เหงาในยุคที่ทุกอย่างเชื่อมต่อ ‘AI‘ กลายเป็นคนแก้เหงาชั่วคราว?

เหงาในยุคที่ทุกอย่างเชื่อมต่อ ‘AI‘ กลายเป็นคนแก้เหงาชั่วคราว?

ความเหงาเป็น ‘โรคระบาดเงียบ’ ของสังคมสมัยใหม่ ส่งผลกระทบทั้งต่อสุขภาพกาย และใจ แชตบอต AI ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นเพื่อนคุย แต่มันจะเป็นทางออกหรือทางตันกันแน่? กรุงเทพธุรกิจ ชวนหาคำตอบ

“อ้างว้างท่ามกลางคอนเนคชันนับพัน”

ยุคที่เราสามารถเชื่อมต่อกับใครก็ได้ทั่วโลกเพียงปลายนิ้วสัมผัส หากแต่หลายคนกลับรู้สึกโดดเดี่ยวมากขึ้น ความเหงาได้กลายเป็น “โรคระบาดเงียบ” ของสังคมสมัยใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาพร้อมกับโลกดิจิทัล และกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับการดูแลจากลูกหลานอย่างใกล้ชิด 

แม้ว่าเราจะมี “เพื่อน” นับร้อยนับพันบนโซเชียลมีเดีย แต่จำนวนคอมเมนต์ และไลค์กลับไม่สามารถเติมเต็มความรู้สึกว่างเปล่าในใจได้ 

ในปี 2023 ศัลยแพทย์ใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ดร.วิเวก มูร์ธ ได้เน้นย้ำถึงความเหงา โดยจัดให้เป็น “ปัญหาสาธารณสุขที่ร้ายแรง” ความเหงาเรื้อรังอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ถึง 26% ซึ่งเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่วันละ 15 มวน

ท่ามกลางปัญหานี้ แชตบอต AI ได้เข้ามามีบทบาทในฐานะ “เพื่อนคุย” แต่คำถามสำคัญคือ เทคโนโลยีนี้กำลังเยียวยาหรือซ้ำเติมความโดดเดี่ยว?

AI เพื่อนเสมือนหรือตัวเร่งความเหงา?

ดร.คอร์เนเลีย วอลเธอร์ ผู้บุกเบิกการวิจัย AI เพื่อสังคมผ่านพันธมิตร POZE เขียนบทความผ่านสำนักข่าว Forbes ไว้ว่า แชตบอต AI ถูกพัฒนาขึ้นด้วยเทคโนโลยีการประมวลผลภาษาธรรมชาติ ทำให้สามารถเข้าใจ และตอบสนองต่อข้อความของมนุษย์ได้อย่างแม่นยำ บางระบบถึงขั้นสามารถจดจำบริบทของการสนทนา และปรับเปลี่ยนบุคลิกภาพให้เข้ากับผู้ใช้ได้ ทำให้การพูดคุยเป็นธรรมชาติมากขึ้น

ดังนั้น ช่วงหลายปีที่ผ่านมาการพัฒนาแชตบอต และหุ่นยนต์ที่ออกแบบมาเพื่อเป็น “เพื่อน” ของมนุษย์ นั้นเริ่มมีมากขึ้น แต่คำถามคือ สิ่งเหล่านี้จะช่วยบรรเทาความเหงาได้จริงหรือ?

ลองนึกภาพคุณยายที่อาศัยอยู่คนเดียว มีหุ่นยนต์คอยพูดคุย และเตือนให้รับประทานยา แม้จะดูเหมือนว่าคุณยายไม่ต้องอยู่ตามลำพัง แต่สิ่งที่ AI ไม่สามารถให้ได้คือ ความอบอุ่นจากการกอด หรือรอยยิ้มที่จริงใจจากคนที่เรารัก หากเราใช้ AI มาทดแทนการพูดคุยกับคนจริงๆ มากเกินไป อาจทำให้เรายิ่งรู้สึกโดดเดี่ยวมากขึ้น

จากการวิจัยของมหาวิทยาลัย Tu Dresden พบว่า การสัมผัสที่อ่อนโยนจากมนุษย์ด้วยกันสามารถกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมน “ออกซิโทซิน” หรือ “ฮอร์โมนแห่งความรัก” ซึ่งช่วยให้เรารู้สึกปลอดภัย และเป็นที่รัก สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ AI ไม่สามารถทดแทนได้

แล้วเราจะอยู่กับ AI อย่างไรให้ไม่เหงา?

ดร.คอร์เนเลีย ได้แนะนำไว้ว่า แม้ว่า AI จะไม่สามารถแก้ปัญหาความเหงาได้ทั้งหมด แต่เราสามารถใช้มันเป็นเครื่องมือเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ได้ นี่คือ แนวทาง “TOGETHER” ที่สามารถนำไปปรับใช้

  • T - Tech as a Tool: เอไอเป็นเครื่องมือ ไม่ใช่สิ่งที่เข้ามาทดแทน เราสามารถใช้เทคโนโลยีเป็นสะพานเชื่อมสู่การพบปะจริง เช่น ใช้แอปหาเพื่อนทำกิจกรรมในละแวกบ้าน
  • O - Open Conversations: เปิดใจคุยเรื่องความเหงา อย่าอายที่จะบอกคนรอบข้างว่าคุณต้องการ การสนับสนุน ทำให้การพูดคุยเรื่องความเหงากลายเป็นสิ่งปกติ 
  • G - Genuine Connections: สร้างความสัมพันธ์ที่แท้จริง แม้จะเริ่มจากออนไลน์ แต่พยายามพัฒนาสู่การพบกันจริงๆ หรือการที่องค์กรสร้างกิจกรรมขึ้นมาให้พนักงานมีวงสนทนาร่วมกัน อาจเป็นแคมเปญหรือโซนที่เขียนว่า ปลอดเทคโนโลยี เพื่อทำให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง
  • E - Emotional Intelligence: ฝึกเข้าใจอารมณ์ตัวเอง และผู้อื่น เช่น การสอนพนักงานให้รู้จักรับรู้ถึงอารมณ์ จัดการกับความขัดแย้ง และพัฒนาทักษะความเห็นอกเห็นใจ ผู้ปกครอง และนักการศึกษาสามารถสนับสนุนให้เด็กๆ ฝึกฝนทักษะทางอารมณ์ได้โดยการพูดคุยเกี่ยวกับความรู้สึกของตนเอง และเรียนรู้ที่จะแสดงความเห็นอกเห็นใจผ่านกิจกรรมกลุ่ม และการสนทนาที่สะท้อนความคิด
  • T - Thoughtful Tech Use: ใช้เทคโนโลยีอย่างมีสติ กำหนดเวลา “งดใช้โซเชียลมีเดีย” เพื่อให้เวลากับการพบปะผู้คนจริงๆ หรือบริษัทอาจแนะนำ “การประชุมที่ไม่ต้องใช้อุปกรณ์สื่อสาร” เพื่อให้แน่ใจว่าผู้เข้าร่วมจะเข้าร่วมได้เต็มที่
  • H - Holistic Well-being: มุ่งเน้นความเป็นอยู่ที่ดีแบบองค์รวม ดูแลสุขภาพ ทั้งกาย ใจ และความสัมพันธ์กับผู้อื่น
  • E - Empathy in Digital World: ใช้ AI อย่างมีจริยธรรม AI จะถูกใช้เพื่อสนับสนุน ไม่ใช่ทำลายความสัมพันธ์ของมนุษย์
  • R - Real-life Rituals: สร้างกิจวัตรที่ทำให้ได้พบปะผู้คน เช่น เข้าร่วมชมรม หรือทำกิจกรรมอาสาในชุมชน

“เราต้องตระหนักว่า AI เป็นเพียงเครื่องมือ ไม่ใช่ยาวิเศษที่จะแก้ปัญหาความเหงาได้ทั้งหมด การสร้างสมดุลระหว่างการใช้เทคโนโลยี และการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนจริงๆ ยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด” ดร.คอร์เนเลีย กล่าว

ลองถามตัวเองว่า วันนี้คุณได้พูดคุยกับใครแบบเห็นหน้าค่าตากันบ้างไหม? หากยังไม่ได้ ลองวางโทรศัพท์แล้วออกไปทักทายเพื่อนบ้าน หรือโทรหาคนที่คุณรัก บางทีนี่อาจเป็นก้าวแรกที่ทำให้คุณรู้สึกเชื่อมโยงกับโลกมากขึ้นก็ได้   

สุดท้ายนี้ แชตบอต AI อาจเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ในการบรรเทาความเหงาในระยะสั้น แต่ไม่ใช่ยาวิเศษที่จะแก้ปัญหาความโดดเดี่ยวได้ทั้งหมด การสร้างความสัมพันธ์ที่มีความหมายกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการเติมเต็มชีวิตทางสังคมของเรา

อ้างอิง: Forbes

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์