ความเหงาเป็นเหตุ ”หนุนธุรกิจสัตว์เลี้ยง” ในจีนโตต่อเนื่อง
คนจีน นิยมหาสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อนคลายเหงา ทำอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงในจีนขยายตัวมากขึ้น คาดในปี 68 ขนาดของตลาดสัตว์เลี้ยงในจีนจะสูงถึง 811,400 ล้านหยวน สคต.เซี่ยเหมิน ชี้ ช่องผู้ประกอบการไทยเจาะตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในจีน
ปี 2565 ไทยเป็น ผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยง อันดับ 6 ของโลก แต่ส่งออกอาหารสุนัขและแมวเป็นอันดับ 3 ของโลก โดยมีมูลค่าการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยง 2,803 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วน 3.36 % ของการส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงของโลก ขยายตัว 16.46 % เมื่อเทียบกับปี 2564
แม้การส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงไทย ในปี 2566 จะหดตัวมาตั้งแต่ต้นปี แต่ในช่วงปลายปีเริ่มกลับมาขยายตัว โดยในเดือนพ.ย. 2566 มีมูลค่า 222 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 3 %เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า มีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น มาเลเซีย อิตาลี และออสเตรเลีย ตามลำดับ
ตลาดสำคัญที่น่าจับตามองของไทยอีกตลาดหนึ่งก็คือ "จีน" โดย "นางสาวนันท์นภัส งามแม้น" ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน(สคต.) กล่าวว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อัตราการขยายตัวของอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงในจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลพวงมาจากแรงกดดันสูงจากสังคม การทำงาน คนโสด คู่รักที่ไม่มีบุตร และผู้สูงวัยที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จึงมีความต้องการสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อนคลายความเหงา การเลี้ยงสัตว์จึงไม่ได้เป็นแค่สัตว์เลี้ยง แต่กลายเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกในครอบครัว
ดังนั้น ความต้องการด้านสินค้าและบริการสำหรับสัตว์เลี้ยงจึงมีความพิถีพิถัน และให้ความสำคัญต่อวัตถุดิบส่วนผสมที่ดีต่อสุขภาพสัตว์เลี้ยงเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ข้อมูลจาก iiMedia Research ระบุว่า ในปี 2565 ขนาดของอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงจีนสูงถึง 493,600 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 25.2 % ปัจจุบัน ครอบครัวที่เลี้ยงสัตว์ในจีน เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 มีจำนวนครัวเรือนที่เลี้ยงสัตว์ เพิ่มขึ้นถึง22 %
แต่เมื่อเทียบกับประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรป อัตราการเลี้ยวสัตว์ของจีนยังถือว่าไม่สูงมากนัก ตลาดสัตว์เลี้ยงในจีนยังคงมีพื้นที่ในการพัฒนาอีกมาก คาดการณ์ว่าในปี 2568 ขนาดของตลาดสัตว์เลี้ยงในจีนจะสูงถึง 811,400 ล้านหยวน แบ่งเป็นตลาดอาหารสัตว์ 267,000 ล้านหยวน และตลาดอุปกรณ์สินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยง 48,400 ล้านหยวน
สำหรับสัตว์เลี้ยงที่ผู้บริโภคนิยมซื้อส่วนใหญ่ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ดูแลและทำความสะอาดสัตว์เลี้ยง คิดเป็นสัดส่วน 79.2% ของสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยงที่ผู้บริโภคซื้อบ่อย รองลงมาเป็นอาหารแห้ง คิดเป็นสัดส่วน 61 % และขนมขบเคี้ยว คิดเป็น 57.8% ด้านสินค้าเพื่อสุขภาพ พบว่า มีอัตราการซื้อสินค้าช่วยย่อยอาหารมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนถึง 60.2% ของสินค้าเพื่อสุขภาพสำหรับสัตว์เลี้ยงทั้งหมด โดยผู้บริโภคมักจะซื้อสินค้าจากร้านค้าออฟไลน์คิดเป็นสัดส่วน 47.9% และช่องทางออนไลน์ 52.1%
เจ้าของชาวจีนบริโภคสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยง 1-2 ครั้งต่อเดือน หรือ 3-4 ครั้งต่อเดือน และผู้บริโภคกว่า 84.56 % มีค่าใช้จ่ายต่อสัตว์เลี้ยงเฉลี่ย 500 หยวนขึ้นไปต่อปี ปัจจุบัน ความต้องการซื้ออาหารสัตว์เลี้ยงของผู้บริโภคมีความหลากหลายขึ้น ผู้บริโภคมีความกังวลมากที่สุดเกี่ยวกับการรับประทานอาหารของสัตว์เลี้ยง ตามมาด้วยส่วนผสมและแบรนด์ของผลิตภัณฑ์ ชื่อเสียงของแบรนด์ที่ดีจะเป็นส่วนช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและความเหนี่ยวแน่นของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตามแม้อุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงในประเทศจีนจะอยู่ในช่วงเริ่มต้น เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่การแข่งขันในตลาดสัตว์เลี้ยงของประเทศจีนก็เริ่มรุนแรงขึ้น ปัจจุบัน มีหลายบริษัทเริ่มผันตัวเข้าสู่อุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยง มีการเริ่มวิจัยและพัฒนาอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยงที่เหมาะสมกับแต่ละสายพันธุ์ และสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยงนวัตกรรมใหม่ นอกจากนี้ ยังมีเริ่มกระจายสินค้าไปยังช่องทางการค้าใหม่ ๆ อย่างครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็น ร้านค้าซูเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์ออฟไลน์ แพตลฟอร์ออนไลน์และแพตลฟอร์ไลฟสไตล์ต่าง ๆ เป็นต้น เพื่อเพิ่มการเข้าถึงของบริโภคได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว
จากการแข่งขันด้านสินค้าและบริการสำหรับสัตว์เลี้ยงในจีนที่เพิ่มสูงขึ้นจึงถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงไปยังตลาดจีน ซึ่ง"ผอ.สตค.เมืองเซี่ยเหมิน "ให้คำแนะว่า ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเร่งพัฒนาสินค้าและหาช่องทางการกระจายสินค้าใหม่ ๆ ผู้ประกอบการไทยสามารถมองโอกาสในอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น สินค้าอาหาร สินค้าของเล่นสำหรับสัตว์ เครื่องแต่งกาย อุปกรณ์การรักษาโรค เป็นต้น
บวกกับ มองหาช่องทางการกระจ่ายสินค้าที่ครอบคลุมและแตกต่างจากเดิมมากขึ้น อาทิ ธุรกิจโรงเรียนฝึกสัตว์เลี้ยง สถานบริการรักษาสัตว์เลี้ยง คาเฟ่สัตว์เลี้ยง ร้านเสริมความงามสัตว์เลี้ยง เป็นต้น สถานที่เหล่านี่ถือเป็นช่องทางการกระจายสินค้าได้ดีอีกช่องทางหนึ่ง และยังสามารถสร้างความน่าเชื่อถือของสินค้า ผ่านผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์เลี้ยงได้อีกด้วย