'เต่ามะเฟือง' สัตว์ป่าสงวน เสี่ยงสูญพันธุ์ระดับโลก

'เต่ามะเฟือง' สัตว์ป่าสงวน เสี่ยงสูญพันธุ์ระดับโลก

'เต่ามะเฟือง' เต่าทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ที่หายาก และถือเป็นสัตว์ที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ของโลก ปัจจุบัน เต่ามะเฟือง ถูกบรรจุอยู่เป็น สัตว์ป่าสงวนของไทย ใน พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562

Key Point : 

  • เต่ามะเฟือง จัดเป็นสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ที่ได้รับความสำคัญจากนานาประเทศ และถูกบรรจุเป็นสัตว์ป่าสงวนของไทย
  • ถือเป็นเต่าทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ขนาดโตเต็มที่ยาว 210 เซนติเมตร หนัก 900 กิโลกรัม เวลาวางไข่ มักจะขุดหลุมฝังไข่บริเวณชายหาดอันเงียบสงบ ที่น้ำทะเลท่วมไม่ถึง
  • ปัจจุบัน ภัยที่เป็นอันตรายต่อ เต่ามะเฟือง มีทั้งเครื่องมือประมง กิจกรรมในทะเลและชายฝั่ง การสูญเสียชายหาดสำหรับวางไข่ และ 'ขยะทะเล'  โดยเฉพาะเชือกและเศษอวน ซึ่งเกี่ยวรัดสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธ์ให้บาดเจ็บและเสียชีวิต

 

 

จากกรณี แม่เต่ามะเฟือง ถูกเชือกอวนหมึกรัดคอและพายหน้า 2 ข้าง ตายคาหาดท้ายเหมือง อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเมือง วัดขนาดกระดองความกว้าง 105 ซม.ยาว 181 ซม. โดยผลชันสูตร พบไข่ในรังไข่ 136 ฟอง ถือเป็นการสูญเสียที่น่าเศร้าครั้งสำคัญ เพราะเต่ามะเฟือง ถือเป็นสัตว์ที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ของโลก และ ถูกบรรจุเป็นสัตว์ป่าสงวนของไทยอีกด้วย

 

ทำไม 'เต่ามะเฟือง' ถึงใกล้สูญพันธุ์ 

ข้อมูลจาก คลังความรู้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่า เต่ามะเฟือง (Leatherback sea turtle, Dermochelys coriacea) จัดเป็นสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ที่ได้รับความสำคัญจากนานาประเทศ เนื่องจากการอพยพย้ายถิ่นระยะไกล จึงมีแหล่งอาศัยในพื้นที่ทางทะเลระหว่างประเทศ จัดเป็นทรัพยากรร่วมของภูมิภาคและระดับโลก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

ทั้งนี้ เต่ามะเฟือง เป็นเต่าทะเลที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์สูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับเต่าทะเลที่มีอยู่ 7 ชนิดทั่วโลก จำนวนประชากรพ่อแม่พันธุ์เต่ามะเฟืองที่มาผสมพันธุ์และวางไข่ในประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่องเหลือเพียงปีละไม่ถึง 10 ตัว

 

ทำให้ต้องมีการทบทวนแนวทางการอนุรักษ์เต่ามะเฟือง เพื่อเพิ่มความเข้มข้นในการคุ้มครองเต่าทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลกชนิดนี้ เต่ามะเฟือง จัดอยู่ในสถานภาพการอนุรักษ์ในระดับโลก คือ มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable : VU) โดย IUCN และ ถูกบรรจุเป็น สัตว์ป่าสงวนของไทย ใน พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562

 

เต่าทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก

เต่ามะเฟือง (Leatherback sea turtle, Dermochelys coriacea) เป็นเต่าทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ขนาดโตเต็มที่ยาว 210 เซนติเมตร หนัก 900 กิโลกรัม กระดองเป็นหนังหนาสีดำมีจุดประสีขาว มีร่องสันนูนตามยาว 7 สัน

 

อาศัยอยู่ในทะเลเปิดกินแมงกะพรุนเป็นอาหารหลัก ในประเทศไทยพบวางไข่เฉพาะบริเวณชายหาดฝั่งตะวันตกของจังหวัดพังงาและภูเก็ต

 

การออกลูกของ แม่เต่ามะเฟือง

เต่ามะเฟืองออกลูกเป็นไข่ แม่เต่ามะเฟือง จะขุดหลุมฝังไข่บริเวณชายหาดอันเงียบสงบ ที่น้ำทะเลท่วมไม่ถึง จากนั้นจึงคลานลงสู่ทะเล ปล่อยให้ลูกเต่าฟักออกมาเป็นตัวเพียงลำพัง โดยทั่วไปจะใช้ระยะเวลาในการฟักตัวประมาณ 55-60 วัน ในระหว่างนี้อุณหภูมิจะเป็นตัวแปรที่สำคัญต่ออัตราการฟัก ระยะเวลาที่ใช้ฟัก และที่สำคัญเป็นตัวกำหนดเพศของลูกเต่า

 

 

โดยทั่วไปสัดส่วนของลูกเต่าเพศเมียจะมีมากขึ้นเมื่ออุณหภูมิในหลุมฟักไข่สูงขึ้น ลูกเต่าที่ฟักออกเป็นตัว จะยังคงอยู่ในหลุมฟักไข่อีก 1-2 วัน เพื่อรอให้ไข่ฟองที่เหลือฟักตัวออกมา จากนั้นจึงอาศัยในช่วงเวลากลางคืนเพื่อคลานออกมาจากหลุมพร้อมๆ กัน ก่อนมุ่งหน้าลงสู่ทะเล ลูกเต่าแรกเกิดยังคงมีถุงไข่แดงจำนวนหนึ่งอยู่บริเวณท้อง

 

ลูกเต่าจะใช้ไข่แดงที่เหลืออยู่นี้เป็นแหล่งพลังงานในการว่ายน้ำอย่างไม่หยุดหย่อน เพื่อหลบหนีศัตรูตามธรรมชาติอันมีมากมายบริเวณชายฝั่งมุ่งออกทะเลลึก เต่ามะเฟืองซึ่งใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตหากินในบริเวณทะเลลึกไกลจากฝั่ง และจะเข้ามาชายฝั่งอีกครั้งเพื่อการผสมพันธุ์และวางไข่

 

ภัยอันตรายต่อเต่ามะเฟือง

1. ติดเครื่องมือประมง

ระหว่างการเดินทางมาวางไข่และระหว่างพักช่วงการวางไข่ของแม่เต่ามะเฟือง มีโอกาสที่จะติดเครื่องมือประมง ทั้งเครื่องมือประมงพาณิชย์ เช่น อวนลาก และเครื่องมือประมงพื้นบ้าน เช่น อวนลอย เบ็ดราวปลากระเบน และโป๊ะน้ำตื้น

 

2. ถูกรบกวนจากกิจกรรมในทะเล

การรบกวน เช่น จากแสงไฟของเรือที่จอดบริเวณชายหาด ขยะ และน้ำเสียจากเรือ การท่องเที่ยวทางทะเล เช่น สกู๊ตเตอร์ รบกวนการขึ้นมาวางไข่ของเต่าทะเล นอกจากนั้นความสนใจของนักดำน้ำต่อเต่าทะเลยังรบกวนการพักผ่อน หากินของมันอีกด้วย

 

3. การสูญเสียสภาพชายหาดที่เหมาะสมต่อการวางไข่

การสูญเสียสภาพชายหาดเกิดขึ้นได้ทั้งในเชิงของปริมาณ คือการสูญเสียบริเวณหาดทรายที่เหมาะสมต่อการวางไข่ของเต่าทะเลจากการก่อสร้างสิ่งลุกล้ำลงไป หรือในเชิงคุณภาพ เช่น มีกิจกรรม แสง สี เสียง รบกวนการขึ้นมาวางไข่ของแม่เต่า ความสกปรก และขยะบริเวณชายหาด

 

4. ถูกรบกวนจากกิจกรรมบนชายฝั่ง

การพัฒนาบนฝั่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพของชายหาดที่เต่าทะเลจะเลือกขึ้นมาวางไข่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของแสง การขาดการจัดการที่ดีของการพัฒนาชายฝั่ง ส่งผลต่อปริมาณขยะ และน้ำเสียที่ไหลลงมาสู่ชายหาด

 

5. ขยะทะเล

ปัญหาของขยะทะเลมีแนวโน้มสูงขึ้นมาก เนื่องจากการเพิ่มของประชากรของมนุษย์และการขาดจิตสำนึกในการใช้สิ่งของและการทิ้งขยะ ผลการผ่าชันสูตรซากเต่าทะเลที่เกยตื้นเสียชีวิตบางตัวพบขยะพลาสติกจำนวนมากในระบบทางเดินอาหารอันเป็นสาเหตุของการตาย

 

เต่ามะเฟือง ซึ่งกินแมงกะพรุนเป็นอาหารหลักเมื่อเห็นพวกเศษถุงพลาสติกใสอาจหลงเข้าใจผิดคิดว่าเป็นแมงกะพรุนจึงกินเข้าไปได้ ทำให้มีความเสี่ยงที่จะกลืนกินขยะทะเลเข้าไป ปัญหาขยะทะเล ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับเต่าทะเล

 

แต่ยังเป็นสาเหตุการเกยตื้นในสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ชนิดอื่นๆ ทั้งจากการกินโดยไม่ตั้งใจ หรือการกินโดยตั้งใจเนื่องจากคิดว่าเป็นอาหาร ปัญหาขยะที่พบได้บ่อยมาก คือ ขยะจำพวกเชือกและเศษอวนซึ่งเกี่ยวรัดสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธ์ให้บาดเจ็บและเสียชีวิต

 

อ้างอิง : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง