“อีอีซี” หลุมหลบภัยสงครามค้า ได้เวลาทุนจีน-ยุโรป บุก...!!!
3 จังหวัด “ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง” ขึ้นแท่น“เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก”(อีอีซี) สะท้อนไทยเข้าสู่ “ยุคทองลงทุน” อีกครั้ง!! แถมส้มหล่น “สงครามการค้า”เร่งผลักดันทุนข้ามชาติ โดยเฉพาะจีน-ยุโรป ดอดจับจองพื้นที่นิคมฯไทยเพียบ
แม้การเมืองจะร้อนแรง หลังเลือกตั้ง เข้าสู่โหมดการ“จับขั้วรัฐบาล” ตามมาด้วยความกังวลว่า โครงการที่รัฐบาลเดิมดำเนินการไปนั้น จะเดินหน้าต่ออย่างราบรื่นหรือไม่ โดยเฉพาะ โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ใน 3 จังหวัดเป้าหมาย ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ที่กำลังเดินหน้า และมีแนวโน้มที่ดี จากนักลงทุนต่างชาติที่แสดงความสนใจลงทุนในพื้นที่
ความสนใจในการลงทุนในอีอีซี ยังมีมากขึ้น เมื่อปัจจัยลบนอกบ้านอย่าง “สงครามการค้า” (Trade War) ระหว่างสองมหาอำนาจเศรษฐกิจโลก “จีนและสหรัฐ” ทำให้นักลงทุนต่างชาติ “หันเห” การลงทุนจากประเทศเหล่านี้ พุ่งเป้ามายังภูมิภาคอื่นๆ รวมถึง “ภูมิภาคอาเซียน” ที่เนื้อหอมขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับสัญญาณเศรษฐกิจจีน ที่เริ่มชะลอตัว !
โดยข้อมูล “ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ” (PMI) ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของประเทศจีน ล่าสุดในเดือนธ.ค. 2561 พบว่า “ลดลง” มาอยู่ที่ระดับ 49.4 นับเป็นครั้งแรกในรอบ 18 เดือน ที่ดัชนีดังกล่าวของจีนปรับลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 สะท้อนภาคการผลิตที่ส่งสัญญาณหดตัว
ขณะที่มูลค่าส่งออกของจีนล่าสุดในเดือนพ.ย. 2561 ชะลอการขยายตัวลงเหลือ 5.4% ต่ำสุดในรอบ 8 เดือน เช่นเดียวกับตัวเลขนำเข้าของจีนในเดือนเดียวกันที่ชะลอการขยายตัวลงเหลือ 3% ต่ำสุดในรอบ 25 เดือน นับตั้งแต่เดือนต.ค. 2559 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่เริ่มชะลอลงตามภาคการผลิต
โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ยังคาดการณ์เศรษฐกิจจีน ปีนี้ว่าจะขยายตัว 6.2% ต่ำสุดในรอบ 28 ปีนับตั้งแต่ปี 2533
ทั้งนี้ “ไทย” ถือเป็นหนึ่งประเทศในอาเซียนที่กำลังอยู่ในความสนใจของนักลงทุนต่างชาติ โดยมีปัจจัยหนุนสำคัญจากสิทธิประโยชน์การลงทุนในพื้นที่ EEC และทำเลที่ตั้งไทย ยังเป็นชัยภูมิที่ดีในการกระจายการค้า-ลงทุนในอาเซียน !
ในมุม“การลงทุนต่างชาติ” จึงอาจเรียกได้ว่า ไทยได้รับอานิสงส์จากสงครามการค้าครั้งนี้ !! โดยเฉพาะ “ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม” ซึ่งขณะนี้เหล่าผู้ประกอบการนิคมฯกำลังไขว่คว้า “โอกาสทอง” ที่ว่านี้
โดดเด่นสุด ยกให้ บมจ. ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น หรือ WHA และ บมจ. อมตะ คอร์ปอเรชัน หรือ AMATA ที่เมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา ได้เข้าไปซื้อที่ดินหลายแปลงเพื่อดักโอกาสการลงทุนไว้แล้ว
ขณะที่ “คณิศ แสงสุพรรณ” เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือบอร์ด EEC ประเมินว่า ในปีนี้มูลค่าโครงการขอรับส่งเสริมการลงทุนจากโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับ EEC จะมี “ไม่น้อยกว่า 3 แสนล้านบาท”
“EEC จะสร้างการลงทุนไม่น้อยกว่า 3 แสนล้านบาทต่อปี สร้างงานใหม่ไม่น้อยกว่า 1 แสนอัตราต่อปี ทำให้เศรษฐกิจไทย (GDP) ขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2% และลดการเหลื่อมล้ำระหว่างคนกรุงเทพฯ กับคนใน EEC ที่สำคัญคือ เป็นการปรับโครงสร้างประเทศไทยสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ที่ใช้เทคโนโลยีมาช่วยสร้างรายได้ และการดำรงชีวิตของประชาชนทุกคน”
คณิศ ยังระบุว่า การลงทุน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายใน EEC พบว่า ดีกว่าที่ประเมินจากมูลค่าการขอรับส่งเสริมการลงทุนที่เพิ่มขึ้นกว่า 200% ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดย GDP ขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 3.3% ในปี 2559 มาเป็น 4.2% ในปี 2561 และการลงทุนเอกชนขยายตัวเป็นบวก 3 ปีติดต่อกัน
ในส่วนการขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจค) 5 โครงการเชื่อมพื้นที่ EEC ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สุวรรณภูมิ ดอนเมือง อู่ตะเภา) โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานสนามบินอู่ตะเภา (MRO) , โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก , โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และ โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 มูลค่าประมาณ 6.5 แสนล้านบาท คาดว่าจะได้เอกชนร่วมทุนครบ โดยเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติในเดือน เม.ย.นี้
“จรีพร จารุกรสกุล” ประธานคณะกรรมการบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ. ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น หรือ WHA เล่าให้ “กรุงเทพธุรกิจ BizWeek” ฟังว่า ปัจจุบันยอมรับว่ามีผู้ประกอบการต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนในนิคมฯของ WHA จำนวนมาก โดยเฉพาะ จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน และยุโรป โดดเด่นสุดคงยกให้ “ทุนจีน” ซึ่งในปี 2561 มีสัดส่วนลูกค้าจีน “ระดับ 41%” ของพอร์ตรวม
การเข้ามาของลูกค้าจีนจำนวนมาก “จรีพร” สำทับว่า มาจาก 3 เหตุผล คือ 1.เรื่องของสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ 2.ข้อจำกัดเรื่องการลงทุนในจีน และต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และ 3. กรณีปัญหา “หัวเว่ย” ยักษ์โทรคมนาคมของจีน (พิพาทกับสหรัฐ) ทำให้ผู้ประกอบการจีนปรับตัวหา “ที่หลบกระสุนสงคราม” แห่งใหม่ เพื่อให้เกิดความเสียหายต่ออนาคตของธุรกิจน้อยที่สุด ซึ่งประเทศไทยถือเป็นยุทธศาสตร์ที่ดีสุดในอาเซียน จากโครงการลงทุน EEC
หากไม่มีการลงทุน EEC ทุนข้ามชาติเหล่านี้คงหนีไปลงทุนประเทศเพื่อนบ้านหมด เธอตอกย้ำเช่นนั้น !!
โดยอุตสาหกรรมที่กลุ่มลูกค้าจีนเข้ามาส่วนใหญ่จะเป็น “ยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์” ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าจีนอยู่ระหว่างการเจรจาอีกกว่า “10 ราย” ซึ่งบริษัทจะเปิดตัวนิคมฯแห่งใหม่แห่งที่ 10 WHA ESIE 3 ที่ชลบุรี ด้วยพื้นที่ 2,197 ไร่ ในเดือนเม.ย. นี้
ทั้งนี้ยังมี “ลูกค้าจีนรายใหญ่” ซึ่งเป็นผู้ประกอบการเกี่ยวกับยานยนต์ จองซื้อที่ดินแล้ว 285 ไร่ ซึ่งเป็นการรองรับ EEC ที่ส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ หนึ่งในนั้นคือ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่
นอกจากนี้ ยังมี “กลุ่มลูกค้ายุโรป” ที่เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนการบิน ซึ่งปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการคุยกับกลุ่มลูกค้ายุโรป “ราว 20-30 ราย” โดยคาดว่าลูกค้ายุโรปจะซื้อที่ดินของ WHA ราว 2,000 ไร่ เป็นการทยอยซื้อลงทุนต่อเนื่อง
เธอ บอกต่อว่า สำหรับกลุ่มธุรกิจนิคมฯในปี 2562 บริษัทตั้งเป้ายอดขายที่ดินไว้อยู่ที่ 1,600 ไร่ แบ่งเป็นยอดขายที่ดินในเมืองไทย 1,400 ไร่ และในเวียดนาม 200 ไร่
ขณะเดียวกันบริษัทก็มีแผนจะเปิดตัวนิคมอุตสาหกรรมในไทยเพิ่มอีกหนึ่งแห่ง ซึ่งจะทำให้กลุ่ม WHA มีนิคมฯ ที่ดำเนินการแล้วรวม 11 แห่ง โดย 10 แห่งตั้งอยู่ในไทย ในจำนวนนี้นิคมฯ 9 แห่งได้รับการรับรองให้เป็นพื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายในโครงการ EEC และนิคมฯ อีกหนึ่งแห่งอยู่ในเวียดนาม
ทั้งนี้ ปัจจุบัน บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ WHA มีที่ดินภายใต้นิคมฯ รวมทั้งสิ้น 68,500 ไร่ ซึ่งในปีนี้บริษัทเตรียมจะพัฒนาที่ดินจำนวน 2,650 ไร่ ส่งผลทำให้จะมีที่ดินที่อยู่ภายใต้การดำเนินงานและที่ดินส่วนที่กำลังพัฒนาเพิ่มขึ้นเป็น 43,150 ไร่
“เราตั้งเป้ารายได้เติบโต 70% จากปีก่อนที่ทำได้ 11,000 ล้านบาท และ EBITDA MARGIN (กำไรขั้นต้น) มากกว่า 30% เป็นไปตามการเติบโตของทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจหลัก”
ขณะที่ “วิบูลย์ กรมดิษฐ์” กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บมจ. อมตะ คอร์ปอเรชัน หรือ AMATA ให้ความเห็นสอดคล้องว่า ปัจจุบันลูกค้าซึ่งเป็นนักลงทุนจากประเทศจีนเข้ามาติดต่อซื้อที่ดินในนิคมฯ จำนวนมาก เป็นผลมาจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ ซึ่งเป็นตัวช่วยเร่งผลักดันให้ผู้ประกอบการจีนหันมาขยายฐานการผลิตในไทยเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มยานยนต์และยางล้อรถยนต์
โดยประเมินว่าในช่วง 3 ปีข้างหน้า (2562-2564) จำนวนโรงงานของนักลงทุนจีนที่จะเข้ามาอยู่ในนิคมฯ ของบริษัทจะเพิ่มปีละ 40-50 โรงงาน และคาดว่าภายในช่วง 10 -20 ปีข้างหน้า จำนวนโรงงานของนักลงทุนชาวจีนจะมีกว่า 500 โรงงาน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีจำนวน 100 โรงงาน ซึ่งบริษัทใช้เวลากว่า 9 ปี โดยปัจจุบันบริษัทได้เตรียมพื้นที่รองรับกลุ่มดังกล่าวกว่า 3,000 ไร่
“ปัจจุบันลูกค้าชาวจีนเข้ามาซื้อที่ดินในนิคมฯค่อนข้างมากโดยเฉพาะนิคมฯในระยองที่สัดส่วนลูกค้าชาวจีนตอนนี้ขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งแซงหน้าญี่ปุ่น ขณะที่ในส่วนของนิคมฯในชลบุรีตอนนี้อันดับหนึ่งยังเป็นของนักลงทุนญี่ปุ่น ซึ่งมีอยู่กว่า 500 โรงงาน”
ทั้งนี้ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาบริษัทมียอดขายที่ดินแล้วกว่า 100 ไร่ ซึ่งคาดว่าในช่วงเดือนหน้าจะเซ็นสัญญากับลูกค้าอีก 1 ราย จำนวน 28 ไร่ โดยบริษัทตั้งเป้ายอดขายที่ดินปีนี้รวมกว่า 1,075 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ทำได้ 863 ไร่ โดยแบ่งเป็นยอดขายจากพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยจำนวน 950 ไร่ และนิคมฯที่ประเทศเวียดนามราว 125 ไร่
“วิบูลย์” ประเมินว่า ในส่วนของผลประกอบการปีนี้จะเติบโตจากปีก่อน ซึ่งปัจจุบันบริษัทมียอดขายที่ดินที่เตรียมรอโอน (Backlog) แล้วกว่า 3,610 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถโอนได้ภายในปีนี้ราว 60- 70% หรือคิดเป็นมูลค่าราว 2,100 ล้านบาท ขณะที่เตรียมงบลงทุนปีนี้กว่า 5,000 ล้านบาท แบ่งเป็นงบซื้อที่ดินในไทยจำนวน 3,700 ล้านบาท และที่เหลืออีกราว 1,300 ล้านบาท สำหรับลงทุนในประเทศเวียดนาม
นอกจากนี้บริษัทยังได้ปรับเพิ่มราคาขายที่ดินตั้งแต่ต้นปีเพื่อให้สอดคล้องกับราคาตลาดในบริเวณดังกล่าวที่เพิ่มสูงขึ้น หลังจากได้อานิสงส์แรงหนุนจากโครงการ EEC โดยพื้นที่บริเวณนิคมฯ อมตะ ซิตี้ชลบุรี จะมีราคาขายเป็น 11 ล้านบาทต่อไร่ จากเดิมที่อยู่ในระดับ 8.5 ล้านบาทต่อไร่ ส่วนนิคมอุตสาหกรรม อมตะ ซิตี้ ระยอง ปรับเพิ่มราคาที่ดินเป็น 4.5 ล้านบาทต่อไร่ จากเดิมที่อยู่ในระดับ 3.8 ล้านบาทต่อไร่
นอกจากนี้ ยังมี “กลุ่มลูกค้ายุโรป” ที่เริ่มเห็นสัญญาณการเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาด้วย 3-4 ราย โดยส่วนใหญ่เข้ามาลงทุนโรงงานผลิตชิ้นส่วนเครื่องบิน ซึ่งยุโรปเลือกตั้งโรงงานในไทย เนื่องจากปัจจุบันมีเครื่องบินพาณิชย์ขนาดใหญ่บินเข้าออกในภูมิภาคนี้ค่อนข้างมาก รวมทั้งที่ไทยมีโครงการ EEC ที่สนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวด้วย
สำหรับประเด็นเรื่องการเมืองนั้น เขาให้มุมมองว่า ยังไม่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อที่ดินของลูกค้าจีน แต่กลุ่มยุโรปและสหรัฐฯอาจมีเซ็นซิทีฟบ้าง ส่วนลูกค้าญี่ปุ่นก็ยังเดินตามแผน หากหลังการเลือกตั้ง การจัดตั้งรัฐบาลราบรื่น บรรยากาศการลงทุนก็น่าจะดูดีขึ้น อย่างไรก็ตามก็ต้องดูสถานการณ์ก่อนว่าจะจัดตั้งรัฐบาลได้ไหม