต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ หรือ มาเลเซีย ฯลฯ สามารถดึงดูดการลงทุนและการแข่งขันกับต่างประเทศได้ ประเทศต้องพัฒนาโครงข่าย 5G เนื่องจากเศรษฐกิจด้านเทคโนโลยี เพราะประเทศไทยเข้าสู่ยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมขั้นที่ 4 หากประเทศไทยปรับตัวตามไม่ทันจะแพ้ต่างชาติ เพราะเทคโนโลยีมีผลกระทบโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและค้าโดยตรง จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 5 G ให้ได้ภายใน 2 ปี
“การพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ มีความสำคัญมากต่อการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เช่น ด้านการแพทย์หรือการศึกษาระหว่างคนจนกับคนรวย เช่น การเข้าถึงเทคโนโลยีทางการแพทย์ของคนจน ต่อไปประชาชนอาจไม่ต้องเดินทางไปรักษาพยาบาลด้วยตัวเองที่โรงพยาบาล แต่นำเทคโนโลยี 5G มาใช้เป็นเครื่องมือให้ประชาชนเข้าถึงทางการแพทย์” นายสุวัจน์ กล่าว
นายสุวัจน์ กล่าวขยายความอีกว่า การพัฒนาโครสร้างพื้นฐาน 5 G ด้านการส่งเสริมการลงทุนในการเชิญนักลงทุนต่างชาติเข้ามา ต้องเปลี่ยนวิธีการใหม่ คือ ไม่ควรยึดระบบการประมูลหรือจัดซื้อจัดจ้างแบบเดิมๆ ที่ยึดเรื่อง ราคาและผลตอบแทนที่ภาครัฐจะได้รับเป็นตัวตั้ง แต่ควรปรับมุมมองใหม่ เน้น “Indirect Benefits” คือ ต้องให้ความสำคัญต่อผลตอบแทนทางอ้อมที่จะเกิดขึ้น สามารถลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ เพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขัน หรือเป็นประโยชน์ทางการศึกษา สาธารณสุข สังคมหรือสิ่งแวดล้อม เพราะที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าการประมูลโดยยึดผลตอบแทนด้านเม็ดเงินหรือรายได้เข้ารัฐไม่ประสบความสำเร็จด้านการพัฒนา
“วันนี้ต้องส่งเสริมภาครัฐ และเอกชน ให้ก้าวทันในการปรับตัวด้านไอที อย่างจริงจังโดยเฉพาะ สิทธิ์ประโยชน์ทางภาษีที่เกี่ยวข้องจากการนำเทคโนโลยีมาใช้ที่ตอบสนองด้านเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น เช่น รถยนต์ที่ผลิตออกมาแล้วหากลดผลกระทบด้านก๊าซเรือนกระจก หรือ โลกร้อน จะได้รับสิทธิ์พิเศษทางภาษีอีกรูปแบบหนึ่ง ดังนั้นสิทธิ์ประโยชน์ด้านการลงทุน หรือ ภาษี ต้องเน้นผลประโยชน์ทางอ้อม หรือ Indirect Benefits มากกว่าตัวเงิน” นายสุวัจน์ กล่าว
สำหรับแนวทางในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนโดยเฉพาะในภาคเกษตร นายสุวัจน์ กล่าวว่า ต้องเน้นแก้ปัญหาที่ต้นน้ำ เพราะคนยากจนส่วนใหญ่ที่เป็นหนี้ครัวเรือน เฉลี่ย 1.8 แสนบาทต่อคน ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือล้วนเป็นเกษตรกร หรือ ผู้ประกอบการรายย่อย จากปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ซึ่งทางพรรคชาติพัฒนามีนโยบาย ดังนี้ ต้องพัฒนาเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer ต้องปรับโครงสร้างการเกษตรที่ต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อลดต้นทุนการผลิต จัดตั้งกองทุนสวัสดิการเกษตร 2 หมื่นล้านบาท เพื่อยกระดับและพัฒนาเกษตรกร พร้อมกับเสริมสร้างความเข้มแข็งต่อผู้ประกอบการราย่อย (เอสเอ็มอี) ด้วยการเข้าไปช่วยเหลือด้านความรู้ความเข้าใจเทคโนโลยีมาใช้ด้านการผลิตและตลาด เช่น ตลาดออนไลน์ หรือ อี- คอมเมริ์ท และ การส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เป็นเศรษฐกิจรากหญ้าได้เข้มแข็งและมีรายได้เข้าสู่หมู่บ้านและชุมชน ด้วยการบูทการท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวภาคอีสานเพิ่มขึ้น ด้วยการนำจุดแข็งวิถีชุมชนวิถีวัฒนธรรมเช่น สินค้าโอทอป อาหารพื้นเมือง หรือแหล่งท่องเที่ยวเอกลักษณ์ นี่ คือ แนวทางการแก้ปัญหาความยากอย่างยั่งยืนที่พรรคชาติพัฒนาต้องการเข้ามาทำงานให้กับพี่น้องประชาชน
ขณะที่การแก้หนี้นอกระบบระยะสั้น คือ ต้องนำหนี้นอกระบบให้เข้ามาอยู่ในระบบพิโกไฟแนนซ์ หรือ นาโนไฟแนนซ์ หรือการนำหนี้นอกระบบเข้าสถาบันการเงินของภาครัฐ แทนที่จะไปเป็นหนี้นอกระบบเสียอัตราดอกเบี้ยสูง และ ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของลูกหนี้ด้วย จากเคยเป็นเกษตรต้องปรับเปลี่ยนไปสู่แรงงานภาคอุตสาหกรรมด้วย
“เศรษฐกิจรากหญ้าในชนบท การแข่งขันทางการค้าเป็นเรื่องสำคัญ ที่ต้องดูแลโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย หรือ โชห่วย ต้องส่งเสริมให้นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เช่น การค้าออนไลน์ เพื่อให้สามารถแข่งขันกับโมเดิร์นเทรดได้ ที่ขณะนี้เข้าไปในหมู่บ้าน หรือ ชุมชน แทบทุกแห่ง ผู้ประกอบการรายย่อยต้องได้รับการคุ้มครอง ให้ต่อสู้และอยู่ได้ในเศรษฐกิจเสรี ให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถค้าขายตลาดในประเทศหรือสากลได้” นายสุวัจน์ กล่าว
นายสุวัจน์ กล่าวเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันว่า จากการออกใบอนุญาตต่างๆและการสร้างระบบเพื่อเอื้อต่อนักลงทุนและส่งเสริมภาคธุรกิจให้มีประสิทธิภาพในการออกใบอนุญาต คือ การบริการต้องจบในจุดเดียว หรือ One Stop Service มีความสำคัญมาก รวมถึงต้องบูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมารับรับรองใบอนุญาต (Package Deal) เพื่อทำให้เกิดประสิทธิภาพด้านการลงทุน สำหรับนโยบายพรรคชาติพัฒนา คือ ต้องสร้างระบบที่รวดเร็ว ชัดเจน และ เข้าถึงได้ง่าย นี่คือวิธีพลิกฟื้นความเชื่อมั่นด้านการค้าการลงทุน และหลังเลือกตั้งจะทำให้ต่างชาติเข้ามาเพราะเกิดความมั่นใจ
“อยากยกตัวอย่างเรื่องจริงที่นักลงทุนต่างชาติเจอ เรื่องซื้อที่ดินที่มีโฉนดถูกต้องตามกฎหมาย แต่ต่อมากลับถูกเพิกถอน โดยไม่รู้สาเหตุและไม่ทราบประวัติที่มาที่ไปของที่ดิน เป็น นส. 3 หรือ สปก. แต่ผ่านมาเมื่อ 5 - 10ปี กลับถูกเพิกถอน ดังนั้นการออกใบอนุญาต ต้องมีข้อมูลย้อนหลังบริการนักลงทุนด้วย” นายสุวัจน์ กล่าว
นายสุวัจน์ กล่าวปิดท้ายว่า อนาคตการพัฒนาประเทศ ต้องทำสิ่งที่ยั่งยืน ประเทศไทยถนัดและสามารถกระจายรายได้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึงและแท้จริง ด้วยการนำ 2 จุดแข็งของประเทศมาแข่งขัน คือ
1.จุดแข็งภาคเกษตร เช่น ข้าว อ้อย ยางพารา หรือ มันสำปะหลัง ต้องพัฒนาภาคเกษตรให้ประเทศไทยกลายเป็นมหาอำนาจ เป็นเหมือนองค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน หรือ โอเปค เช่น ยางพาราที่ผลิตได้ปีละ 4 ล้านตัน ต้องแปรรูปเพื่อส่งออกเป็นสินค้าสินค้าอุตสาหกรรม เพราะสามารถเพิ่มมูลค่าสูงกว่าการส่งออกเป็นสินค้าเกษตร เพราะภาคเกษตรสามารถทำให้ไทยเป็นมหาอำนาจทางอาหาร ไม่ว่าเทคโนโลยีจะก้าวหน้าไปอย่างไร แต่ทั่วโลกยังคงต้องการอาหาร
และ 2 . จุดแข็งด้านการท่องเที่ยว ต้องผลักดันโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว เช่น มอเตอร์เวย์ รถไฟความเร็วสูง หรือ สร้าง “มารีน่า” เพื่อมาเชื่อมโยงและสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว และอำนวยความสะดวกแหล่งท่องเที่ยวฝั่งอ่าวไทยที่ปัจจุบันยังไม่มี พร้อมสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน สตาร์ทอัพ หรือผู้ประกอบการรายย่อย เช่น สินค้าโอทอป หรือ อาหารพื้นเมืองพื้นถิ่น ต้องทำให้นักท่องเที่ยวได้รู้จัก และมาเที่ยวเมืองไทย รวมถึงการสนับสนุนโครงการพัฒนาการท่องเที่ยวในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันตก หรือ Thailand Riviera เพื่อประโยชน์ในการรักษา ฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว หรือ การบริหารและพัฒนาการท่องเที่ยวให้เป็นเครื่องมือในการกระจายรายได้