"ธงชัย บุศราพันธ์” ในวันที่กลับมา..โนเบิล

"ธงชัย บุศราพันธ์”  ในวันที่กลับมา..โนเบิล

7 ปีก่อนหน้านี้ หลายคนในวงการอสังหาฯไม่คิดว่า ‘ธงชัย บุศราพันธ์’ เอ็มดีหนุ่ม จะลาออกจากโนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ ที่ๆเขาทำงานมาร่วม 20 ปีกับ กิตติ ธนากิจอำนวย ผู้เป็นอา

ปีเศษหลังจากนั้นไปเป็น มือปืนรับจ้างให้ “ตระกูลลิปตพัลลภ” ในฐานะซีอีโอ พราวด์ เรสซิเดนซ์ ก่อนที่ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จะเทกโอเวอร์ไปในปี 2560

แต่ที่เหนือความคาดหมายไปกว่านั้นนั่นก็คือ การกลับมานั่งบริหาร โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ อีกครั้งของเขา ! ในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม และกรรมการผู้จัดการ กับดีลซื้อหุ้นบิ๊กล็อตเป็นข่าวฮือฮาเมื่อปลายเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ขึ้นแท่นผู้ถือหุ้นอันดับ 2 สัดส่วน 23.32% พร้อมประกาศ “ปลุกโนเบิลให้ตื่นจากหลับไหล” ก้าวไปปักหมุดในตลาดอสังหาริมทรัพย์ต่างชาติ กรุงเทพธุรกิจพาไปรู้จัก “ตัวตน”ของผู้ชายคนนี้ ถึงฐานบัญชาการใหญ่ อาคารโนเบิล เพลินจิต

*ความรู้สึกระหว่าง วันที่จากโนเบิล กับวันที่กลับเข้ามา

ตอนที่ไปเหมือนออกจากบ้าน เพราะตั้งแต่เรียนจบมา ก็ทำงานที่นี่ (โนเบิล) และเติบโตมากับบ้านหลังนี้ ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านมรสุมหลายอย่างจนกระทั่งวันหนึ่งเห็นว่าบ้านแข็งแรงและอยู่ได้และตัวเราเองอายุ 43 แล้ว ถ้ายังทำงานเป็นพนักงานไปเรื่อย คงไม่ได้เป็นเจ้าของกิจการ ซึ่งไม่ตอบโจทย์จุดมุ่งหมายในชีวิตจึงตัดสินใจลาออกไปหาโอกาสทางธุรกิจ และการลงทุน เป็นความท้าทายในชีวิตที่อยากลองทำ ซึ่งเป็นความยากลำบาก 

จากที่เป็นกรรมการผู้จัดการโนเบิล ไปไหนมีคนให้เครดิต เชื่อมั่น แต่พอไม่มีบริษัทมาแบ็คอัพ เหมือนเหลือตัวคนเดียวที่ต้องไปเริ่มต้นใหม่จากศูนย์ และมักเจอคำถามที่กดดันตลอดว่า คนเดียวจะมีปัญญาทำอย่างที่คิด หรือจะทำได้หรือเปล่า และวันที่กลับมามีความรู้สึกดีใจเหมือนได้กลับบ้าน และนำประสบการณ์ มุมมอง วิธีการทำงานใหม่จากข้างนอกกลับมาใช้กับโนเบิล

*อะไรคือ “จุดเปลี่ยน” ให้กลับมา

พอถึงวันหนึ่งที่คุณอา (กิตติ ธนากิจอำนวย)เข้าไปซื้อหุ้นของกลุ่มที่มีความขัดแย้งเข้ามารวมไว้ได้หมด และมีความคิดที่จะเกษียณ จึงโทรชวนผมว่าสนใจไหม เพราะถ้าผมไม่ทำท่านจะให้คนอื่นทำต่ออยู่ดี แต่ถ้าคนอื่นทำท่านไม่มั่นใจว่า สิ่งที่คนใหม่จะเข้ามาจะเป็นทางที่ท่านและผมอยากได้หรือเปล่า จึงขอให้ผมกลับมาทำ

*ช่วยเล่าที่มาของดีลซื้อหุ้น23.32%

เริ่มต้นจากคุณกิตติทำให้เกิดดีลนี้ขึ้น บางคนมองว่า ผมคิดกลับมาฮุบ แต่จริงไม่เคยมีความคิดที่กลับเข้ามาโนเบิลในหัวเลยเลย จนกระทั้งคุณกิตติโทรมาบอกว่า มีโอกาสแบบนี้ สนใจไหม เพราะที่ผ่านมาซึ่งใช้ระยะเวลาในการตัดสินใจ เกือบเดือน หลังจากคุยกับครอบครัว ภรรยา คุณพ่อคุณแม่ ซึ่งทุกคนสนับสนุน เพราะเหมือนเป็นจิ๊กซอว์ในชีวิตที่ทำให้ผมโตขึ้นมา ถ้าผมมีโอกาสกลับเข้าไปทำให้สมบูรณ์ได้ผมควรทำ

*คุณแฟรงค์ กับ บีทีเอส มาร่วมหุ้นโนเบิลได้อย่างไร

ลำพังผมคนเดียวคงไม่สามารถทำได้ ต้องหาพันธมิตรเข้ามาช่วย ซึ่งมี 2 รายคือ คุณแฟรงค์ (แฟรงค์ เหลียง ซีอีโอร่วม โนเบิล) เป็นลูกค้าในโครงการพาร์ค 24 และกลายเป็นเพื่อนสนิทจึงแนะนำให้เขามาซื้อหุ้นโนเบิล เพราะบิซิเนสโมเดลของเขาเป็นกองทุนอสังหาฯ การที่เขาเข้ามาลงทุนเป็นผู้พัฒนาโครงการเองจะสามารถควบคุมได้ตั้งแต่ต้นทาง ขณะเดียวกันช่วยเกื้อกูลกันในการทำตลาดต่างประเทศ ส่วนกลุ่มบีทีเอส ผมรู้จักคุณเควิน-กวิน กาญจนพาสน์ (กรรมการบริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์) ผมเล่าเรื่องนี้ให้ฟัง เขามองว่าเป็นแพลตฟอร์การลงทุน จึงเข้ามาถือหุ้น

*โนเบิลในวันนั้น กับในวันที่กลับมา จะต่างกันอย่างไร

แตกต่างเยอะ หลังจาก7 ปีที่ผ่านมากลุ่มผู้ถือหุ้นโนเบิล ซัฟเฟอร์เพราะเงินปันผลไม่มี แต่วันนี้ปัญหาเหล่านี้ผ่านไปหมดแล้ว เพราะได้จ่ายเงินปันผลออกไปก้อนใหญ่ก้อนหนึ่งและจากนี้เป็นต้นไป จะดูแลนักลงทุนอย่างใกล้ชิด จากปัจจุบัน95% ของพอร์ตเป็นตลาดระดับพรีเมียมราคา 2-3แสนบาทต่อตร.ม. ไม่มีระดับราคา1-2แสนบาทต่อตร.ม. 

ต่อจากนี้จะครีเอทแบรนด์ใหม่ขึ้นมาเพื่อเจาะตลาดกลางในไตรมาส3และไตรมาส4 ปีนี้เป็นต้นไป วันนี้โนเบิลแข็งแรงขึ้นมากเพราะเพิ่มสัดส่วนลูกค้าต่างชาติมากขึ้นทำให้ในไตรมาส1 ผลประกอบการที่ดีมาก เกิดจากการเข้าไปตลาดต่างประเทศได้ถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการทำให้ได้ภาพในอนาคตโนเบิลจะไม่เป็นต้องลิมิตตัวเองอยู่ในประเทศไทย แต่จะกลายเป็นธุรกิจข้ามชาติ

*ไปฝึกวิทยายุทธภายนอก ได้มุมมองใดกลับมาบริหารโนเบิล

มีหลายเรื่องมากไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพันธมิตร วิธีการทำงาน ต้นทุนทั้งหลายเราสามารถนำสิ่งที่เรียนรู้มาใช้ประโยชน์ เช่น วิธีบริหารจัดการการทำงานใหม่ อาจจัดเป็นบิซิเนสยูนิตมากขึ้นและหัวหน้าบิซิเนสยูนิตนั้นๆมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการทำงานและผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจากงานนั้นๆ ซึ่งกำลังจะไดรฟ์เข้าไปในการทำงานในองค์กร ปัจจุบันบริษัทมีพนักงาน 320 คนซึ่งไม่ได้มากจนเกินไปกำลังพอดี ถ้าบริหารดีๆอาจขยายงานเพิ่มขึ้นได้ แต่คงไม่ได้ลดคน

*วิชั่นในการกลับมาบริหารโนเบิลรอบนี้้

ที่ผ่านมาแบรนด์โนเบิล เป็นผู้นำในการสร้างความแตกต่าง แต่ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทุกคนเริ่มพูดเรื่องความแตกต่าง จึงเป็นโจทย์ว่าเราจะทำอย่างไรให้สามารถพูดเรื่องเดิมในมุมมองใหม่ให้เกิดความชัดเจนขึ้น เพื่อสื่อสารกับคนยุคมิลเลนเนียลส์ หรือเจนวาย ด้วยการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ใหม่ให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น

*นิยามความเป็นโนเบิล

“be different, be noble” ปรัชญาความเชื่อที่อยู่ในดีเอ็นเอของโนเบิล เพราะเชื่อว่า คนแต่ละคนมี individuality ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันด้วยซ้ำไป เพียงแต่ว่าเราทำอย่างไรให้ดีไซน์เป็นที่ยอมรับ

*นิยามความเป็นคุณธงชัย

เป็นผู้ชายที่ผ่านโลกมาระยะหนึ่งแล้วเริ่มเรียลไลฟ์ มากขึ้น ความฝันกับความจริงเริ่มเข้าหากันมาขึ้นเรื่อยๆต่างสมัยเด็กๆที่อยากเห็นโลกเป็นอย่างนั้นอยากให้โลกเป็นแบบนี้ แต่พออายุมากขึ้นมีความประนีประนอมมากขึ้น เข้าใจคนอื่นมากขึ้น ไม่ใช่คนขั้วเดียว ที่มีแค่ดำขาวเสื้อแดงเสื้อเหลือง เพราะจริงๆโลกนี้มันมีเหตุผลของมัน

*แบรนด์โนเบิล กับตัวตนคุณธงชัย เป็นเนื้อเดียวกันไหม

ช่วงแรกแบรนด์กับตัวตนผู้บริหารเหมือนไปด้วยกัน เพราะช่วงนั้นใส่ตัวตนเข้าไป แต่สุดท้ายต้องแยกจากกัน เพราะ โนเบิลไม่ใช่ผม ผมก็คือผม มันไม่สามารถจะอยู่คู่กันได้ เพราะโนเบิลจะอยู่ไปอีกหลายร้อยปี แต่คนชื่อธงชัยคงไม่ได้อยู่นานขนาดนั้น โนเบิลต้องมีภาพของตนเองเพื่อความยั่งยืนในระยะยาว ธงชัยก็มีภาพเป็นของตนเอง

*จุดแข็ง จุดอ่อนของโนเบิลคืออะไร จะสกัดจุดอ่อนอย่างไร

จุดอ่อนหลักๆที่เห็นคือเรื่องตลาดต่างประเทศก่อนที่ผมเขามาเป็นจุดอ่อน แต่ตอนนี้กลายเป็นจุดแข็ง เพราะเข้าไปแก้ไข จุดที่สองคือเซกเมนต์ที่หลุดจากตลาดราคา1-2แสนบาทต่อตร.ม. จึงต้องหันกลับมาทำตลาดกลางเพิ่มขึ้น เนื่องจาก 5 ปีต่อจากนี้กรุงเทพฯจะขยายตัว แต่วันนี้ที่ดินแต่ละแปลงในโซนในกลางเมืองต้องขายอย่างน้อยตรม.ละ 3แสนบาท ถ้าทำ30ตร.ม. ราคา9 ล้านบาทแล้ว ทำให้ตลาดระดับ 5 ล้านหายไป 

เราจึงมีแผนที่ขยับไปวงนอกมากขึ้น รวมทั้งขยายฐานกลุ่มลูกค้าต่างชาติอย่างน้อย40% ในแต่ละโครงการส่วนที่เหลือ30% ถ้าขายได้ก็คุ้มทุนแล้ว ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยน สำคัญ ลูกค้าต่างชาติเป็นกำลังซื้อที่สำคัญส่วนหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม

*การผนึกกำลังกับบีทีเอส ทำอะไรร่วมกันได้บ้าง เห็นภาพชัดเมื่อไหร่

ในไตรมาส2หรือไตรมาส3 ปีนี้ แต่ยังบอกรายละเอียดไม่ได้ แต่บีทีเอสเป็นกลุ่มที่มีตั้งแต่อินฟราสตรัคเจอร์ การลงทุนในรถไฟฟ้าสายใหม่ ที่ดินจำนวนมากรวมทั้งธุรกิจมีเดีย ซึ่งสามารถทำร่วมกันได้อีกเยอะ แต่ต้องพิจารณาร่วมกันอีกครั้ง เพราะโลกยุคนี้ไดนามิกส์ เชื่อว่าคงมีหลายแบรนด์ที่อาจเข้ามาร่วมทำงานกับบีทีเอสในอนาคตเพราะต่างคนต่างมีจุดแข็งของตัวเองเพราฉะนั้นบีทีเอส อาจเลือกคบโลกคนละใบ สัก 4 ใบพร้อมกันก็เป็นไปได้ ซึ่งโลกหลายใบในการทำธุรกิจในยุคนี้เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ เพราะนั่นหมายถึงโอกาสทางธุรกิจ

*มีเป้าหมายผลักดันโนเบิลไต่อันดับอสังหาฯอย่างไร

ภายใน 3 ปีน่าจะติด1ใน10 บริษัทอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ ซึ่งจริงๆผมไม่ได้สนใจเรื่องนี้ สิ่งที่สนใจคือต้องการให้บริษัทเฮลท์ตี้อยู่ในจุดที่สามารถแข่งขันได้อย่างมีศักยภาพ เพราะถ้าเล็กเกินไปจะลำบาก เพราะต้นทุนการเงิน ต้นทุนการบริหารจัดการจะไม่มี อีโคโนมีออฟสเกล จึงมองว่าขนาดขององค์กร และแบรนด์ควรจะอยู่ ในระดับที่บันทึกยอดขายปีละ 10,000 ล้านบาทก่อนขยับขึ้นไปเรื่อยๆอย่างมั่นคง และรักษาความสามารถขององค์กรได้ จากเดิมที่มีอยู่ปีละ5,000ล้านบาท

การไปลงทุนต่างประเทศ ข้ามชาติ เรามองว่า ยังไม่มีใครคนใดไปปักธงได้สำเร็จ เราอยากเป็นรายแรกที่ทำได้ แสดงให้เห็นว่าคนไทยไม่แพ้คนฮ่องกง สิงคโปร์ เราไปดีเวลลอปโครงการที่ลอนดอน นิวยอร์กได้ เนี่ยเป็นสิ่งที่ท้าทายกว่าการเป็นอันดับที่เท่าไรในประเทศ ด้วยซ้ำไป

*ถือเป็นความท้าทายรอบใหม่ กับการกลับมาพลิกฟื้นองค์กร?

ถือเป็นความท้าทายที่มีความสุข เพราะกลับเข้ามาอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่คุ้นเคย แต่ต้องยอมรับว่า บางครั้งมีปัญหาบ้าง หรืออาจเจอคนที่ไม่ดีเป็นเรื่องธรรมดาซึ่งต้องทำใจ แต่ถือว่าสามารถพลิกฟื้นให้กลับมาได้เร็วกว่าที่คิด จากการที่มีพันธมิตรเข้ามาช่วยดูแลตลาดต่างประเทศ

*สไตล์การทำงาน นักสู้ บู๊ บุ๋น?

เป็นทั้งบู๋ บุ๋น จะบู๋อย่างเดียวก็คงจะไม่ได้ ซึ่งแล้วแต่ปัญหาที่เจอ เพราะคนเราจะพุ่งชนกับปัญหาทุกครั้งคงไม่เวิร์ค แต่บางอย่างจะไม่ชนเลยก็ไม่ได้ ขึ้นอยู่กับปัญหาแล้วเราจะเลือกจัดการกับปัญหานั้นอย่างไร แต่หลักๆคือต้องมีสติในการจัดการ อย่าใช้อารมณ์เพราะมันไม่ช่วยอะไร

*ทุกวันนี้ บาลานซ์ชีวิต กับการงานอย่างไร

หลังจากที่กลับมาทำงานที่โนเบิลต้องพยายามบาลานซ์ชีวิตการงานกับครอบครัวให้สมดุล ซึ่งต้องขอบคุณเทคโนโลยีทำให้การใช้ชีวิตและการทำงานง่ายขึ้น อยู่ที่ไหนก็สามารถทำงานได้ อยู่อังกฤษประชุมผ่านวีดีโอคอลได้

*งานอดิเรกที่ชอบ กับแง่คิดการทำงาน

สมัยก่อนอ่านหนังสือ แต่ตอนนี้จะวิ่ง ซึ่งได้แง่คิด ในการเอาชนะใจตัวเอง มีวินัยและ อดทน ซึ่งผมพยามวิ่งมาราธอนให้ครบ 6 รายการใหญ่ในโลกนี้ ปัจจุบันเก็บได้แล้ว 4 รายการเหลืออีก 2 รายการ สัปดาห์หนึ่งวิ่ง 3-4 ครั้งและทุกวันเสาร์ต้องบังคับตัวเองให้ตื่นมาออกไปวิ่งแต่ตี 3