แกะรอยนักล่าฝัน เถ้าแก่ขาลุย..! ยุค 4.0
ถอดสูตรธุรกิจ ลูกครูผู้ฝันอยากเป็นเถ้าแก่ตั้งแต่วัยเยาว์ อดทนสู้ชีวิตผ่านมาหลากหลายอาชีพตั้งแต่ เซลล์ขายยา ธุรกิจสแน็ค ส่งออกหมอนยางพารา กิจการล่าสุดคือ ธุรกิจวิจัยและพัฒนาเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อนำความรู้ปลุกวงการเกษตรไทย ทะยานรับยุค 4.0
พิริยศาสตร์ ตระการจันทร์ ผู้บริหารและเจ้าของ 3 ธุรกิจ คือ บริษัทป.เกรียบกุ้งอุตสาหกรรมอาหาร จำกัด ผลิตขนมขบเคี้ยว หรือ สแน็ค(Snack) ข้าวเกรียบแผ่น ธุรกิจที่ 2 หจก. โฟ ยู เนเชอะ (ไทยแลนด์) ผู้ผลิตหมอนยางพารา แบรนด์ “พาราโต้” (PARATO)แฮนด์เมด และผลงานนวัตกรรมยกทรง ล่าสุดแตกไลน์ธุรกิจทำห้องปฏิบัติการวิจัยและพัฒนา (แล็บ) เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพันธุ์พืช
ชีวิตในวัยเด็กของพิริยศาสตร์ หนุ่มลูกอีสานแม่เป็นครู เติบโตมาพร้อมความฝันอยากเป็นเถ้าแก่ คิดว่าจะยกระดับชีวิตครอบครัว เพราะวัยเด็กรับแรงกดดันให้ต้องดิ้นรนเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น โดยได้อิทธิพลความคิดของแม่หล่อหลอมให้เขามีวิธีคิด รู้จักรับผิดชอบวิถีชีวิตของตัวเอง
เขาต้องการเร่งเรียนให้จบ จึงใช้วิธีเรียนลัดกับการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) เพื่อที่จะจบมัธยมได้เร็วกว่าเพื่อนวัยเดียวกัน แล้วเข้าสู่ถนนคนทำงานให้เร็วที่สุดหวังช่วยแม้ปลดหนี้ที่ต้องไปค้ำประกันเงินกู้ให้ครู และหาโอกาสสร้างความมั่นคงในชีวิตให้รวดเร็ว
เพราะมีความเชื่อว่าถนนสายผู้ประกอบการ หรือเป็นเจ้าของกิจการคือเส้นทางสร้างความมั่นคงให้ชีวิต โดยเห็นภาพของคนเป็นเถ้าแก่ค้าขายในตลาดแล้วดูมีชีวิตมั่งคั่งและมั่นคง เงินสดคล่องมือ ไม่ลำบาก จึงเป็นเป้าหมายของเขา
“อยากเป็นเจ้าของกิจการมาตลอด ผมเห็นแม่ที่ปั่นจักรยานไปทำงานวันละ 10 กิโล จึงมีแม่เป็นต้นแบบชีวิต ในการต่อสู้ดิ้นรนขยันมานะและอดทน แม่ให้อิสระความคิดแต่เราต้องรับผิดชอบตัวเองเมื่อเลือกเส้นทางไหนแล้วก็ต้องทำให้สำเร็จ ตอนอยู่บ้านพักครูในโรงเรียนกับแม่ ก็ใช้เวลาว่างเก็บขวดพลาสติกขายหารายได้เสริมแทนวิ่งเล่นในรั้วในโรงเรียนเพียงอย่างเดียว พอเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยก็ทำงานกลางวันเข้าเรียนภาคค่ำ” เขาเล่าถึงชีวิตทำงานคู่กับเรียนมาตลอด
หลังเรียนจบสาขาด้านการตลาด พิริยศาสตร์เข้าสู่ถนนคนทำงานอาชีพแรกยังเป็นมนุษย์เงินเดือน ตำแหน่งเซลล์ขายยาให้กับโรงพยาบาลเอกชน ตามมาด้วยเซลล์ในหลากหลายธุรกิจ ตั้งแต่เทเลคอม ธนาคาร ยานยนต์ จนถึงวัสดุก่อสร้าง แต่เขาย้ำว่าแม้เป็นลูกจ้างแต่ยังมีหัวใจผู้ประกอบการเต็มเปี่ยม ชอบคิดอย่างเถ้าแก่ เข้าใจเป้าหมายธุรกิจ ศึกษาตลาดและคู่แข่ง เมื่อไปสมัครงานบริษัทใหญ่จึงไม่มีพลาด ได้งานทุกครั้งที่ยื่นใบสมัคร
ไม่ว่าจะทำงานหรือเรียนสิ่งที่เขาทำคือ การไม่ปล่อยให้ตัวเองหยุดนิ่งค้นหามองหาสิ่งใหม่อยู่เสมอ ระหว่างเรียนก็หางานพาร์ทไทม์ทำ พอว่างจากทำงาน ช่วงเสาร์ อาทิตย์แทนที่จะไปตระเวนหาของอร่อยกิน หรือชอปปิง ก็ไปหารายได้เสริมจากการทำงาน เช่น ขายของออนไลน์ ขายกาแฟ
เขามีจุดพลิกหลังเป็นเซลล์มากว่า 10 ปี โดยยอมทุบกระปุกเงินเก็บ พร้อมกับขายรถเพื่อใช้เป็นทุนรอน บินไปเรียนต่อที่ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย พร้อมกับทำงานเป็นเด็กล้างจาน จนเก็บเงินได้สักพักก็กลับมาตั้งหลักปั้นธุรกิจแรกของชีวิต เริ่มต้นจากตลาดขนมขบเคี้ยว หรือ สแน็ค (Snack) ภายใต้แบรนด์ ป.เกรียบกุ้ง ทำมา 2 ปีจึงจดทะเบียนบริษัท ป.เกรียบกุ้งอุตสาหกรรมอาหาร จำกัด ในปี 2556 เพื่อผลิตสินค้ากลุ่มตลาดสแน็ค ซึ่งผลวิจัยพบว่ามูลค่าตลาดสูงถึง 27,000 ล้านบาท
ตั้งต้นการผลิตจากความไม่รู้อะไรเลย แต่ทุ่มเท กัดไม่ปล่อย ค้นหาข้อมูลทดลองสูตรทอดข้าวเกรียบบนยูทูปจนลงตัว จากนั้นก็เร่ขายส่งตามร้านขายของชำในภาคอีสาน ตั้งแต่ อุบลราชธานี ศรีษะเกษ อำนาจเจริญ สุรินทร์ หนองคาย ขอนแก่น ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ สกลนครและยโสธร โดยรวมกว่า 8,000 ร้านค้า พร้อมกับหาช่องทางในร้านสะดวกซื้อ และโมเดิร์นเทรด จนถึงการขยายตลาดยังประเทศเพื่อนบ้าน
“ความยากอยู่ตรงช่วงเริ่มต้นขาดแคลนเงินทุน เพราะไม่มีแบงก์ไหนให้กู้โดยมีแค่ไอเดีย แต่ยังไม่ได้เริ่มและไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ทุนก้อนแรกที่นำมาลงทุนจึงรวบรวมเงินจากบัตรเครดิต 10 ใบรวมๆ 1 ล้านบาท เพื่อไปลงทุนเครื่องจักรขนาดเล็ก นำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ผ่านไป 3 เดือนก็ล้างหนี้บัตรเครดิตรได้” เขาเล่าถึงวิธีก้าวข้ามอุปสรรคแบบยอมเสี่ยง แต่เขามองว่าเป็นความเสี่ยงที่เห็นโอกาสตลาด เพราะตลาดสแน็คยังมีช่องว่างมหาศาลและวิธีทำการตลาดรวมถึงรสชาติสินค้า
เมื่อธุรกิจเป็นรูปร่างมีตลาดชัดเจน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เห็นความตั้งใจทำจริง ยอมให้เงินทุนเพิ่ม 2 แสนบาท เป็นสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ
เมื่อข้าวเกรียบปูพรมทั่วอีสาน เขาจึงคิดต่อยอดเพิ่มสินค้าใหม่ๆ ในกลุ่มสแน็ค ด้วยการนำวัตถุดิบในท้องถิ่นอื่นๆ มาแปรรูปในรสชาติที่แตกต่างกัน เช่น ปลายข้าวหักคลุกข้าวไรเบอรี่ เป็นสแน็คบาร์ หรือ ซีเรียลอาหารเช้า ที่กำลังขยายส่งออกในประเทศเพื่อนบ้าน(CLMV) และแนะนำตลาดแล้วในญี่ปุ่น
จากการศึกษาสินค้าเกษตรในท้องถิ่นจนพบปัญหาสินค้าราคาตกต่ำที่รัฐยังแก้ไม่ตกชนิดหนึ่งคือ ยางพารา เพราะคนแห่แหนปลูกทุกภาค ด้วยความหวังจะได้รวยจากราคายางที่เคยขึ้นสูงไปถึง 180 บาทต่อกิโลกรัม(ก.ก.) โดยไม่รู้ว่าเมื่อผลผลิตล้นราคาเคยตกต่ำดำดิ่งถึง 3 ก.ก.100 บาท แม้ช่วงหนึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำยางพาราเบอร์หนึ่งของโลก แต่นั่นก็ไม่ได้ช่วยให้เกษตรกรไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น
จนเป็นที่มาของการรับซื้อยางพาราจากเกษตรกรไปเพิ่มมูลค่าเป็นหมอนยางพารา แบรนด์ “พาราโต้”(Parato) จดทะเบียนบริษัท โฟ ยู เนเชอะ (ไทยแลนด์) ในปี 2559 แตกต่างจากในตลาดตรงที่เป็นหมอนแฮนด์เมด มีกระบวนการผลิตใช้วิธีการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เข้าเตาอบพลังานแสงอาทิตย์ เติมถ่าน (ชาโคล) และซิลเวอร์นาโน เพื่อช่วยป้องกันเชื้อรา และดูดซับกลิ่นจากยางพารา พร้อมกันกับดีไซน์เป็นรูปถาดรองไข่รองรับกับสรีระลดการนอนกรน ไม่ปวดต้นคอ
ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากยางพาราไม่หยุดเพียงแค่หมอน แตกไลน์การผลิตไปสู่เสื้อชั้นในนวัตกรรมยกทรง (บรา) ช่วงพยุงสรีระผู้หญิง มีคุณสมบัติเด่นกว่าฟองน้ำ หรือโฟม ตรงที่ไม่เป็นแหล่งสะสมของเชื้อราและไรฝุ่น หลังจากบินไปเจรจาธุรกิจกับจีนปรากฎว่าได้คำสั่งซื้อถึง 10 ล้านชิ้น โดยเตรียมเปิดตัวในไตรมาสที่ 3 ปีนี้
ตามมาด้วยนวัตกรรมจากยางพาราอีกหลากหลายผลิตภัณฑ์ ทั้งหมอนขิดลายไทยหลากหลายทรง และชุดว่ายน้ำ ธุรกิจทั้งหมดอยู่บนหลักคิด เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร มีนวัตกรรม เป็นที่ต้องการของตลาด
เมื่อตลาดกำลังเติบโตจึงเริ่มเนื้อหอมมีพันธมิตรชวนเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยเสนอเงินทุนเพื่อช่วยขยายกำลังการผลิตในโรงงาน ช่วยปลดล็อกปัญหาปริมาณการผลิตหมอนไม่เพียงพอกับคำสั่งซื้อ
ล่าสุดธุรกิจที่ 3 พิริยศาสตร์ต้องการต่อยอดจากความเป็นพื้นฐานประเทศเกษตรกรรมของคนไทย จึงเปิดธุรกิจห้องปฏิบัติการวิจัยและพัฒนา(แล็บ) เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพันธุ์พืช (Tissue Culture Lab) เชิงพาณิชย์ เช่น กล้วย โดยทำงานร่วมกันกับหน่วยงานภาครัฐและมหาวิทยาลัย นำองค์ความรู้ที่ได้ช่วยให้การต่อยอดวิธีการปลูกพืชให้ได้ผลผลิตดีมีประสิทธิภาพ รักษาสายพันธุ์ให้แข็งแรง เป็นการนำเทคโนโลยีมาช่วยขยายองค์ความรู้การบริหารจัดการด้านการเกษตรของไทย หนึ่งในฟันเฟืองผลักดันให้ประเทศก้าวสู่ยุค4.0
ผ่านมาหลากหลายอาชีพ และธุรกิจ สิ่งที่เขาค้นพบตลอดคือ ต้องก้าวอย่างไม่หยุดนิ่ง เพราะสินค้าที่เคยขายดีในวันนี้อาจจะขายไม่ดีในดีถัดไป จึงต่อยอดสินค้าใหม่ตลอดเวลา พร้อมกันกับมองหาโอกาสใหม่ๆ แตกไลน์ธุรกิจเสมอ
เขายังอยากเป็นแรงบันดาลใจให้คนไทยที่ฝันอยากเป็นผู้ประกอบการอย่าเพียงแค่คิด ฝัน แต่ต้องลงมือทำ หาข้อมูล ช่องทางภาครัฐหลากหลาย และโลกอินเทอร์เน็ต ที่มีข้อมูลทุกด้านผู้ประกอบการผู้กล้าฝัน
“วิธีคิดและการเริ่มเรียนรู้ ลงมือทำสำคัญที่สุด ชีวิตคนเราจะมีช่วงเวลา 10 ปีไม่กี่ครั้ง สิบปีแรกไร้เดียงสา สิบปีที่2 ช่วงศึกษา สิบปีที่ 3 ทำงาน สิบปีที่ 4 สร้างเนื้อสร้างตัว สิบปีที่ 5 วัยชรา สิบปีที่6 ดูแลสุขภาพ สิบปีที่ 7 เตรียมตัวจากไป ต้องรีบตัดสินใจลงมือทำสร้างเนื้อสร้างตัว และไม่กลัวผิดพลาด”