จิตวิทยาการจัดการ กลยุทธ์โต ‘ซุปเปอร์ริชสีเขียว’

จิตวิทยาการจัดการ กลยุทธ์โต ‘ซุปเปอร์ริชสีเขียว’

เป็นทายาทธุรกิจไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด เรียกว่าหลายคนถึงขั้นเกิดอาการ “suffer” อยากเก็บกระเป๋าเดินออกจากบ้านแทบทุกวัน เพราะคุยกับเจนเนอเรชั่นแรกไม่รู้เรื่อง

“ธณัทร์ษริน สุสมาวัตนะกุล” (เจน) กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซุปเปอร์ริช (ไทยแลนด์) จำกัด หรือ ซุปเปอร์ริชสีเขียว ยอมรับว่า เธอก็คือหนึ่งในทายาทธุรกิจที่เคยประสบกับสถานการณ์แบบนั้น แต่เหมือนเป็นหนังคนละม้วน เนื่องจากเวลานี้ความคิดของเธอแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง ภายหลังที่ได้มีโอกาสศึกษาศาสตร์ “จิตวิทยาการจัดการ”


“เป้าหมายของชีวิตกับของธุรกิจมันคืออันเดียว เจนเกิดมาจากที่นี่ โตที่นี่ อยู่กับพนักงานที่นี่ เป็นเหมือนสัญญาว่าจะสร้างองค์กรนี้เติบโต”


และได้เล่าย้อนกลับไปในช่วงที่เริ่มเข้ามาช่วยดูกิจการครอบครัวว่า ความเป็นคนรุ่นไฟแรงจึงอยากเร่งให้บริษัทเติบโต อยากนำเอาเรื่่องมาร์เก็ตติ้งมาช่วยขยายธุรกิจ อยากเปลี่ยนระบบดั้งเดิมให้ทันสมัย ซึ่งเป็นธรรมดาที่ผู้บริหารตลอดจนพนักงานรุ่นแรกที่มีประสบการณ์ทั้งยังเป็นผู้ก่อร่างสร้างธุรกิจมากับมือจะไม่เห็นด้วย และไม่ยินยอมให้ทำตามแนวทางที่เธอคิดไว้


"คนรุ่นแรกเขาสร้างธุรกิจและรู้ทุกซอกทุกมุมเป็นอย่างดี เราเป็นรุ่นสองเป็นรุ่นที่ธุรกิจสร้างเสร็จแล้ว แม้จะไปเรียนมาสูง ๆก็เป็นการเรียนจากเคสสตัดดี้และพอเข้ามาทำงานปุ๊บก็อยากจะเปลี่ยนแปลงทันทีทำให้คุยกันไม่รู้เรื่อง เพราะมีความคิดต่าง ชุดความรู้ต่าง วิธีการต่าง ทำให้เกิดความขัดแย้งภายในใจ ทั้งๆที่คนทั้งสองรุ่นต่างก็มีเป้าหมายเดียวกัน มีความตั้งใจที่ดีเหมือนกัน อยากทำให้ธุรกิจเติบโต อยากจะดูแลพนักงาน"


เป็นแบบนี้อยู่หลายปี เจนบอกว่าก็ทำให้เธอเกิดความรู้สึกน้อยใจ เจ็บปวด จึงพยายามหาทางออกสารพัดวิธีทั้งเข้าวัด นั่งสมาธิ ไปดูดวง ไปเข้าอบรมในคอร์สต่างๆ ฯลฯ สุดท้ายก็ได้เจอศาสตร์จิตวิทยาการจัดการ และมีครูดีที่ชื่อ “ดร.ขวัญนภา ชูแสง”


เพราะในเชิงธุรกิจนั้นมีอยู่หลายองค์ประกอบ มีคน มีระบบ มีการจัดการ มีการแข่งขัน มีสิ่งแวดล้อม มีการสื่อสาร ฯลฯ ซึ่งขึ้นชื่อว่าผู้บริหารจำเป็นเพิ่มคุณภาพหรือพัฒนาทักษะในเรื่องเหล่านี้ และศาสตร์จิตวิทยาการจัดการก็มีสอนครอบคลุมทั้งหมด โดยเฉพาะสอนให้เข้าใจเรื่องคน ความเป็นมนุษย์ที่มีระบบความคิดต่างกันไป ความคิดยังส่งผลให้พฤติกรรมของคนแตกต่างกันอีกด้วย


"ศาสตร์นี้ทำให้ตัวเองรู้ว่าสิ่งที่เป็นอยู่ สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ไม่ได้ช่วยให้องค์กรเดินต่อไปได้ แต่ต้องอาศัยอะไรหลาย ๆอย่าง เป็นเรื่องของการสื่อสาร ระบบความคิด การฝึกพัฒนาตัวเอง ถ้าจะบริหารจัดการเราจำเป็นต้องเพิ่มสกิลอย่างอื่น และทำให้เห็นถึงความต่างมากขึ้น เริ่มฟังคนอื่น เริ่มตั้งคำถาม ก็ถามกับคุณพ่อว่าป๊ามีความกังวลเรื่องอะไร ที่บอกว่าทำไม่ได้ ตรงไหนที่ไม่ได้สโคปให้ชัดขึ้นว่าเขากังวลอะไร พอรู้แล้วเราต้องไปทำรีเสิร์ซ ทำตัวเลข ต้องมีข้อมูลไปนำเสนอ ไม่ใช่อยากทำหรือเรียกร้องจากการที่เราคิดเอาเอง"


ศาสตร์นี้ทำให้รู้ว่า ความเป็นมนุษย์หนีไม่พ้นเรื่องของอารมณ์หรือ emotion ที่คนส่วนใหญ่มักจะรับมือหรือจัดการไม่ค่อยได้ ที่สุดจะส่งผลกระทบต่อทั้งตัวเองและคนอื่น ความจริงคือเราไม่ได้อยู่คนเดียวในโลกแต่อยู่ร่วมกับคนอื่น


"ความคิด ความรู้สึกส่งผลต่อพฤติกรรมหรือบทแสดงที่เราแสดงออกไป ไม่ว่าจะเป็นภาษา น้ำเสียง ท่าทาง สีหน้า ร่างกาย ถ้าวันนี้รู้สึกเศร้าเสียใจคนที่พบเราก็จะรับรู้ได้ หรือถ้าเราโกรธ พูดจาไม่ดีอีกฝั่งหนึ่งเขาก็ไม่พอใจใช้น้ำเสียงที่ไม่ดีกลับมาเหมือนกัน ผลกระทบก็คือ ความสัมพันธ์ก็ไม่เกิด"


ยิ่งเป็นผู้บริหารที่ความคิดและทุก ๆการกระทำล้วนส่งผลต่อธุรกิจทั้งสิ้น ทางตรงข้ามที่งานต้องเสร็จ ธุรกิจจะต้องเดินต่อ จึงต้องจัดการความคิดและอารมณ์ของตัวเอง ซึ่งศาสตร์จิตวิทยาการจัดการช่วยให้สามารถเลือกใช้วิธีการในการรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆได้อย่างเหมาะสม


"แต่สถานการณ์ที่ได้พบเจอ เราอาจมองว่าเป็นปัญหา พอมองว่าเป็นปัญหาก็เลยรู้สึกไม่ค่อยดี แต่ที่จริงนั้นมันเป็นเพียงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติที่จะมาทดสอบหรือท้าทายเราว่าจะพัฒนาคุณภาพตรงไหนเพิ่มให้รับมือกับความท้าทายให้ทุกอย่างเป็นไปตามเป้าหมาย มนุษย์มีทรัพยากรมากมายให้ใช้ เพียงแต่เราไม่เคยมองว่ามีช่องทางอื่น เรามักจะมีวิธีเดียว"


เธอบอกว่าเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของตัวเองชัดเจนจากศาสตร์ดังกล่าว คือรู้สึกโตขึ้น มีโครงสร้างในเรื่องการจัดการและจิตวิทยา เข้าใจคนอื่นมากขึ้น สื่อสารได้รู้เรื่องเพิ่มขึ้น สามารถพัฒนาตัวเองไปถึงเป้าหมายได้ง่ายขึ้น ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ แต่เป็นความสำเร็จเล็ก ๆที่เกิดขึ้นทุกวัน วันนี้ได้เรียนรู้อะไรเพิ่มบ้าง วันนี้ฟังลูกน้องได้เข้าใจขึ้นไม่ใช้วิธีสั่งการแต่ให้พวกเขามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น


“หลักๆเลย คือทำให้เจนฟังคนอื่นมากขึ้นไม่ได้อยู่แต่ในความคิดของตัวเอง”


ตลอดระยะเวลา 4-5 ปี เธอได้นำเอาศาสตร์จิตวิทยาการจัดการมาจัดคอร์สอบรมให้กับพนักงานองค์กรซุปเปอร์ริชสีเขียวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลลัพธ์่เกิดขึ้นชัดเจนทั้งเรื่องประสิทธิภาพการทำงาน ผลกำไร รวมถึงการขยายสาขาเพิ่มขึ้นเป็น 13 สาขา ( จากเดิมที่คุณพ่อสร้างไว้จำนวน 2 สาขา)


"ธุรกิจเราขยายได้เพระศาสตร์นี้รวมถึงทักษะในการทำงานของพนักงาน บอกเลยว่าคนเราเก่งขึ้นมาก และยอมรับความต่างกันได้ ทำให้ความขัดแย้งลดลงไป ใน ซุปเปอร์ริชสีเขียวเราไม่มีความขัดแย้ง อาจรู้สึกไม่ชอบแต่เราก็คุยกันตรงๆได้ โครงสร้างหลักขององค์กรเราก็คือจิตวิทยาเพราะเราอยู่ร่วมกัน มันสำคัญเพราะความท้าทายที่จะเกิดขึ้นก็คือเรากำลังจะมีคน 4 รุ่นเข้ามาทำงานร่วมกัน ตั้งแต่รุ่นแรกไปจนถึงมิลเลนเนียลส์ เลยต้องวางโครงสร้างเรื่องของคนไว้"


ซุปเปอร์ริชสีเขียว ต้องการเป็นองค์กรที่ให้ความรู้กับพนักงานในเชิงจิตวิทยาการจัดการ เพื่อให้สามารถรับมือไม่เฉพาะในโลกการทำงานอย่างเดียว แต่ในชีวิตประจำวันด้วย ให้พวกเขาสามารถจัดการกับชีวิตตัวเองได้ ด้วยความเชื่อว่าถ้าพนักงานเรามีชีวิตที่ดี ครอบครัวเขามีความสุข เขาจะสามารถทำงานอย่างมีความสุขและส่งต่อความสุขไปให้กับลูกค้า


ภาพของซุปเปอร์ริชสีเขียวที่อยากเห็นในอนาคตเป็นอย่างไร? เธอบอกว่าการเติบโตถือเป็นเรื่องปกติที่ผู้บริหารธุรกิจทุกคนอยากเห็น สำหรับตัวเธอเองมองว่าโลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และกระแสการนำเอาเทคโนโลยีต่าง ๆเข้ามาในธุรกิจก็เพิ่มสูงขึ้น การทรานส์ฟอร์มเมชั่นจึงเป็นอะไรที่หลีกเลี่ยงไม่ได้


"ซุปเปอร์ริชสีเขียวเองกำลังอยู่ในช่วงของการทรานส์ฟอร์ม ซึ่งเป็นการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มช่องทางให้บริการลูกค้า และพัฒนาเป็นเซอร์วิสใหม่ๆ เรายังมองถึงการต่อยอดแตกธุรกิจออกไป แต่ยังเกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิมคือการแลกเปลี่ยนเงิน ถึงแม้การแข่งขันสูงมีคู่แข่งเพิ่มมากขึ้น แต่มองว่าจากจำนวนของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีทั้งภาครัฐเองก็ให้สนับสนุน จึงมั่นใจว่าธุรกิจนี้ยังเติบโตได้อีกโดยเฉพาะหัวเมืองต่างๆ เพราะเมืองไม่ได้กระจุกตัวเวลานี้มันขยายออกไป"