ครม.ตีกลับมาบตาพุดเฟส3

ครม.ตีกลับมาบตาพุดเฟส3

เหตุรัฐลงทุนเพิ่ม 6 พันล้าน เอกชนได้เพิ่ม 2.6 พันล้าน

ครม.เบรกปรับปรุงรายละเอียดโครงการท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ให้คณะกรรมการคัดเลือกฯไปเจรจากับเอกชนที่ชนะการประมูล หลังผลตอบแทนรัฐต่ำลงกว่าที่ ครม.เคยมีมติเห็นชอบไว้กว่า 2.7 พ้นล้าน ขณะที่วงเงินร่วมทุนเพิ่มอีกกว่า 6 พ้นล้าน ด้านสศช.ยันให้เจรจาให้รัฐได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับผลการศึกษาเดิม

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 พ.ค.มีมติให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) การนิคมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 รับข้อเสนอของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไปพิจารณา

ครม.ตีกลับมาบตาพุดเฟส3

ในการดำเนินการต่อรองและเจรจากับภาคเอกชนผู้ชนะการประมูลในโครงการ ได้แก่ บริษัทพีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด และบริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ที่ชนะประมูลท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 หลังจากที่ สกพอ.มีการเสนอขอปรับปรุงหลักการและรายละเอียดของโครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 ในส่วนของการเปลี่ยนแปลงจำนวนเงินร่วมลงทุนของภาครัฐ และการเปลี่ยนแปลงผลตอบแทนทางการเงินขั้นต่ำของ กนอ.ด้วย

ใช้ค่าตอบแทนเดิม

ทั้งนี้ สศช.ได้ให้ความเห็นว่าในการเจรจากับภาคเอกชนควรมีเป้าหมายให้ค่าใช้จ่ายและผลตอบแทนอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับรายงานผลการวิเคราะห์การศึกษาที่เคยทำไว้เนื่องจากวงเงินลงทุนของโครงการได้ครอบคลุมถึงค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด และอัตราค่าเสียโอกาสทางการเงินไว้แล้ว

อีกทั้งการลงทุนดังกล่าวจะทำให้เอกชนได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในงานโครงสร้างพื้นฐานของการพัฒนาโครงการนี้อยู่ในระดับที่ดี และสูงกว่าผลตอบแทนจากการลงทุนที่มีความเสี่ยงในระดับเดียวกันโดยหากคณะกรรมการคัดเลือก ไม่สามารถดำเนินการเจรจาต่อรองให้บรรลุเป้าหมายได้ก็ให้พิจารณาทางเลือกอื่นที่จะช่วยลดภาระค่าลงทุนของการพัฒนาโครงการของ กนอ.ในภาพรวม เช่น การระดมทุนจากการออกพันธบัตร ซึ่งจะช่วยให้ได้รับผลตอบแทนทางการเงินจากการดำเนินโครงการนี้ตามที่ประมาณการไว้อีกทั้งช่วยลดความเสี่ยงทางการเงินของ กนอ.ในอนาคตด้วย

สกพอ.ได้นำเสนอรายละเอียดการขอปรับปรุงพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่1 ตามการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมาที่เสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงจำนวนเงินร่วมลงทุนของภาครัฐในโครงการนี้จากเดิมที่จะหักค่าให้สิทธิการร่วมลงทุนจากเอกชนสุทธิจากเดิมที่กำหนดให้ กนอ.ชดเชยเงินให้กับภาคเอกชนที่มีการลงทุนไม่เกินปีละ 516.36 ล้านบาท ปรับเพิ่มเป็น 720 ล้านต่อปี เป็นระยะเวลา 30 ปี

รวมวงเงินที่ กนอ.ต้องร่วมลงทุนเพิ่มขึ้นในโครงการนี้ประมาณ 6,109 ล้านบาท จากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของภาคเอกชนที่ใช้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ 4.8% เปลี่ยนแปลงจากอัตรา 2.5% ที่เป็นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของรัฐบาล

นอกจากนี้ เสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงผลตอบแทนทางการเงินขั้นต่ำของ กนอ.จากเดิมการร่วมลงทุนของกนอ.กับภาคเอกชนในช่วงที่ 1-2 ซึ่งรวมผลตอบแทนตามมูลค่าปัจจุบันสุทธิอยู่ที่ประมาณ 9,311 ล้านบาท เป็น 6,606 ล้านบาท โดยใช้อัตราคิดลด 6.48%
ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงรายละเอียดในส่วนของการร่วมลงทุนและการตอบแทนระหว่าง กนอ.กับภาคเอกชนเป็นการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดจากเดิมที่ การประชุมครม.เมื่อวันที่ 30 ต.ค.2561 ได้พิจารณาเห็นชอบว่าในโครงการนี้ กนอ.จะร่วมลงทุนกับภาคเอกชนในงานส่วนโครงสร้างพื้นฐาน โดยชำระเงินลงทุนร่วมเกิน 616.36 ล้านบาทต่อปี และได้รับค่าตอบแทนจากการร่วมลงทุนไม่ต่ำกว่าปีละ 100 ล้านบาทต่อปี เป็นระยะเวลา 30 ปีหรือคิดเป็น 516.36 ล้านบาทต่อปี

รัฐจ่ายเพิ่ม 6 พันล.

ส่วนผลตอบแทนทางการเงินขั้นต่ำของ กนอ.เดิมจะได้รับในสัดส่วนประมาณ 11.80% คิดเป็นการลงทุนระยะที่ 1 ประมาณ 2,729 ล้านบาท และช่วงที่ 2 ประมาณ 6,582 ล้านบาท รวมกันเท่ากับมูลค่าปัจจุบันสุทธิอยู่ที่ 9,311 ล้านบาท ขณะที่ข้อเสนอที่เข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ในครั้งนี้ กนอ.จะต้องจ่ายค่าร่วมลงทุนให้กับเอกชนปีละไม่เกิน 720 ล้านบาท ขณะที่ผลตอบแทนทางการเงินขั้นต่ำของ กนอ.ที่จะได้ลดลงเหลือ 9.75% แบ่งเป็นช่วงที่ 1 ประมาณ 24.15 ล้านบาท ส่วนในช่วงที่ 2 อยู่ที่ 6,528 ล้านบาท รวมเท่ากับมูลค่าปัจจุบันสุทธิประมาณ 6,606 ล้านบาท

ส่วนผลตอบแทนของภาคเอกชนได้รับผลตอบแทน IRR อยู่ที่ 10.06% คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิที่ประมาณ 11,693 ล้านบาท ส่วนผลตอบแทนใหม่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย IRR อยู่ที่ 10.75% คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิประมาณ 14,371 ล้านบาท สำหรับระยะเวลาการดำเนินโครงการ 35 ปี หรือเอกชนได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นประมาณ 2,678 ล้านบาท

กนอ.รับล่าช้าจากกำหนดเดิม

นายวิฑูรย์ อยู่ทิม รองผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ในเรื่องของการเจรจาจ่ายเงินคืนค่าถมทะเลในโครงการท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ที่เดิมกำหนดไว้ปีละ 600 ล้านบาท นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาต่อรองกับภาคเอกชนยังไม่แล้วเสร็จ รวมทั้งยังต้องเจรจาในเรื่องอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น เรื่องการเจรจาสัญญาค้ำประกัน ทำให้ต้องใช้เวลาในการเจรจา ส่วนจะจบได้เมื่อไรนั้นยังไม่สามารถให้คำตอบได้

รายงานข่าวจาก กนอ.ระบุว่า เดิม กนอ.ประเมินว่าจะสามารถลงนามในสัญญาร่วมลงทุนกับภาคเอกชนเข้าพัฒนาในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานได้เดือน มิ.ย.2562 แต่จะต้องเลื่อนออกไป และคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ จะต้องไปเจรจาข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนและผลตอบแทนต่อ จากนั้นคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ จะส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุด เพื่อตรวจร่างเงื่อนไขสัญญาของโครงการดังกล่าว ซึ่ง กนอ.จะดำเนินการให้เกิดประโยชน์สูงสุดที่ภาครัฐจะได้รับจากการเปิดให้ภาคเอกชนเข้าบริหารจัดการท่าเรือในระยะ 30 ปี

สำหรับการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 จะรองรับการพัฒนาเพื่อรองรับธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เนื่องจากปัจจุบันการใช้งานท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด มีการใช้งานใกล้เต็มศักยภาพรองรับแล้ว จึงจำเป็นต้องขยายเป็นระยะที่ 3 เพื่อรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) และสินค้าเหลวสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งคาดว่าจะรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและสินค้าเหลวได้เพิ่มอีก 14 ล้านตันต่อปีในอีก 30 ปีข้างหน้า