"ตายเหงา" ในสังคมสูงวัยระดับสุดยอดที่ญี่ปุ่น
การตายเหงา กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมสูงวัยระดับสุดยอดของญี่ปุ่น เดิมผู้เขียนแปลคำ Lonely death หรือ kodokushi ว่า “ตายโดดเดี่ยวไม่มีใครรู้”
ขณะที่นิยายสืบสวนญี่ปุ่นเรื่อง บ้านวิกลคนประหลาด 2 โดยอุเก็ตสึ ติดอันดับหนังสือขายดีในร้านหนังสือไทยตอนนี้ แปลว่า “เสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยว” (หน้า 59) นักศึกษาเอกวิชาภาษาญี่ปุ่น คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ช่วยแปลคำนี้ให้สั้นลงว่า “ตายเหงา”
นิยามอย่างเป็นทางการ คือ “การเสียชีวิตตามลำพังโดยไม่มีคนดูแลและร่างนั้นถูกพบเมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งแล้ว” สะท้อนสภาวะก่อนเสียชีวิตว่าไร้ญาติขาดมิตรไม่มีคนเหลียวแล จนกระทั่งวาระสุดท้ายที่สิ้นใจตามลำพัง และยังถูกปล่อยทิ้งไว้นานหลายปี หลายเดือน หรือหลายวันกว่าจะมีคนมาพบ
โดยอาจมีกลิ่นหรือแมลงบินออกไปทำให้ผู้อยู่อาศัยใกล้เคียงผิดสังเกต เงินฝากในบัญชีธนาคารที่หักค่าเช่า และค่าใช้จ่ายอัตโนมัติหมดเกลี้ยง เปิดไฟในห้องทิ้งไว้ ผ้าตากแห้งแล้วไม่มีคนเก็บ หนังสือพิมพ์มาส่งหรือตู้จดหมายเต็มไม่มีคนเก็บ ไม่เห็นออกมาเดินหน้าบ้าน ฯลฯ
ทั้งนี้ได้มีการรณรงค์ “ลดการตายเหงาให้เป็นศูนย์" (zero solitary death) โดยใช้มาตรการเชิงสังคม เช่น สายด่วนโทรแจ้ง การตระเวนตรวจตราพื้นที่โดยอาสาสมัคร และการใช้เทคโนโลยี เช่น การติดตั้งอุปกรณ์เซนเซอร์ชื่อ kizuna (สายสัมพันธ์ทางสังคม) เพื่อติดตามว่าผู้พักอาศัยขาดการเคลื่อนไหวหรือไม่
ในประเทศญี่ปุ่นเกิดธุรกิจจัดการกับปัญหาตายเหงานี้ ไม่ว่าบริการนำร่างผู้ตายไปฌาปนกิจศพให้ เพราะส่วนใหญ่ไม่มีญาติหรือญาติไม่มา โดยใช้เงินประกันชีวิตของผู้ตายหรือเจ้าของห้องเช่าเป็นผู้จ่าย
ตลอดจนงานให้ “บริการทำความสะอาดแบบพิเศษ” เนื่องจากร่างกายเปื่อยเน่าจนมีรอยเปื้อนเป็นวงกว้างบนพื้น ต้องทำความสะอาดจนหมดจดเพื่อปลดปล่อยผู้ตายจากบ้านหลังนั้น เพราะหากยังมีส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายติดอยู่กับบ้าน อาจทำให้ผู้ตายยังมีห่วง การนิมนต์พระมาสวดปัดเป่า แม้กระทั่งเว็บไซต์แนะนำห้องพักพร้อมข้อมูลว่าเคยมีคนตายเหงาในห้องมาก่อนหรือไม่
ตามสถิติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติของญี่ปุ่น ประกาศว่า ไตรมาสแรกของปี 2567 มีผู้สูงอายุญี่ปุ่นที่ตายเหงา 17,000 คน หรือ 1,500 คนต่อสัปดาห์ (รวมการฆ่าตัวตาย) คาดว่าทั้งปีจะสูงถึง 68,000 คน และคงจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
สถาบันวิจัยประชากรและประกันสังคมแห่งชาติของญี่ปุ่นรายงานว่า มีผู้สูงอายุอาศัยตามลำพัง 7.38 ล้านคนในปี 2563 จะเพิ่มขึ้นเป็น 11 ล้านคนในปี 2593 ญี่ปุ่นเริ่มเก็บสถิติคนตายเหงาและจำนวนผู้สูงอายุอาศัยตามลำพังมาตั้งแต่ปี 2517
คนญี่ปุ่นช็อกกับข่าวนี้ค่อนข้างมาก เพราะปัญหาความโดดเดี่ยวทางสังคม (social isolation) ของผู้สูงอายุในระยะสุดท้ายของชีวิตย้อนแย้งกับความมั่งคั่งของประเทศ
ภาพของผู้สูงอายุที่หมดลมหายใจท่ามกลางลูกหลานห้อมล้อมอย่างอบอุ่นค่อยๆ จางหายไป ขณะเดียวกันญี่ปุ่นพบปัญหาที่เรียกว่า “8050” นั่นคือบุตรวัย 50 ปีต้องออกจากงานมาดูแลบิดามารดาวัย 80 ปีที่นอนติดเตียง หรือกรณีกลับกันบิดามารดาวัย 80 ปีต้องมาดูแลบุตรที่เจ็บป่วย คู่บิดามารดาและบุตรที่ต้องดูแลกันและกันนี้กำลังเพิ่มขึ้น
เมื่อขาดรายได้ก็ยากจนลง เก็บตัวไม่สุงสิงกับคนนอก เกิดความเครียดสะสม จนเป็นเหตุให้ผู้ดูแลลงมือปลิดชีวิตอีกฝ่ายที่ป่วยและทิ้งศพไว้ หรือฆ่าตัวตายพร้อมกัน เป็นข่าวให้ได้ยินบ่อยครั้ง
ท่ามกลางสังคมคนโสดที่เพิ่มขึ้น ธุรกิจ “เช่าเพื่อน" (rental family service) เพื่อคลายเหงาได้กลายเป็นทางเลือก การใช้บริการจ่ายเงินเพื่อเช่าเพื่อนคุยเล่น กินข้าว ฟังดนตรี ไปเที่ยวสวนสนุกที่เครื่องเล่นมักนั่งคู่ ไปส่งที่สนามบินโบกไม้โบกมืออำลา ยืนเชียร์คอยอยู่ที่เส้นชัยในงานวิ่งมาราธอน
เป็นญาติไปเยี่ยมไข้ที่โรงพยาบาลหรือพาไปหาหมอ คิดค่าบริการ 3 ชั่วโมง 12,000 เยน (หรือ 2,800 บาท) สามารถระบุคุณลักษณะเพื่อนที่ต้องการได้ เช่น เพศ อายุ การแต่งกาย ทรงผม ฯลฯ
จะเหยียบเบรกไม่ให้สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นไปกว่านี้ได้อย่างไร วิธีการระยะสั้นต้องเพิ่มสัดส่วนวัยทำงานโดยนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งนิยมในประเทศพัฒนาที่สามารถดึงดูดบุคลากรที่มีทักษะสูงเข้ามาทำงานได้
วิธีการระยะยาวต้องเพิ่มสัดส่วนวัยเด็ก แต่คงหวังให้คนอยากมีบุตรเพิ่มขึ้นได้ยาก ภายใต้สภาพเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตในปัจจุบัน อาจต้องรอรุ่นหนุ่มสาวที่เป็นบุตรคนเดียวซึมซับกับความเหงามาตลอดชีวิต พวกเขาจะปรารถนามีบุตรมากกว่าหนึ่งคน ตามที่นักจิตวิทยาเคยศึกษาไว้
การตายเหงาเป็นดัชนีชี้วัดตัวใหม่ในสังคมสูงวัยระดับสุดยอด ในไทยก็เริ่มมีข่าวประปรายเช่นกัน พร้อมรับมือกับตัวเลขที่จะเพิ่มขึ้นหรือยัง... ติดตามต่อได้ใน ถอดบทเรียนจ้างงานและบริหารทรัพยากรมนุษย์ของญี่ปุ่นยุคสูงวัยระดับสุดยอด.