สศค.เผยผลผลิตและรายได้การเกษตร เดือนก.พ.เป็นบวกในรอบ22ด.

สศค.เผยผลผลิตและรายได้การเกษตร เดือนก.พ.เป็นบวกในรอบ22ด.

สศค.เผยเศรษฐกิจไทยก.พ. มีสัญญาณทรงตัว จากการบริโภคเอกชน-ภาคอุตสาหกรรม-ท่องเที่ยวชะลอ แต่ส่งออกยังขยายตัว ขณะที่ดัชนีผลผลิตการเกษตรและรายได้เกษตรกรยังขยายตัวต่อเนื่องตามราคาสินค้าเกษตรกลับมาขยายตัวเป็นบวกในรอบ22เดือน

นายวโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ว่า เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณทรงตัว โดยการบริโภคภาคเอกชนสะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บได้ปรับตัวลดลงเล็กน้อย ในขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งยังขยายตัวได้ดี 

สำหรับการลงทุนภาคเอกชนที่สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ และภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง แต่ปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์และเหล็กกลับลดลงเล็กน้อย สำหรับด้านอุปทาน จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวชะลอลงตามนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลง และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมชะลอตัวเล็กน้อย 

อย่างไรก็ตาม ดัชนีผลผลิตเกษตรและรายได้เกษตรกรยังขยายตัวต่อเนื่องตามราคาสินค้าเกษตรกลับมาขยายตัวเป็นบวกในรอบ 22 เดือน ประกอบกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวสูงสุดในรอบ 73 เดือน ส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในและภายนอกประเทศอยู่ในเกณฑ์ที่มั่นคง 

สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคเอกชนในเดือนกุมภาพันธ์ 62 ชะลอตัวลงเล็กน้อย สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ หดตัว -0.5% ต่อปี ขณะที่การบริโภคสินค้าคงทนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งยังคงขยายตัวที่ 

9.2% ต่อปี ขณะเดียวกันปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่กลับมาขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 69.0 เนื่องจากบรรยากาศการเลือกตั้ง สถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเริ่มคลี่คลายลง การกลับเข้ามาของนักท่องเที่ยวจีน และกำลังซื้อที่สูงขึ้นเนื่องจากราคาพืชผลทางการเกษตรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

ด้านเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ยังมีการขยายตัวในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัว 9.0% ต่อปี ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 20 โดยพบว่ายอดจำหน่ายรถกระบะขนาด 1 ตันที่ขยายตัวสูงถึง 10.1% ในขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศหดตัวที่ -3.0% ต่อปี สำหรับภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวที่ 7.4% ต่อปี จากการขยายตัวในหมวดภาษีธุรกิจเฉพาะที่กรมที่ดินจัดเก็บให้ 14.8% ต่อปี ขณะที่ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างหดตัวเล็กน้อยที่ -0.1% ต่อปี โดยมีสาเหตุสำคัญจากการหดตัวของดัชนีราคาหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก และหมวดสุขภัณฑ์

อุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกสินค้าในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ขยายตัวจากปัจจัยพิเศษ โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าเท่ากับ 21.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 5.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย จะพบว่ามูลค่าการส่งออกยังคงชะลอที่ -4.9% อย่างไรก็ดี การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ และกลุ่ม ASEAN (5) ขยายตัวต่อเนื่อง สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าเท่ากับ 17.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -10.0% ต่อปี ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุลจำนวน 4.0 

พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทานในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตร ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวต่างชาติทรงตัว และภาคอุตสาหกรรมชะลอลงเล็กน้อย โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจภาคเกษตรสะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร 

ขยายตัว 3.2% ต่อปี โดยสินค้าเกษตรในหมวดพืชผลสำคัญขยายตัวที่ 3.8% หมวดปศุสัตว์ขยายตัวที่ 1.6% ขณะที่หมวดประมงหดตัวที่ -0.8% 

สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยมีจำนวน 3.57 ล้านคน ทรงตัวที่ 0.2% ต่อปี ซึ่งเป็นผลจากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่หดตัวลง -12.3% ต่อปี ขณะที่นักท่องเที่ยวประเทศอื่นยังคงขยายตัวได้ดี ได้แก่ นักท่องเที่ยวมาเลเซีย เกาหลี และญี่ปุ่น เป็นสำคัญ รายได้จากการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศมีมูลค่า 191,854 ล้านบาท หดตัวเล็กน้อยที่ -0.8% ต่อปี 

 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 105.2 หดตัวที่ -1.6% อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) อยู่ที่ระดับ 95.6 ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าด้วยความเชื่อมั่นของอุปสงค์ภายในประเทศ เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ยังอยู่ในเกณฑ์ดี และเสถียรภาพภายนอกประเทศอยู่ในระดับที่มั่นคง สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ระดับต่ำ 0.7% ต่อปี ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.6% ต่อปี

สำหรับอัตราการว่างงานอยู่ที่ 0.8% ของกำลังแรงงานทั้งหมด สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนมกราคม 2562 อยู่ที่ 41.7% ต่อ GDP ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งเพดานไว้ไม่เกิน 60% ต่อ GDP สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 อยู่ระดับสูงที่จำนวน 212.5 พันล้านดอลลาร์