OpenAI เปิดสายด่วน ‘1-800-ChatGPT’ พร้อมคุยเป็นเพื่อนแก้เหงาช่วงเทศกาล
เหงาก็โทรมานะ OpenAI จับกระแสความโดดเดี่ยว เปิดให้บริการโทรคุยกับ ChatGPT ในช่วงวันหยุดเทศกาลผ่านหมายเลข ‘1-800-242-8478’ คำถามต่อไปคือ คุณจะโทรหรือส่งข้อความหาเอไอในวันคริสต์มาสหรือไม่?
ธันวาคมเป็นเดือนที่เต็มไปด้วยเทศกาล ไม่ว่าจะเป็นคริสต์มาส หรือเตรียมตัวขึ้นปีใหม่ เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการรวมตัวของครอบครัวและมิตรสหาย หากแต่ก็ยังคงมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีโอกาสได้กลับบ้านหรือพบปะผู้คน จึงต้องใช้ชีวิตอยู่ตามลำพังโดยมีเพียง “ความเหงา” เป็นเพื่อนข้างกาย
ด้วยเหตุนี้ OpenAI บริษัทปัญญาประดิษฐ์ จับกระแสความเหงาที่กำลังระบาด ตัดสินใจปล่อยบริการใหม่ของ ChatGPT ให้ผู้ใช้งานสามารถโทรศัพท์และส่งข้อความสนทนากับเอไอได้ ผ่านหมายเลขโทรศัพท์ “1-800-ChatGPT” โดยไม่จำเป็นต้องมีบัญชีผู้ใช้
สำหรับผู้ที่สนใจใช้บริการนี้ สามารถเริ่มต้นสนทนาด้วยการโทรไปที่หมายเลข “1-800-242-8478” จากเบอร์โทรศัพท์ในสหรัฐอเมริกาหรือแคนาดา หรือเลือกส่งข้อความผ่านแอปพลิเคชัน WhatsApp โดยจะสามารถโทรฟรีได้ 15 นาทีต่อเดือน และผู้ใช้ในต่างประเทศสามารถเข้าถึง ChatGPT ผ่าน WhatsApp ได้ โดยส่งข้อความไปยังหมายเลขดังกล่าวเช่นเดียวกับผู้ใช้ในสหรัฐ
ทั้งนี้ ChatGPT จะไม่เป็นฝ่ายริเริ่มการติดต่อ กล่าวคือ เอไอจะไม่โทรหาผู้ใช้ก่อน เว้นแต่ผู้ใช้จะเป็นฝ่ายต้องการสนทนาด้วยตนเอง คำถามต่อไปคือ ในช่วงวันหยุดเทศกาล คุณจะโทรหาหรือส่งข้อความหา ChatGPT เพื่อคุยเป็นเพื่อนแก้เหงาหรือไม่?
ปรากฏการณ์การใช้เอไอเพื่อเป็นเพื่อนคุยไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการเทคโนโลยี ก่อนหน้านี้มีแพลตฟอร์มอย่าง Replika ที่มีผู้ใช้งานมากกว่า 10 ล้านคนทั่วโลก และ Character.ai ที่ให้ผู้ใช้สร้างตัวละครเสมือนจริงเพื่อพูดคุย แต่การที่ ChatGPT ซึ่งเป็นเอไอแถวหน้าของโลกหันมาให้บริการด้านนี้ สะท้อนให้เห็นว่าความเหงากำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่บรรดาบริษัทเทคโนโลยีต่างต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไข
ผลการศึกษาที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร JAMA ปี 2567 ระบุว่า ชาวอเมริกันอายุระหว่าง 50-80 ปี จำนวนหนึ่งในสามรู้สึกขาดเพื่อนหรือความใกล้ชิด งานวิจัยดังกล่าวรวบรวมข้อมูลเป็นเวลา 6 ปี จากการสำรวจระดับประเทศของมหาวิทยาลัยมิชิแกน โดยแสดงให้เห็นว่าความรู้สึกเหงาและการแยกตัวทางสังคมได้กลับสู่ระดับก่อนการระบาดของโควิด-19 หลังจากที่เคยเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงการแพร่ระบาด
นอกจากนี้ ความเหงายังพบได้บ่อยในกลุ่มที่มองว่าสุขภาพร่างกายหรือจิตใจของตนอยู่ในระดับปานกลางหรือแย่
นายแพทย์วิเวก เมอร์ธี ศัลยแพทย์ใหญ่แห่งสหรัฐอเมริกาซึ่งเทียบเท่ากับตำแหน่งอธิบดีกรมอนามัยของไทยเรียกปัญหานี้ว่า “การระบาดของความเหงาและการแยกตัว” การขาดการเชื่อมต่อทางสังคมมีอันตรายเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ 15 มวนต่อวัน และเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจร้อยละ 29 โรคหลอดเลือดสมองร้อยละ 32 และการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรร้อยละ 60
ข้อมูลการศึกษาพบว่าเวลาที่ผู้คนใช้กับเพื่อนลดลงจาก 30 ชั่วโมงต่อเดือนในปี 2546 เหลือเพียง 10 ชั่วโมงหลังผ่านไป 17 ปี และในกลุ่มอายุ 15-24 ปี เวลาที่ใช้กับเพื่อนลดลงถึงร้อยละ 70 โดยสถานการณ์โควิด-19 ยิ่งทำให้แนวโน้มนี้เลวร้ายลง
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการหลายคนแสดงความกังวลว่า การพึ่งพาเอไอเพื่อคลายเหงาอาจไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืน เพราะความสัมพันธ์กับเอไอเป็นเพียงการสะท้อนตัวตนของผู้ใช้เอง ไม่ได้สร้างทักษะการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างแท้จริง
ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตระบุว่า แม้เอไอจะช่วยบรรเทาความเหงาได้ในระยะสั้น แต่ไม่สามารถทดแทนความสัมพันธ์ที่แท้จริงได้ เพราะมนุษย์ต้องการการปฏิสัมพันธ์ที่มีชีวิตชีวา การแบ่งปันอารมณ์ความรู้สึก และการเติบโตร่วมกันผ่านประสบการณ์ต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่เอไอไม่สามารถให้ได้อย่างสมบูรณ์ และควรระมัดระวังในกลุ่มผู้ใช้ที่มีความเปราะบางทางอารมณ์
การแก้ปัญหาความเหงาในระยะยาวจึงต้องเริ่มจากการสร้างความสัมพันธ์ในโลกจริง การเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม และการให้ความสำคัญกับการพบปะผู้คน แม้เทคโนโลยีจะช่วยเชื่อมต่อเราได้ง่ายขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องใช้มันเป็นเครื่องมือเสริม ไม่ใช่ทดแทนความสัมพันธ์ที่แท้จริง เพราะท้ายที่สุดแล้ว ความอบอุ่นของมนุษย์ไม่สามารถถูกแทนที่ด้วยอัลกอริทึมได้