อีไอซีหั่นจีดีพีปี62โต3.6%จากเดิม3.8%

อีไอซีหั่นจีดีพีปี62โต3.6%จากเดิม3.8%

อีไอซีปรับลดจีดีพีปีนี้โต3.6%จากเดิม3.8% ส่งออก-ลงทุนเอกชนชะลอตัว จากไตรมาสแรกนี้เศรษฐกิจโลกโตช้าลงและสงครามการค้า ขณะที่ทางการคุมการก่อหนี้ส่งผลให้การบริโภคสินค้าคงทนชะลอตัว แต่พื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่ง มองดบ.ยังคงไว้ที่1.75%

นายยรรยงไทยเจริญรองผู้จัดการใหญ่  ผู้บริหารสูงสุดEconomic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่าอีไอซีปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี2562 ลงมาอยู่ที่3.6% จากประมาณการเดิมที่3.8% สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกของไทยที่มีอัตราการเติบโตที่ลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นสำคัญโดยเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวมากกว่าคาดและมีลักษณะsynchronized slowdown มากขึ้นหรืแซึ่งเป็นผลจากสงครามการค้าและภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวขึ้นโดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี2561 ที่ยังส่งผลลบอย่างต่อเนื่องต่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ในช่วง2 เดือนแรกของปีนี้สัดส่วนของตลาดส่งออกที่มูลค่าการส่งออกของไทยหดตัวได้เพิ่มขึ้นมาเป็นกว่า70% ของตลาดส่งออกรวมอีไอซีจึงปรับลดประมาณการการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกลงเหลือ2.7% จากเดิมที่3.4% ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณชะลอตัวจากช่วงปลายปีที่แล้วเช่นกันสอดคล้องกับการชะลอตัวของภาคส่งออกความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าโลกและการชะลอการตัดสินใจลงทุนของภาคธุรกิจเพื่อรอดูความชัดเจนของทิศทางการเมืองภายในประเทศภายหลังการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ดีเศรษฐกิจไทยยังมีแรงสนับสนุนที่สำคัญจากภาคการท่องเที่ยวที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ฟื้นตัวเร็วกว่าคาดทำให้อีไอซีปรับประมาณการนักท่องเที่ยวปีนี้เพิ่มขึ้นมาเป็น      40.7 ล้านคนหรือคิดเป็นอัตราการเติบโตที่6.3% จากเดิม40.2 ล้านคนรวมทั้งการลงทุนก่อสร้างภาครัฐซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการต่อเนื่องที่คาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนมากถึง760,000ล้านบาทในปีนี้หรือคิดเป็นการขยายตัวกว่า7% ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวได้จากแนวโน้มการจ้างงานและค่าจ้างแรงงานที่มีทิศทางเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปรวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

อย่างไรก็ดีการบริโภคในส่วนของสินค้าคงทนมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปีก่อนหน้าจากปัจจัยฐานสูงของการซื้อรถยนต์ในปี2561 และผลกระทบของมาตรการmacroprudential ที่ทางการทยอยออกมาเพื่อดูแลการก่อหนี้ครัวเรือนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ส่งผลให้การเติบโตทางด้านสินเชื่อของสถาบันการเงินในปีนี้การเติบโตจะชะลอตัวลงตามไปด้วย

สำหรับทิศทางนโยบายการเงินอีไอซีคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อัตรา1.75% ตลอดทั้งปี2562 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอมากกว่าที่กนง. เคยคาดและมีความเสี่ยงด้านต่ำมากขึ้นจากความไม่แน่นอนทั้งจากภายนอกและภายในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นประกอบกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำโดยมีค่าเฉลี่ย0.7% ในไตรมาสที่1 ทั้งนี้อีไอซีปรับลดประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั้งปี2562 มาอยู่ที่0.9% ซึ่งต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้กนง. จะยังไม่ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้แต่จะใช้มาตรการmacroprudential และการกำกับสถาบันการเงินเพื่อดูแลจุดเปราะบางเฉพาะจุดที่อาจกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินในอนาคตโดยเฉพาะประเด็นหนี้ครัวเรือนที่ยังเร่งตัวเร็วกว่าการเพิ่มขึ้นของรายได้อย่างต่อเนื่องและการประเมินความเสี่ยงที่ต่ำเกินไปของการลงทุนทางการเงิน

ในส่วนของทิศทางค่าเงินบาทคาดว่าจะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจากสิ้นปีที่แล้วโดยณสิ้นปี2562 จะอยู่ในช่วง31-32 บาทต่อดอลลาร์จากการที่ค่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าลงในปี2562 จากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯที่dovish มากขึ้นประกอบกับเสถียรภาพเศรษฐกิจด้านต่างประเทศที่เข้มแข็งของไทยสะท้อนจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีแนวโน้มเกินดุลต่อเนื่องที่ประมาณ6.4% ต่อGDP ทั้งนี้ความเสี่ยงที่ค่าเงินบาทอาจจะอ่อนค่าจะมาจากภาวะการเงินโลกที่กลับมาตึงตัวเร็วกว่าคาดและปัญหาเสถียรภาพการเมืองในประเทศเป็นสำคัญ

นอกจากนี้ประเด็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาหลังจากนี้นายยรรยงกล่าวว่าปัจจัยเสี่ยงหลักจากความไม่แน่นอนของแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและเสถียรภาพการเมืองในประเทศแม้จะมีสัญญาณบวกจากการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนรวมทั้งท่าทีที่dovish ขึ้นของธนาคารกลางหลักซึ่งช่วยเพิ่มความมั่นใจของนักลงทุนและลดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกได้ในระยะสั้นแต่เศรษฐกิจโลกยังอาจชะลอตัวได้มากกว่าคาดจากความไม่แน่นอนและความเปราะบางในจุดต่างๆไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้าที่ยังจะยืดเยื้อต่อไปเนื่องจากเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างและอาจกลับมาทวีความรุนแรงได้อีกภาวะการเงินโลกที่อาจกลับมาตึงตัวได้ปัญหาภาระหนี้ระดับสูงในบางประเทศเช่นหนี้ของภาคธุรกิจในจีนและสหรัฐ

รวมทั้งปัญหาภายในเฉพาะประเทศเช่นกรณีBrexit ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงและอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรและยูโรโซนตลอดจนสร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงินโลกในช่วงข้างหน้า

ขณะที่ปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองจะเป็นปัจจัยเสี่ยงในประเทศที่สำคัญความไม่แน่นอนทางการเมืองยังมีอยู่สูงแม้การเลือกตั้งจะผ่านไปแล้วรวมทั้งผลการเลือกตั้งที่กลุ่มพรรคการเมือง2 ขั้วได้จำนวนสมาชิกผู้แทนราษฎรใกล้เคียงกันทำให้มีโอกาสสูงที่รัฐบาลใหม่จะเป็นรัฐบาลผสมที่มีเสียงสนับสนุนในสภาผู้แทนราษฎรมากกว่าฝ่ายค้านไม่มากนัก  ซึ่งจะมีนัยต่อเสถียรภาพของรัฐบาลและประสิทธิภาพในการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าโดยอาจมีผลให้เกิดการชะลอการตัดสินใจลงทุนของภาคธุรกิจและการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนเพื่อรอดูความชัดเจนของพัฒนาการทางการเมืองก่อน