นิวฟอร์มูล่า “เถ้าแก่น้อย” ดันองค์กรสู่ “ฟู้ด อินโนเวชั่น”
‘ฟู้ด อินโนเวชั่น’ ของเถ้าแก่น้อย คือการสร้าง นิวฟอร์มูล่า X บิสซิเนสโมเดล หรือนิวฟอร์มูล่า X นิวบิสซิเนสโมเดล ที่ไม่จำกัดตัวอยู่ในตลาด ‘สแน็ค’ อีกต่อไป
ซึ่งเป็นวิชั่นใหม่ของ อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู้ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) ประกาศในงานเปิดตัว ซับแบรนด์“ทินเท็น”
หลังจากที่ได้ซื้อไลเซ่นส์ “ไข่เค็ม”จากบริษัทคู่ค้าในสิงคโปร์ มาพัฒนาสูตรใส่ในผลิตภัณฑ์สาหร่ายเถ้าแก่น้อยและผลิตภัณฑ์ปลาหมึกแบรนด์ทินเท็น ที่เพิ่งเปิดตัว แทนที่จะเสียเวลาลองผิดลองถูกเหมือนในอดีต ต่อจากนี้จะสามารถ “ปลั๊กอิน” รสชาติไข่เค็ม กับ ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมออกสู่ตลาดได้รวดเร็ว และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทันเวลา
ที่ผ่านมาเถ้าแก่น้อยได้ปรับเปลี่ยน ‘วิชั่น’ ให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงโลก ด้วยการพัฒนา บิสซิเนสโมเดลใหม่ออกมาเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ ยกตัวอย่าง ‘My Whey’ ถือเป็นนิวฟอร์มูล่า X นิวบิสซิเนสโมเดล ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาจากโปรตีน และขยายช่องทางจำหน่ายทางออนไลน์
“ต่อไปเถ้าแก่น้อยจะไม่ยึดติดกับบิสซิเนสโมเดลเดิมๆที่ทำอยู่ โดยจะพัฒนานิวบิสซิเนสโมเดลขึ้นมาเน้นไปที่แพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น ไลน์แมน ฟู้ดแพนด้า เพื่อในการเข้าถึงลูกค้ารุ่นใหม่ ซึ่งแบรนด์ “ทินเท็น” เป็นตัวหนึ่งที่เป็นนิวฟอร์มูล่า ที่นำมาพัฒนาในแพลตฟอร์มเดิม”
อิทธิพัทธ์ มองว่า “ไข่เค็ม” เป็นแพลตฟอร์มหนึ่งที่สามารถนำไปเชื่อมต่อได้หมดไม่จำเป็นต้องเป็นสาหร่าย ขยับไปสู่ ปลาหมึก ต่อไปอาจไปเชื่อมต่อ แกงกระหรี่ กลายเป็นแกงกระหรี่ไข่เค็มขึ้นมา ซึ่งขึ้นอยู่กับ ‘จินตนาการ’ นั่นหมายความ ฟู้ดอินโนเวชั่น = นิวฟอร์มูลล่า = นิวบิสซิเนสโมเดล
ตลาดสแน็คไข่เค็มในประเทศไทย เถ้าแก่น้อย ประกาศตัวว่าเป็นรายแรกที่ออกสาหร่ายไข่เค็ม หลังจากนั้นตลาดไข่เค็มเริ่มขยายตัวมาสู่ผลิตภัณฑ์ต่างๆออกสู่ตลาดมันฝรั่งไข่เค็ม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสไข่เค็ม หรือแม้กระทั้งกาแฟรสไข่เค็มในเชนร้านกาแฟ และในอนาคตสินค้าของเถ้าแก่น้อยจะส่วนผสมของรสไข่เค็มออกมาแน่นอน
จากก่อนหน้านี้กระแส“ไข่เค็ม”ฟีเวอร์แจ้งเกิดในประเทศสิงคโปร์ เมื่อ2ปี ที่ผ่านมาจนเกิดเป็นตลาดสแน็คไข่เค็มที่มีมูลค่าตลาด 500-600ล้านบาท และเริ่มมีการพัฒนาการที่หลากหลาย เช่น ปูผัดพริกผสมไข่เค็ม ฯล จากประสบการณ์อิทธิพัทธ์ ระบุว่า กระแสไข่เค็มได้รับความนิยมเริ่มจากตลาดเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มขยายไปในเอเซีย ยกตัวอย่าง ในสาธารณรัฐประชาชนจีนแบรนด์ดังๆได้พัฒนามันฝรั่งรสไข่เค็มออกมาวางจำหน่ายและที่ผ่านมาเถ้าแก่น้อยเพิ่งล้อนช์สาหร่าย “เทมปุระไข่เค็ม” ไปยังตลาดจีนต้นเดือนเม.ย. และในตลาดฮ่องกงเมื่อปลายปี2561 ปรากฏว่า ได้รับผลการตอบรับดีมากจนไลน์การผลิตผลิตไม่ทัน
“กระแสไข่เค็มดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่วนหนึ่งเกดจากการที่บริษัทใหญ่เจ้าของแบรนด์ต่างๆส่งผลิตภัณฑ์รสชาติไข่เค็มออกสู่ตลาดจำนวนมาก ทำให้ตลาดมีสีสันและกลายเป็นทอล์ก ออฟเดอะ ทาวน์ ซึ่งเถ่าแก่น้อยเป็นส่วนหนึ่งที่นำเสนอผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดเพราะมีกลุ่มคนที่ชื่นชอบรสชาติไข่เค็มจำนวนมาก ”
ล่าสุดเถ้าแก่น้อยส่งแบรนด์“ทินเท็น” ทำตลาดในประเทศก่อนเพื่อขยายฐานตลาดปลาหมึก รสไข่เค็ม ออกมาเสริม ในลักษณะเป็นซับแบรนด์ของเถ้าแก่น้อย ขณะที่แบรนด์ “เถ้าแก่น้อย” จะโฟกัสที่สาหร่ายเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการทำตลาด ผ่านช่องทางหลัก ได้แก่ คอนวีเนียนสโตร์ โมเดิร์นเทรด และเทรดดิชั่นนอลเทรด และจะมีรสชาติใหม่ที่ต่อยอดจาก “ไข่เค็ม”ภายใต้แบรนด์ ทินเท็น ออกมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนา คาดว่า 3-4 เดือนจากนี้จะออกสู่ตลาดในรูปแบบการโคแบรนด์ช่วงไตรมาส 3
โดยตั้งเป้าหมายว่าภายใน2 ปี ทินเท็นจะมีส่วนแบ่ง 10%จากตลาดปลาหมึก และหลังจากวางจำหน่ายในประเทศ1 ปี หากผลการตอบรับดีและกำลังการผลิตได้จะขยายสู่ตลาดต่างประเทศเช่นเดียวกับแบรนด์เถ้าแก่น้อย อนาคตอาจมีการปรับโครงสร้างให้เหมาะกับวิชั่นใหม่ ในการเป็นบริษัท ฟู้ด อินโนเวชั่น คาดว่า ภายใน10 ปีภาพชัดเจนขึ้นและที่สำคัญยอดขายเติบโต 10 เท่า นั่นหมายความยอดขายน่าเกิน 1 หมื่นล้านบาท
สำหรับสถานการณ์ตลาดสแน็คปีนี้ คาดว่า เติบโต 5-7% สูงกว่าปีที่ผ่านมา สังเกตได้จากไตรมาสแรกปีนี้ อัตราการบริโภคเพิ่มขึ้น หลังจากหลายปัจจัยที่มีสัญญาบวก ทั้งการเมืองหลังเลือกตั้ง การลงทุน การสนับสนุนภาคการเกษตรดีขึ้น ประกอบการผู้เล่นในตลาดกระตุ้นตลาดมากขึ้น จากเดิมตลาดค่อนข้างซบเซา 1-2 ปีแล้ว
“ช่วงที่ผ่านมา เถ้าแก่น้อยมีการออกผลิตภัณฑ์ และทำตลาดตลอดเวลาทำให้ที่ผ่านมาเถ้าแก่น้อยมีอัตราการเติบโต 10.8 %สูงกว่าการเติบโตของตลาดสาหร่ายและตลาดรวมสแน๊คที่เติบโตอยู่ประมาณ 5% ในปีนี้ บริษัทตั้งเป้า โต 10 % จากปีที่ผ่านมามีรายได้ 5,700 ล้านบาท ”
ส่วนความท้าทายอีกอย่างหนึ่ง ของอิทธิพัทธ์ คือการทำตลาดจีน เนื่องจากข้อจำกัดราคาสินค้า การสร้างการรับรู้แบรนด์ และดิสบิวเตอร์ ซึ่งต้องใช้เวลาในการสร้างตลาดเพราะเพิ่งเข้าไปทำตลาด5 ปี แต่ยอดขายกว่า2,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับตลาดในประเทศ