ก๊าซฯ & พลังงานหมุนเวียน พระเอกใหม่ 'บ้านปู'
'ก๊าซธรรมชาติ' และ 'พลังงานหมุนเวียน' ขึ้นแท่น 'พระเอก' คนใหม่ทำกำไรสูง... !! 'สมฤดี ชัยมงคล' นายหญิง แห่ง 'บ้านปู' โชว์พันธกิจเร่งลงทุนเพิ่ม ก่อนต่อยอดสู่ธุรกิจกลาง-ปลายน้ำสเต็ปต่อไป
เมื่อธุรกิจเดิมที่คลุกคลีมาตลอด 30 ปี ของ บมจ.บ้านปู หรือ BANPU ไม่สามารถผลักดันฐานะการเงินให้ขยายตัวสม่ำเสมอ หลังต้องเผชิญราคาถ่านหินที่มีความ 'ผวนผวน' จากความไม่แน่นอนของนโยบายรัฐบาล และการแทรกแซงจากภาครัฐ , สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมทั้งการขึ้นอัตราดอกเบี้ย และความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอย
จากปัญหาดังในช่วง 3 ปีก่อน ทำให้ 'บมจ.บ้านปู' ตัดสินปรับโมเดลธุรกิจครั้งใหม่ ด้วยการมุ่งหน้าสู่ 'ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ' (Gas Business) และ 'ธุรกิจไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน' (Renewable Based Power Plant)
ปัจจุบันธุรกิจของกลุ่ม BANPU ได้ขยายห่วงโซ่ธุรกิจจากผู้ผลิตเชื้อเพลิงพลังงานเป็นผู้จัดหาพลังงานครบวงจร ครอบคลุม 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ 'กลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน' ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ รวมถึงงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การตลาด การค้า โลจิสติกส์ และการจัดหาเชื้อเพลิง และสายส่ง 'กลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน' โรงไฟฟ้าจากพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไป และจากพลังงานทดแทน และ 'กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน' ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบครบวงจร ระบบจัดเก็บพลังงาน และระบบการจัดการเทคโนโลยีพลังงาน
'สมฤดี ชัยมงคล' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู หรือ BANPU เล่าให้ฟังว่า เป้าหมายการทำธุรกิจในปีช่วง 2-5 ปีข้างหน้า (2562-2566) จะเน้นการเติบโตจาก 'ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ' (Gas Business) และ 'พลังงานหมุนเวียน' สอดคล้องกับการเตรียมงบลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ มูลค่า 500 ล้านดอลลาร์ หรือ 15,000 ล้านบาท
ในการเข้า 'ซื้อกิจการ' แหล่งก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯ คาดว่าจะสรุปได้ในช่วงครึ่งหลังปี 2562 จำนวน 1-2 แหล่ง โดยจะใช้เงินลงทุนประมาณ 200-500 ล้านดอลลาร์ ซึ่งแหล่งก๊าซธรรมชาติดังกล่าวมีปริมาณสำรองแสนล้านล้านลูกบาศก์ฟุต และเชื่อว่าจะช่วยหนุนให้ผลประกอบการในไตรมาส 3 และ 4 ของปีนี้ออกมาดีที่สุดด้วย เพราะจะมีรายได้จากธุรกิจก๊าซธรรมชาติจะเข้ามาเพิ่มเติม ขณะที่ราคาขายถ่านหินและก๊าซฯยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่มาก
หากดูการลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ นับตั้งแต่เมื่อปี 2559 บริษัทลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ โดยได้ลงทุนในกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนด้วยการถือหุ้นในสัดส่วน 29.4% ในสินทรัพย์ Chaffee Corners Joint Exploration Agreement (JEA) ซึ่งเป็นผู้ผลิตก๊าซที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ มีแหล่งผลิตอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของแหล่ง Marcellus Shale ในมลรัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐ มูลค่าการลงทุนจำนวน 109.53 ล้านดอลลาร์
โดยบริษัทใช้เงินลงทุนระหว่างปี 2559-2561 ไปแล้วจำนวน 522 ล้านดอลลาร์ โดยที่บริษัทได้รับกำไรเข้ามากว่า 100 ล้านดอลลาร์ ประมาณ 25% ขณะที่ในปี 2562-2563 บริษัทเตรียมเงินลงทุนไว้อีก 500 ล้านดอลลาร์ ซึ่งคาดว่ากำไรที่จะมีเข้ามาสามารถที่จะเพิ่มขึ้นเกินกว่า 'เท่าตัว' ของปี 2561 และมีรายได้เติบโตถึง 'พันล้านดอลลาร์'
ดังนั้น ธุรกิจก๊าซธรรมชาติจะเป็น 'พระเอก' อีกตัวหนึ่งในการสร้างกำไรและกระแสเงินสดในกับบริษัทในทุกไตรมาสจากนี้ต่อไป ในปีนี้จะเป็นตัวหลักที่บริษัทให้ความสำคัญ และมุ่งเน้นการลงทุนเพิ่มระยะเวลา 2-5 ปี
'นายหญิง' เล่าให้ฟังต่อว่า ในธุรกิจก๊าซธรรมชาตินั้น บริษัทมีขีดความสามารถในการแข่งขันได้ หากมองในแง่ของผลประกอบการเปรียบเทียบดูในแหล่งผลิตของบริษัท ซึ่งต้นทุนการผลิตและด้านกระแสเงินสดของบริษัทนั้นถือว่า 'ต่ำกว่าคู่แข่ง' โดยบริษัทมีต้นทุนการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 1.16 ดอลลาร์ ส่วนคู่แข่งมีต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 1.47 ดอลลาร์
ทั้งนี้ หากมองในแง่ของ 'มาร์จิน' ของบริษัทสูงกว่าค่าเฉลี่ยเช่นกันอยู่ที่ 52% ขณะที่ค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยยู่ที่ 51% ซึ่งสะท้อนว่าแหล่งก๊าซธรรมชาติที่บริษัทผลิตอยู่มีศักยภาพและคุณภาพในการสร้างกระแสเงินสดให้กับบริษัทได้อีกมากในอนาคต
อย่างไรก็ตาม เธอบอว่า ปัจจุบันบริษัทเน้นผลิตภัณฑ์ (โปรดักท์) ของก๊าซธรรมชาติ (ธุรกิจต้นน้ำ) มากกว่า ทว่าในแผนระยะยาวมีโอกาสเห็นบริษัทขยายการลงทุนเข้าไปในธุรกิจกลางน้ำอย่าง 'ธุรกิจการขนส่งก๊าซธรรมชาติ' โดยในธุรกิจก๊าซธรรมชาติที่สหรัฐ จะใช้การขนส่งทางท่อเป็นหลัก ในปี 2561-2564 จะมีท่อก๊าซใหม่ๆ เพิ่มเข้ามา เพื่อรองรับการเติบโตของการใช้ก๊าซในสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่จะทำให้บริษัทสามารถเพิ่มกำลังการผลิตและจำหน่ายเข้าไปในท่อก๊าซใหม่ๆ หรือว่าโอกาสที่บริษัทจะเข้าไปร่วมทุนในธุรกิจวางท่อก๊าซได้ และ 'ธุรกิจปลายน้ำ' ในการใช้ก๊าซธรรมชาติ อย่าง ธุรกิจการผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นต้น
'โอกาสขยายธุรกิจก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯ มีอีกมาก ทว่าปัจจุบันเราต้องการเน้นในเรื่องของการผลิตและทำกำไรจากการผลิตให้อยู่ในระดับที่ดีๆ ก่อนที่เราจะขยายธุรกิจเข้าไปในธุรกิจกลางน้ำ-ปลายน้ำที่มีสูงมาก คาดว่าจะเห็นในปี 2025 เป็นต้นไป'
นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งโอกาสที่บริษัทจะขยายลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ คือการส่งออกโปรดักท์ก๊าซธรรมชาติออกมาจำหน่ายในภูมิภาคอื่นๆ หากดูความต้องการ (ดีมานด์) ใช้ก๊าซธรรมชาติของภูมิภาคในเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามที่หลายๆ ประเทศในภูมิภาคเอเชีย จะเห็นว่ามีการสร้างท่าเรือเตรียมที่จะรองรับการนำเข้าก๊าซเพิ่มมากขึ้น โดยประเทศที่มีการเติบโตระดับสูงๆ ดังนั้น การที่บริษัทมีธุรกิจก๊าซธรรมชาติก็สามารถที่จะสร้างโอกาสในการที่จะส่งออกมาขายในภูมิภาคเอเชียได้เช่นกัน
ส่วน 'ธุรกิจพลังงานทานหมุนเวียน' ก็ยังคงลงทุนเพิ่มในส่วนของพลังงานทดแทนไม่ว่าจะเป็น พลังงานแสงอาทิตย์ ในประเทศญี่ปุ่น , จีน และเพิ่มพลังงานลมในประเทศเวียดนาม โดยในครึ่งปีหลังได้เตรียมจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบเชิงพาณิชย์ (COD) จำนวน 2 โครงการ กำลังการผลิตรวม 71 เมกะวัตต์
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงเป้าหมายขยายกำลังการผลิตให้ได้มากกว่า 4,300 เมกะวัตต์ และมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 20% ภายในปี 2568 จากปัจจุบันมีกำลังการผลิต 2,150 เมกะวัตต์ ซึ่งหากรวมกับโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาในประเทศญี่ปุ่น จีน และเวียดนาม จำนวน 19 โครงการจะทำให้มีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 2,870 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ บริษัทยังได้เจรจากับพันธมิตรในประเทศเวียดนาม เพื่อลงทุนในโครงการโซลาร์ฟาร์ม ขนาดกำลังการผลิต 400 เมกะวัตต์อีกด้วย
ขณะที่ 'ธุรกิจถ่านหิน' บริษัทจะไม่เน้นขยายการลงทุนมากขึ้น แต่จะคงปริมาณการผลิตไว้เท่าเดิม แต่ว่าบริษัทสามารถที่จะใช้ปริมาณสำรองได้ยาวนานมากขึ้น โดยมองทิศทางธุรกิจถ่านหินในปี 2562 ว่า 'ตลาดจีน' ตอนนี้รัฐบาลจีนพยายามลดปริมาณการใช้ถ่านหินลง ตามทิศทางแผนระยะยาวคือ สัดส่วนการใช้ปริมาณถ่านหินปัจจุบันอยู่ที่ 65% จะถูกลดลงและเกลี่ยไปที่แหล่งเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติและพลังงานทดแทนมากขึ้น ฉะนั้นในปีนี้บริษัทยังมองว่ามีความเป็นไปได้ที่จีนนำเข้าถ่านหินลดลง
ทว่าว่าในส่วนประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาจะเห็นว่าเขายังมีความพยายามที่เน้นการใช้ถ่านหินมากขึ้น เนื่องจากว่าราคาถ่านหินถูก เช่น ประเทศอินเดีย ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และประเทศในแถบแอฟริกา เป็นต้น
ส่วนในเรื่องของการผลิตถ่านหิน ตอนนี้เราเห็นปริมาณการผลิตถ่านหินเพิ่มขึ้นไม่มาก ซึ่งในประเทศอินโดนีเซียคาดว่าจะเห็นการผลิตถ่านหินแค่ 7 ล้านตัน หรือ 3% ถือว่าน้อยมาก ส่วนออสเตรเลียแถบจะไม่เพิ่มกำลังการผลิต เพราะฉะนั้นโดยรวมมองว่าปีนี้ดีมานด์และซับพลายค่อนข้างที่จะอยู่ในสภาพที่สมดุลแล้ว
สำหรับในแง่ของราคาถ่านหิน อนาคตโอกาสที่ราคาจะปรับตัวขึ้นแต่เป็นในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปจะหวือหวามาก โดยในปีนี้ราคาขายถ่านหินอาจจะปรับตัวลงมาเล็กน้อย จากราคาขายที่ปรับตัวขึ้นไปสูงสุดเมื่อปีก่อน 120 ดอลลาร์ต่อตัน โดยปลายปีก่อนต่อเนื่องมาถึงต้นปีนี้ราคาค่อยๆ ปรับลดลงอยู่ที่ 85-86 ดอลลาร์ต่อตัน ถือว่าราคาปรับลดลงมาไม่ได้รุนแรง
ขณะที่การขายของบริษัทจะเน้นขายไปในประเทศเวียดนามมากขึ้น เนื่องจากเราต้องการเปิดตลาดใหม่ ซึ่งในปีก่อนเรามีการขายเข้าไป 'ล้านตัน' และในปีนี้ตั้งเป้าขายเข้าไปเพิ่มมากขึ้น โดยภาพรวมในปีนี้ บริษัทคาดว่าจะมียอดขายถ่านหิน 47.3 ล้านตัน โดยแบ่งเป็นยอดขายที่มาจากเหมืองในประเทศออสเตรเลีย 14.2 ล้านตัน ประเทศอินโดนีเซีย 28 ล้านตัน
สำหรับ ทิศทางที่บริษัทเข้าไปลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯ นั้น ถือว่าเป็นโอกาสที่ดี เพราะว่าเป็นช่วงที่การผลิตเซลล์แก๊สในสหรัฐฯ เป็นช่วงที่บูมมากๆ และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลค่อนข้างมาก โดยคาดว่าในปี 2040 ปริมาณแก๊สเพิ่มขึ้นจาก 3.1 พันล้านตันออยล์ เป็น 4.4 พันล้านตันออยล์ ในส่วนของพลังงานทดแทนเพิ่มจาก 2 พันล้านเมกะวัตต์ เป็น 3.6 พันล้านเมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นค่อนข้างสูง
ขณะที่ในส่วนของถ่านหินไม่ได้ลดลงอยู่ที่ 3.8 พันล้านตัน ซึ่งมองไปข้างหน้ามีความเป็นไปได้ที่ความต้องการถ่านหินยังคงเพิ่มเช่นเดียวกัน แต่ที่สำคัญการเติบโตของการใช้ก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ติดกับสหรัฐฯ เช่น เม็กซิโก หรือแม้กระทั้งการส่งก๊าซธรรมชาติที่จะออกมาขายในต่างประเทศก็ยังมีความเป็นไปได้สูง
สำหรับทิศทางผลประกอบการในช่วงไตรมาส 2 ปี 2562 จะดีกว่าช่วงไตรมาส 1 ปี 2562 และดีกว่าช่วงไตรมาส 2 ปี 2561 หลังได้รับปัจจัยหนุนจากการผลิตจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในฐานการผลิตประเทศอินโดนีเซีย และออสเตรเลีย
'ด้วยราคาขายถ่านหิน และราคาขายก๊าซธรรมชาติยังทรงตัว แต่ด้วยปริมาณที่เพิ่มขึ้นทำให้ทิศทางผลประกอบการจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง'
ท้ายสุด 'สมฤดี' ทิ้งท้ายไว้ว่า เป้าหมายการเติบโตปี 2562 เราจะเน้นการเติบโตธุรกิจก๊าซธรรมชาติและพลังงานหมุนเวียน ขณะที่ธุรกิจถ่านหินยังสร้างกระแสเงินสดได้เหมือนเดิม และเทคโนโลยีพลังงานมีการเติบโตขึ้นแต่จะยังไม่ได้เข้ามาในรูปแบบของกำไร