กรุงศรีฯ วางกรอบบาทสัปดาห์นี้ 31.70-32.00 บาท/ดอลลาร์
แบงก์กรุงศรีฯ คาดกรอบเงินบาทสัปดาห์นี้ 31.70-32.00 จับตาตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐ-รายงานประชุมเฟด-ประชุม อีซีบีและเบร็กซิท
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ให้มุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.70-32.00 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดอ่อนค่าที่ 31.88 บาท/ดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้น 180 ล้านบาท แต่ขายพันธบัตรมูลค่า 1.4 พันล้านบาท ส่วนเงินดอลลาร์แข็งค่าเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น หลังจากข้อมูลการผลิตที่แข็งแกร่งเกินคาดจากสหรัฐฯ และจีนช่วยคลายความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกลงชั่วคราว ส่วนเงินปอนด์ยังคงผันผวนตามกระแสข่าวเรื่องทางเลือกและการเลื่อนเส้นตาย Brexit ออกไป
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า ตลาดจะให้ความสนใจข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และรายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) โดยในภาพรวมเชื่อว่าเฟดจะยังคงส่งสัญญาณอย่างระมัดระวังต่อการดำเนินนโยบายการเงิน
นอกจากนี้ ความคืบหน้า Brexit และการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงราคาน้ำมันในตลาดโลกซึ่งปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะนี้ จะอยู่ในความสนใจของนักลงทุนเช่นกัน ขณะที่ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่าสหรัฐฯ และจีนเข้าใกล้การบรรลุข้อตกลงการค้า ซึ่งอาจประกาศได้ภายใน 4 สัปดาห์ โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันในหลายประเด็นที่ซับซ้อนไปแล้ว แม้ยังคงมีความเห็นต่างที่ต้องปรับก็ตาม
สำหรับปัจจัยในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 20 มี.ค.2562 โดยระบุว่าราคาสินทรัพย์ไทยอาจเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากความไม่แน่นอนทางการเมืองหลังเลือกตั้ง ขณะที่ในระยะถัดไป การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ทางด้านผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่าความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลอาจกระทบความเชื่อมั่นและส่งผลให้บางโครงการภาครัฐล่าช้าออกไป แต่เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อเศรษฐกิจมากนัก เนื่องจากโครงการลงทุนของภาครัฐที่เปิดประมูลไปแล้วยังเดินหน้าต่อ และนโยบายของแต่ละพรรคยังคงใช้การลงทุนภาครัฐเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะที่ ธปท.หวังว่าการส่งออกจะกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ส่วนดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปัจจุบันยังถือว่าต่ำกว่าบางประเทศในภูมิภาค
อนึ่ง แม้ว่ามุมมองของทางการสะท้อนการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจในระดับปานกลางถึงค่อนไปเชิงบวกเล็กน้อย เราเชื่อว่ามีความท้าทายมากขึ้นต่อการตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้