นิคมหลักชัยทุ่ม 5 พันล้าน ทำเฟส 2 ดันระยองขึ้นแท่นฮับ รับยางได้8 แสนตันในปี 67
นิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยางขยายเฟส 2 กว่า 2,000 ไร่ 5,000 ล้านบาท หลังนักลงทุนจีน ญี่ปุ่น หนีสงครามการค้าหันซบไทย คาดปี 2567 รองรับยางในประเทศได้มากกว่า 8 แสน-1 ล้านตัน ชี้มาตรการแก้ปัญหาราคาตกต่ำของรัฐบาลไม่ได้ผล ไม่มั่นใจ รัฐบาลใหม่ จะทำได้ดีแค่ไหน
นายหลักชัย กิตติพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทรเบคก้า เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง จ.ระยอง เปิดเผยว่า ในขณะนี้นิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง อยู่ระหว่างการสร้างเฟสที่ 2 เนื้อที่ 2,000 ไร่ วงเงินลงทุน 7,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ติดกับพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยางเฟสแรก 2,200 ไร่ วงเงินลงทุน 5,000 ล้านบาท โดยรวมแล้วจะส่งผลให้นิคมฯแห่งนี้มีพื้นที่กว่า 4,200 ไร่ ทั้งหมดเป็นไปตามแผนการลงทุน 5 ปี (2563-2567)ที่ตั้งเป้าหมายจะใช้พื้นที่เหล่านี้รองรับยางในประเทศ ได้กว่า 8 แสน-1 ล้านตัน
สงครามการค้าทำโตต่อเนื่อง
นิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง ประสบผลสำเร็จเร็วมาก ซึ่งเป็นผลมาจากสงครามทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ที่นักลงทุนจีนตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้นเพื่อเลี่ยงปัญหาทางด้านภาษีในการส่งออกยางไปยังสหรัฐ รวมทั้งยังเป็นไปตามโครงการเส้นทางสายเศรษฐกิจ” หรือ“วันเบลต์ วันโรดของจีน ที่ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการออกไปลงทุนในประเทศอื่นๆ
“ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา การเมืองของไทย ค่อนข้างนิ่ง และออกกฎหมายที่เอื้อต่อการลงทุนมาก โดยเฉพาะ โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ประกอบการเกิดสงครามทางการค้าขึ้น ที่ไม่เพียงแต่ทำให้นักลงทุนจากจีนหันมาไทยมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้นักลงทุนจากญี่ปุ่น ตัดสินใจลงทุนด้านยางพาราในไทยด้วย"
ก่อนหน้านี้ยางพาราจะปลูกเฉพาะในภาคใต้ ทำให้การลงทุนส่วนใหญ่อยู่ที่ภาคใต้ทั้งหมด แต่การปลูกยางพาราสามารถทำได้ทั่วประเทศแล้ว ผลผลิตยางในภาคใต้คิดเป็นเพียง 50% ของผลผลิตที่ได้ทั้งหมดเท่านั้น ซึ่งการลงทุนด้านยางจึงต้องปรับเปลี่ยนไป จ.ระยอง มีความเหมาะสมทุกด้านที่จะใช้เป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกยาง(HUB) โดยสามารถรองรับยางพาราได้ทั้งจากภาคเหนือ ตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ขั้นปลายและส่งออกผ่านท่าเรือน้ำลึกไปยัง จีน เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม และอื่นๆ อีกทั้งยังมีสนามบินรองรับนักลงทุนให้สามารถเดินทางได้สะดวกอีกด้วย
“โครงการนิคมอุตสาหกรรมเมืองยาง (Rubber City) ที่จ.สงขลา ปัจจุบันมีเพียงสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจ ในพื้นที่เท่านั้นที่เข้ามาใช้บริการ ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มผู้ผลิตยางที่น้อยมาก ทำให้ไม่เป็นที่สนใจของนักลงทุนต่างชาติ และไม่ส่งผลให้ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้กรณีคาดหวังว่าจะกระตุ้นให้ราคายางในประเทศปรับตัวสูงขึ้น “
ห่วงราคายางร่วงต่อเนื่อง
รวมทั้งมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำอื่นๆ ของรัฐบาลที่ผ่านมา ยังถือว่าล้มเหลว เช่นการเปิดประมูลยางพาราในตลาดของการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) ที่อยู่ท้องถิ่นเป็นตลาดย่อยๆ นั้นไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อราคายางทั้งประเทศใดๆ เลย เพราะปริมาณที่ขายผ่านมีน้อย และผู้ประกอบการไม่สามารถนำราคาดังกล่าวมาใช้เป็นราคากลางได้ การประมูลยางในตลาดกลางหลักเท่านั้นที่จะมีผลต่อราคาทั้งประเทศ
นอกจากนี้นโยบายการทำยางไปสร้างถนนซอยด์ซีเมนต์ หมู่บ้านละ 1 กิโลเมตร(กม.)เป็นอย่างน้อย รวมทั้งประเทศ 7.5 หมื่น กม. ถือว่าเป็นโครงการที่ดีมาก แต่ยังไม่สามารถผลักดันให้เป็นไปตามเป้า นอกจากนี้ตามมติของ 3 ประเทศผู้ผลิตยางคือไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซียที่ เห็นชอบจะชะลอการส่งออกยางตั้งแต่เดือน พ.ค. นี้เป็นต้นไป ทางไทยยังอ้างให้รัฐบาลใหม่เป็นผู้ลงนามนั้น ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้า หากไม่ปฏิบัติตามมติที่ประชุม ก็จะเท่ากับว่ารัฐบาลไทยผิดสัญญา
“รัฐบาลชุดที่ผ่านมาขับเคลื่อนโดยระบบราชการ ที่ไม่เชี่ยวชาญเรื่องธุรกิจ แม้รัฐบาลสามารถตัดสินใจได้โดยไม่มีฝ่ายค้าน ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำได้ ดังนั้นรัฐบาลใหม่ ที่กำลังจะเข้ามาบริหารประเทศ ที่มาจากหลายขั้ว หลายพรรค ทำให้ผมไม่มั่นใจว่าจะสามารถแก้ปัญหาราคายางได้หรือไม่"
ศักยภาพผลิตยางหลากหลาย
สำหรับการผลิตยางในนิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง นั้น สามารถรองรับยางแห้ง ทั้งยางผึ่งแห้ง ยางรมควัน ยางแท่ง และยางเครพ เพื่อป้อนให้กับกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางล้อยานยนต์ ทั้งรถที่นั่งส่วนบุคคล รถบรรทุกโดยสารขนาดใหญ่ ยางล้อรถที่ใช้ในอุตสาหกรรม รถแทรกเตอร์ จักยานยนต์ จักรยาน ยางล้อเครื่องบิน ยางใน ยางรัดของ รองเท้า พื้นรองเท้า ลูกกลิ้งยาง ผลิตภัณฑ์กีฬา สายพานลำเลียง สายพานส่งกำลัง ผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนยานยนต์ และผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ในงานก่อสร้าง เป็นต้น
รายงานจาก กยท. แจ้งว่า จากสถานการณ์ราคายางในไตรมาสที่ 1/2562 ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามความต้องการของผู้ซื้อภายในประเทศ จึงคาดว่าราคายางในไตรมาสที่ 2/2562 จะปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณยางเข้าสู่ตลาดน้อยลง เนื่องจากอยู่ในช่วงปิดกรีด โดยกรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์อากาศในช่วงเดือน เม.ย.จะมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด และเดือนพ.ค.เป็นเดือนเปลี่ยนจากช่วงฤดูร้อนเป็นฤดูฝน เริ่มฤดูเปิดกรีด ส่วนเดือนมิ.ย.จะมีฝนตกชุกในระยะครึ่งแรก จากอิทธิพลของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จึงคาดว่าปริมาณยางยังคง ออกสู่ตลาดน้อย
นอกจากนี้ปริมาณสต็อกยางเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ในตลาดล่วงหน้าเซี่ยงไฮ้ ณ สิ้นเดือนมี.ค. 2562 มี 437.300 พันตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 2.25% และสต็อกยางตลาดล่วงหน้า โตเกียว ณ สิ้นเดือนมี.ค. 2562 มี 12.095 พันตัน เพิ่มขึ้น 42.88% ขณะที่ ดัชนี PMI ภาคการผลิต ของประเทศคู่ค้าเริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน และสหรัฐ ในเดือนมี.ค.ปรับตัวเพิ่มขึ้นเหนือระดับ 50 บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจมีการขยายตัว ในขณะที่ PMI ของญี่ปุ่น ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน
รวมทั้ง ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ โดยธนาคารกสิกรไทย คาดการณ์ว่าค่าเงินบาทใน ไตรมาสที่2/2562 มีโอกาสอ่อนค่าลง 5-10% เนื่องจากเป็นช่วงชะลอตัวด้านการท่องเที่ยว และการจ่ายเงินปันผลของ บริษัทจดทะเบียน ซึ่งจะมีการจ่ายเงินปันผลของบริษัท อาจทำให้มีเงินทุนไหลออก และราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) ประกาศยกเลิกการประชุมในวันที่ 17-18 เม.ย. 2562 ซึ่งจะทำให้โอเปคและประเทศพันธมิตรยังคงปรับลดกำลังการผลิตจนกว่าจะถึงการประชุมกำหนดนโยบายการผลิตในวันที่ 25-26 มิ.ย. 2562