50% ของหญิงวัยกลางคน 'รู้สึกเหงาในที่ทำงาน' เหตุขาดการสนับสนุนในงาน
พนักงานหญิงวัยกลางคน 50% รู้สึกเหงาในที่ทำงานมากกว่าพนักงานกลุ่มอื่นๆ เหตุไม่ได้รับการสนับสนุน-ถูกกีดกันในสายงาน ด้วยวัฒนธรรม
KEY
POINTS
- งานวิจัยจาก ‘TheLi.st’ พบว่า พนักงานเพศหญิงในตำแหน่งสูงเผชิญกับภาวะความเหงามากที่สุด เมื่อเทียบกับพนักงานกลุ่มอื่นๆ เนื่องจากรู้สึกว่าไม่ได้รับการสนับสนุนในที่ทำงาน
- ความรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวดังกล่าว ก่อให้เกิดความพึงพอใจในตนเองต่ำลง ซึ่งนำไปสู่การขาดการมีส่วนร่วมในระดับสูงในที่ทำงานและการลาออก
- วิธีลดความเหงาในที่ทำงาน ผู้บริหารต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่สนับสนุนและทำงานร่วมกันอย่างแท้จริง ส่วนพนักงานก็ควรพบปะเพื่อนร่วมงานเพิ่มขึ้นเพียง 10 นาทีต่อวัน โดยไม่ต้องคุยเรื่องงานเสมอไป
ปรากฏการณ์การแพร่ระบาดของ ‘ความเหงา’ พุ่งสูงขึ้นในสังคมยุคนี้ โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของโรคระบาดโควิดยิ่งซ้ำเติมให้ผู้คนขาดการเชื่อมต่อทางสังคม โดยมีปัจจัยหลักคือ เทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ, AI, และแพลตฟอร์มการติดต่อสื่อสารที่ก้าวหน้า ทำให้การทำงานระยะไกลและแบบผสมผสานเกิดขึ้นได้จนกลายเป็นเรื่องปกติ แม้จะส่งผลดีบางอย่างในการทำงาน แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้การติดต่อกับเพื่อนร่วมงานน้อยลง
เทคโนโลยีช่วยเพิ่มความสะดวกสบาย ทำให้เราสามารถสั่งทุกอย่างได้ตั้งแต่กาแฟไปจนถึงรถยนต์ผ่านระบบอัตโนมัติ ซึ่งมีการติดต่อกับมนุษย์น้อยลงมากๆ อีกทั้ง ‘โซเชียลมีเดีย’ ก็เป็นปัจจัยสำคัญเช่นกัน ผู้คนเชื่อมโยงกันมากเกินไป และเชื่อมโยงกันในรูปแบบที่ผิวเผินหรือไม่น่าเชื่อถือ แม้ว่าเราอาจมีผู้ติดตามหลายพันคน แต่เรากลับไม่มีเพื่อนสนิทที่สามารถขอความช่วยเหลือได้จริงๆ
พนักงาน 43% ขาดการเชื่อมโยงและรู้สึกเหงาในที่ทำงาน เปิด 4 อาการที่เข้าข่าย
สิ่งเหล่านี้รวมกันทำให้เกิดความแตกแยกและความเหงาเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ในโลกการทำงานก็พบภาวะความเหงาเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ยืนยันจากผลสำรวจของ BetterUp ที่ระบุว่า พนักงานจำนวนมากถึง 69% รายงานว่าพวกเขาไม่พอใจกับสังคมในที่ทำงาน และ 43% ของผู้คนไม่รู้สึกถึงความเชื่อมโยงกับเพื่อนร่วมงาน โดยอาการหลักๆ ของภาวะความเหงาในที่ทำงาน ได้แก่
- รู้สึกถูกตัดขาดจากเพื่อนร่วมงาน เช่น คุณไม่รู้ว่าจะพูดอะไรกับคนที่ทำงาน หรือรู้สึกว่าพวกคุณไม่ได้พูดภาษาเดียวกัน
- รู้สึกขาดการเชื่อมโยงกับระดับภาพรวม เหมือนทำงานในภาวะสุญญากาศ ผลงานงานของคุณไม่สำคัญสำหรับผู้อื่น
- รู้สึกถูกด้อยค่าหรือไม่ได้รับการยอมรับในหน้าที่การงานที่คุณกำลังทำอยู่
- รู้สึกไม่ใกล้ชิดกับเพื่อนร่วมงานมากพอที่จะขอความช่วยเหลือหรือเสนอความช่วยเหลือ
หากเกิดภาวะความหงาเหล่านี้ขึ้นกับพนักงานในองค์กร ย่อมส่งผลผลกระทบในวงกว้าง เช่น พนักงานของบริษัทเผชิญกับปัญหาด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิตทุกรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้คนขาดการเชื่อมต่อ พวกเขาจะรู้สึกเหงามากขึ้น 128% วิตกกังวลมากขึ้น 107% รู้สึกเหนื่อยล้ามากขึ้น 78% และเครียดมากขึ้น 49% ตามรายงานของ BetterUp
นอกจากนี้ ตามการวิเคราะห์โดยมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในฐานข้อมูลระดับเมตาของผู้คนมากกว่า 226,000 คน พบว่า การแยกตัวทางสังคมมีความเชื่อมโยงกับภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล ปัญหาสุขภาพจิต และความอึดอัดโดยรวม
โดยเฉพาะ "พนักงานหญิงวัยกลางคน" เจอภาวะความเหงามากที่สุด นำไปสู่อัตราการลาออกสูง
อีกทั้งเมื่อไม่นานมานี้มีงานวิจัยพบว่า ผู้หญิงวัยกลางคนจำนวนไม่น้อยรู้สึกเหงาในที่ทำงานมากขึ้น เมื่อก้าวสู่ตำแหน่งสูงขึ้นในองค์กร นำมาซึ่งการมีส่วนร่วมลดลงและการลาออก ทั้งนี้ วัยกลางคน หมายถึง กลุ่มวัยทำงานช่วงอายุประมาณ 35-40 ปีขึ้นไป โดยเป็นวัยทำงานที่มีประสบการณ์การทำงานในระยะกลางของบทบาทหน้าที่หรือตำแหน่งงานนั้นๆ หรือเป็นช่วงที่กำลังก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งงานที่สูงขึ้นในสายอาชีพของตนเอง
แอนน์ โชเกต อดีตบรรณาธิการบริหารของนิตยสาร Seventeen และปัจจุบันเป็น CEO ของ ‘TheLi.st’ ซึ่งเป็นชุมชนสนับสนุนสตรีและส่งเสริมผู้นำที่เปิดกว้างในอาชีพการงาน กล่าวว่า ปัจจุบันพบว่า พนักงานเพศหญิงในตำแหน่งสูงมีภาวะความเหงามากที่สุด เมื่อเทียบกับพนักงานกลุ่มอื่นๆ
เธอเปิดประสบการณ์ส่วนตัวในฐานะที่เป็น “ผู้นำเพศหญิง” โดยชี้ว่า ตัวเธอเองรู้ดีถึงความรู้สึกนั้นเพราะเคยประสบกับภาวะความเหงาและความกดดันในที่ทำงานมาก่อน ตอนแรกเธอคิดว่ามันเป็นเพียงความเครียดและความกังวลตามปกติทั่วไป แต่จริงๆ แล้ว ไม่ใช่! เพราะภาวะความเหงาในที่ทำงานส่งผลเสียมากกว่านั้น กล่าวคือ นอกจากจะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า และโรคหัวใจแล้ว ยังส่งผลให้ความไม่เท่าเทียมทางเพศในที่ทำงานรุนแรงมากขึ้นอีกด้วย
โชเกต ชี้ให้เห็นว่า ความเหงาเป็นตัวการที่เลวร้ายที่สุดที่ทำให้ผู้หญิงท้อถอยในการทำงานหลังก้าวสู่ตำแหน่งสูงขึ้นหรือได้รับบทบาทหน้าที่ใหม่ จากการวิจัยของ TheLi.st ในปี 2023 ระบุว่า ผู้หญิงวัยทำงานช่วงต้นและช่วงวัยกลางคนมากกว่า 50% รายงานว่า ความเหงาในที่ทำงานเป็นปัจจัยหลักในการลาออก-สูญเสียโอกาสใหม่ในหน้าที่การงาน
อีกทั้งตามการวิจัยนี้ยังรายงานด้วยว่า ความรู้สึกโดดเดี่ยวดังกล่าว ก่อให้เกิดความพึงพอใจในตนเองต่ำลง ซึ่งนำไปสู่การขาดการมีส่วนร่วมในระดับสูงในที่ทำงานและการลาออก
ผู้หญิงเจอความเหงามากขึ้น เพราะรู้สึกว่าไม่ได้รับการสนับสนุนและโดดเดี่ยวในที่ทำงาน
การวิจัยครั้งนี้ TheLi.st ร่วมกับ Berlin Cameron และกลุ่มยุทธศาสตร์เบเนนสัน ทำการสำรวจพนักงานออฟฟิศกว่า 2,000 คน เกี่ยวกับภาวะความเหงาในที่ทำงาน โดยพบว่า แม้พนักงานทั้งผู้ชายและผู้หญิงยุคนี้จะเผชิญภาวะความเหงาคล้ายกัน แต่มีความแตกต่างบางจุดคือ ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะรู้สึกเหงามากกว่าเมื่อมีความก้าวหน้าในอาชีพการงานเมื่อเทียบกับผู้ชาย
นอกจากนี้ ผลการวิจัยยังมีข้อค้นพบอีกมากมายเกี่ยวกับภาวะความเหงาที่เกิดขึ้นกับพนักงานผู้หญิงในที่ทำงาน ได้แก่
- พนักงานผู้หญิง 80% รายงานว่ารู้สึกเหงาเพราะงาน โดย 41% จากในกลุ่มนั้นรายงานว่า เวลาทำงานเป็นช่วงเวลาที่เหงาที่สุดในแต่ละวัน
- 50% ของผู้หญิงที่เป็นผู้บริหารและผู้หญิงวัยทำงานช่วงต้นและวัยกลางคนส่วนใหญ่ รายงานว่า ความเหงาของพวกเธอเพิ่มมากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น เนื่องจากพวกเธอรู้สึกว่าไม่ได้รับการสนับสนุนและโดดเดี่ยวในที่ทำงาน
- ผู้หญิงโดยรวม 40% กล่าวว่า เมื่อก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นพวกเธอไม่รู้สึกว่าบริษัทช่วยให้พวกเขาประสบความสำเร็จ ขณะที่ผู้บริหารชายรายงานว่ารู้สึกเหงาน้อยลงเมื่อก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น
อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนคงเกิดความสงสัยว่า ทำไมถึงเกิดปรากฏการณ์นี้ในสังคมที่ทำงานส่วนใหญ่? โชเกต สะท้อนความคิดเห็นว่า นั่นอาจเป็นเพราะวัฒนธรรมองค์กรหลายแห่งยังคงให้ความสำคัญและยอมรับการเติบโตก้าวหน้าของพนักงานเพศชายมากกว่าพนักงานเพศหญิง
เปิดวิธีลด 'ภาวะความเหงาในที่ทำงาน' ทั้งในระดับหัวหน้างานและระดับปัจเจกบุคคล
ทั้งนี้วิธีที่จะลดภาวะความเหงาในที่ทำงานลง โชเกต มองว่า ผู้บริหารต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่สนับสนุนและทำงานร่วมกันอย่างแท้จริง รวมถึงเธอเห็นด้วยกับการชวนพนักงานเข้ามาพบปะกันเพิ่มขึ้น และมีส่วนร่วมด้วยกันมากขึ้น โดยเธอมีข้อแนะนำว่า การเข้าสังคมในที่ทำงานเพิ่มขึ้นเพียง 10 นาที ต่อวัน สามารถช่วยลดภาวะความเหงาลงได้
ไม่ว่าจะเป็นการใช้เวลาสักครู่ส่งข้อความหาเพื่อนร่วมงาน หรือเพื่อนร่วมเครือข่ายวิชาชีพของคุณที่ไม่ได้คุยกันมาสักพักแล้ว แสดงความยินดีกับเพื่อนร่วมงานเกี่ยวกับการเลื่อนตำแหน่งหรือความสำเร็จในโครงการล่าสุดของเขา หรือถามเพื่อนร่วมงานเกี่ยวกับงานอดิเรกที่มีร่วมกัน ฯลฯ
นอกจากนี้ ซีอีโอของ TheLi.st แนะนำด้วยว่า หากเป็นผู้ที่อยู่ในฐานะผู้จัดการหรือหัวหน้าทีม ก็มีวิธีเชื่อมต่อกับเพื่อนร่วมงานมากขึ้นโดยการจัดตั้งกำหนดการ “วันพบปะทีม” ขึ้นมาสักช่วงหนึ่ง เพื่อให้สมาชิกในทีมเข้ามาเจอหน้าและพูดคุยกัน ส่งเสริมกระบวนการการทำงานร่วมกัน ตระหนักถึงความสำเร็จของพนักงาน และค้นหาวิธีใหม่ๆ ในการทำงานร่วมกันระหว่างทีม เช่น เสนอการให้คำปรึกษาแก่ทีม (Mentor) ในการทำโครงการใดๆ เป็นต้น
“ไม่จำเป็นต้องจัดเป็นงานประชุมใหญ่โตหรือจริงจัง ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่งานปาร์ตี้หรูหราที่ต้องเสิร์ฟไวน์ราคาแพง แต่เป็นเพียงการพบปะกันเล็กๆ น้อยๆ ในแต่ละวัน หรืออาจเพียงติดต่อกันผ่านข้อความเพื่อสอบถามสารทุกข์สุกดิบ หรือเดินคุยไปรอบๆ สำนักงานในช่วงพักกับเพื่อนร่วมงานก็ได้ เหล่านี้เป็นวิธีที่มีคุณค่ามากในการรักษาความสัมพันธ์ในที่ทำงานและช่วยลดความเหงาลงได้” โชเกต กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งวิธีช่วยลดความเหงาในที่ทำงานได้เช่นกัน นั่นคือ การกำหนดสิ่งที่คุณต้องการจริงๆ จากที่ทำงาน ลดการเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่นในแง่ของระดับการเข้าสังคม จริงๆ แล้ว มีความแตกต่างระหว่าง “ความเหงา” และ “การอยู่คนเดียว” จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Research in Personality พบว่า หากคุณอยู่คนเดียวมากกว่า 75% ของเวลาทั้งหมด คุณจะรู้สึกเหงามากขึ้น แต่ถ้าคุณอยู่คนเดียวได้น้อยกว่านั้นและคุณพอใจแล้ว คุณก็สามารถทำได้เช่นกัน
การควบคุมการเข้าสังคมให้พอดีก็เป็นอีกปัจจัยที่ต้องพิจารณา จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ชี้ว่า หากคุณเลือกที่จะอยู่คนเดียวและเพลิดเพลินกับเวลาของคุณแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องทำการเปลี่ยนแปลงใดๆ เลย แม้ว่าจะมีความกดดันให้ต้องเชื่อมโยงหรือมีส่วนร่วมกับเพื่อนร่วมงานอยู่เสมอก็ตาม เนื่องจากเราเป็นผู้กำหนดและตัดสินใจได้เองว่า จะใช้เวลาออกไปพบปะผู้คนมากแค่ไหน และจะใช้เวลาตามลำพังบ่อยแค่ไหน แล้วก็จัดสัดส่วนเวลาให้เหมาะสมกับตนเองก็พอแล้ว ถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่ต่อสู้กับความเหงาได้ดีเช่นกัน