ติ่งเกาหลี สู่ ขนส่งสาธารณะ ฝันที่ใหญ่ขึ้น ‘Loops’
จำนวนยูสเซอร์ต้องเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า คือเป้าหมายที่ Loops ตั้งไว้ภายหลังที่เข้า Boot Camp กับ “ดีแทค แอคเซอเลอเรท” ปีที่ 7
Loops เป็นธุรกิจบริการร่วมเดินทาง (Ride-Sharing) จองรถตู้เดินทางไปกลับงานคอนเสิร์ต กิจกรรมบันเทิง และงานจัดแสดงสินค้าต่างๆ
“อิทธิกร อัฑฒพงษ์” (โมสต์) ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Loops เชื่อมั่นว่า เป้าหมายดังกล่าวมีความเป็นไปได้อย่างแน่นอน โดยก่อนหน้าจำนวนที่นั่งที่ขายได้จริงมีอยู่ 9,060 ที่นั่ง แต่เพราะในปัจจุบันเขาได้ทำการปรับธุรกิจขยายจากกลุ่มลูกค้าเดิมที่ชื่นชอบคอนเสิร์ตเกาหลี ไปสู่กลุ่มลูกค้าที่ไปร่วมงานแสดงสินค้าด้วย และเปิดฉากเป็นงานแรกด้วยงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มนานาชาติหรือ “ไทยเฟ็กซ์” ซึ่งมีจำนวนคนเข้าชมมากกว่าเป็นสิบเท่าเมื่อเทียบกับคอนเสิร์ตงานต่องาน
เขามองเห็นว่าปัญหาของกลุ่มคนที่ต้องการไปร่วมงานแสดงสินค้าหรืองานแฟร์ต่าง ๆ ยังคงเป็นปัญหาเดียวกันกับกลุ่มคนที่ไปดูคอนเสิร์ตเกาหลี คือไม่มีรถกลับบ้าน มีคนรอรถเยอะ ต้องยืนต่อคิว แถมยังไม่มีเส้นทางรถที่ไปถึงบ้านแค่ต่อเดียว กว่าจะเดินทางไปกลับได้ก็ยากลำบาก ต้องอาศัยต่อรถ ต่อเรือ ต่อมอเตอร์ไซค์ ฯลฯ
"แนวคิดตอนนี้เปลี่ยนแปลงไปมากจากช่วงเริ่มต้นที่เราคิดแค่ว่าให้คนจองที่นั่งมีรถกลับบ้านได้ก็จบแล้ว เวลานี้เรามองใหญ่ขึ้น มองไปถึงกลุ่มคนทั่วไปที่ต้องเดินทางในกรุงเทพที่ต้องประสบปัญหาโดยเฉพาะอย่างยิ่งวันไหนฝนตกรถก็ยิ่งติด ผมมองว่าระบบขนส่งสาธารณะในปัจจุบันไม่ได้เอื้อคนทั่วไป คือมันไม่ครอบคลุม คนส่วนใหญ่ต้องจ่ายเงินเยอะไปกับการเดินทางหลายๆต่อ และทำไมคนแต่ละคนต้องใช้เส้นทางรถสาธารณะที่รัฐบาลกำหนดมาให้ ทั้งๆที่ไม่ได้เหมาะกับเขาเลย แล้วทำไมเราไม่เข้าไปแก้ปัญหาตรงนั้น"
เป้าหมายของเขาก็คือการทำให้ Loops เป็นแพลตฟอร์มที่ทุกคนสามารถกำหนดการเดินรถของตัวเองได้ เช่นอยากเดินทางจากจุดเอไปดี โดยไม่ต้องผ่านบีกับซีก็ทำได้เลย โดยให้คนที่คิดเหมือนกันมาช่วยกันสร้างเส้นทางนี้ด้วยกันเพื่อเดินทางไปด้วยกัน วิธีนี้จะทำให้ระบบขนส่งสาธารณะมีความครอบคลุมขึ้น ส่งผลให้คนต้องการใช้บริการขนส่งสาธารณะเยอะขึ้น อีกทั้งน่าจะช่วยแก้ปัญหาได้ในระยะยาว แม้ว่าอาจจะแก้ไขไม่ได้ในทันทีทันใดแต่เขาเชื่อว่าน่าจะสามารถผ่อนหนักให้เป็นเบาลงได้
ปัจจุบัน Loops ได้สร้างเส้นทางใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นกว่า 10 สาย จากแรกเริ่มเดิมทีที่มีเพียงแค่ 2 เส้นทาง จากอิมแพ็คไปอนุสาวรีย์ และจากอิมแพ็คไปหมอชิต ซึ่งเป็นเส้นทางยอดนิยมมากที่สุด
อิทธิกรบอกว่า ทุก ๆเส้นทางที่เพิ่มขึ้นใหม่ล้วนมาจากเสียงเรียกร้องของลูกค้าทั้งสิ้น เพราะนอกจากเว็บไซต์ loops-event.com แล้ว เขายังเปิดแอคเคาท์ทวิตเตอร์ @Loops_Event เพื่อสร้างคอมมูนิตี้่ให้ลูกค้าเข้ามาแชร์ ได้เข้ามาแสดงถึงความต้องการว่าอยากได้เส้นทางไหน และเวลานี้ทวิตเตอร์ก็มียอดผู้ติดตามกว่า 5 พันรายแล้ว (ทั้งหมดเป็นลูกค้ากลุ่มคอนเสิร์ตเกาหลี)
"แต่สำหรับงานแสดงสินค้า อีเวนท์อื่นๆ เราต้องไปผูกกับทางออแกไนเซอร์ เพราะลูกค้างานแฟร์เขาไม่มาดูออนไลน์อยู่แล้ว ไม่เหมือนกลุ่มคอนเสิร์ตเกาหลีที่เขาจะมีคอมมูนิตี้ออนไลน์ โมเดลเราเป็นบีทูบีทูซีแต่เราไม่ได้เก็บเงินจากออแกไนเซอร์แค่ดึงข้อมูลจากเขาเอามาจัดเส้นทางบริการ ทางออแกไนเซอร์เขาก็สะดวกขึ้นเพราะบางครั้งเขาไปจัดงานในสถานที่ที่เดินทางได้ลำบาก คนก็ไม่อยากไปร่วมงาน แต่ถ้ามีเราเข้าไปให้บริการด้วยก็จะทำให้คนสนใจไปร่วมงานมากขึ้น เพราะไปกลับสะดวก ทุกฝ่ายก็แฮบปี้ ต่างคนต่างก็ได้เบเนฟิท "
เพราะการจองที่นั่งล่วงหน้ากับ Loops มีข้อดีหลายข้อ ได้แก่ 1.ไม่ต้องรอต่อคิว เปลี่ยนจากต่อคิวรอรถ เป็นให้รถมารอรับ 2.ไม่มีค่าใช้จ่ายแฝง จบทุกอย่างในการจ่ายเงินเพียงครั้งเดียว และ 3. มีคอมมูนิตี้ไม่ต้องไปงานแบบเหงาๆ เพราะมี Line Square รวมคนที่ไปงานเดียวกันไว้ใช้คุยกัน
เขามั่นใจว่าแนวคิดที่เล่ามาต้อง “เวิร์ค” เพราะที่ผ่านมาก็พิสูจน์ได้ว่ามีคนใช้งานจริงและพวกเขาก็แฮบปี้จริงๆ ฝั่งดีมานด์ไม่มีข้อต้องกังวลเพราะทุก ๆปีคอนเสิร์ตเกาหลีก็จัดค่อนข้างชุก ประการสำคัญเหล่าสาวกก็พร้อมจะสนับสนุนให้ความรักวงไอดอลในดวงใจไม่มีวันเสื่อมคลาย ส่วนงานแฟร์ต่าง ๆก็มีจำนวนมากมาย ขณะที่ฝั่งของซัพพลายซึ่งเป็น “รถตู้” ก็มีพร้อม (ทั้งรถและที่จอดได้รับการสนับสนุนจากอิมแพ็ค) ทำไมต้องรถตู้?
"เพราะเรามุ่งแก้ปัญหาเรื่องของการขนส่งสาธารณะ รถตู้ถือเป็นรถขนส่งสาธารณะที่มีขนาดเล็กเกือบที่สุด ในแง่ของการเป็นสตาร์ทอัพซึ่งต้องการความคล่องตัวมันจึงเป็นคำตอบที่เหมาะกับการเทสต์โปรดักส์มากที่สุด นอกจากนี้คนไทยเรายังชินกับการเดินทางด้วยรถตู้ แต่ตอนนี้เราเริ่มไปคุยกับรถแท็กซี่ และลีมูซีนด้วย"
ถามถึงคู่แข่ง เขาบอกว่ายังไม่เห็นมีใครมีแนวคิดทำเหมือนกันในตลาด ยังไม่มีใครสนใจยืนอยู่ตรงกลางระหว่างคำว่า “ไพรเวท” กับ “พับบลิค” เหมือนกรณีของ Loops
เวลานี้ธุรกิจสร้างรายได้เลี้ยงตัวหรือยัง? เขาตอบว่า “ถ้าทำให้ได้มันก็ได้ แต่ไม่ทำ” เหตุผลเป็นเพราะต้องการดึงดูดลูกค้าเลยยังไม่หวังเรื่องของรายได้และผลกำไร เช่นโดยปกติถ้ามีผู้โดยสาร 7 คนก็ถือว่าเท่าทุน แต่ในความเป็นจริงถ้ามีผู้โดยสารจองแค่ 4 คน Loops ก็เปิดให้บริการแล้ว แน่นอนเขายังต้องควักกระเป๋าตัวเองซึ่งเป็นเงินเก็บที่ได้จากการรับจ้างสอนพิเศษตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา (เมื่อต้นปีทีมของเขาก็รับทุนสนุนจาก NIA ด้วย)
Loops ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายนปีพ.ศ. 2561 ถึงวันนี้ก็ครบหนึ่งปีพอดี อิทธิกรเรียนจบวิศวะไฟฟ้า จากรั้วจามจุรี เขาชวนเพื่อนๆที่เรียนด้านวิศวะคอมพิวเตอร์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีไทย ญี่ปุ่น มาร่วมก่อตั้งบริษัทโดยเพื่อนๆทำหน้าที่เขียนโปรแกรม
"ตัวผมเองทำงานทุกอย่างที่ไม่ใช่โค้ดดิ้ง ไม่ว่าจะติดต่อลูกค้า หาพาร์ทเนอร์ จัดระบบ บิสิเนส ด้านไฟแนนซ์ จริง ๆตอนตั้งต้นธุรกิจเราเริ่มจากศูนย์ด้วยซ้ำ เพราะเราไม่ค่อยรู้อะไรเลย ที่ผ่านมาก็พยายามมองหาและเข้าร่วมกับโครงการจากภาครัฐและเอกชนที่จะเข้ามาสนับสนุนความรู้ตรงนี้ ซึ่งมีเยอะมากและส่วนใหญ่ก็ฟรี"
ประวัติความเป็นมาของ Loops นั้น หลายคนอาจเคยเห็นในหลาย ๆสื่อ และรู้ว่า อิทธิกรเป็น “ติ่ง” ศิลปินเกาหลีมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม โดยติดตาม “ทิฟฟานี” วงเกิร์ลเจนเนอเรชั่น มาตั้งแต่ยุคแรกๆ ทุกวันนี้ก็ยังตามอยู่ แต่ระยะหลังก็ตามเชียร์วงแบล็คพิ้งค์ด้วย ซึ่งการไปดูคอนเสิร์ตแต่ละครั้งก็มักต้องพบกับปัญหาเวลาที่คอนเสิร์ตเลิก คือต้องใช้เวลารอรถ ต่อคิวขึ้นรถกว่าจะได้กลับบ้านก็ดึกดื่นกินเวลาไปหลายชั่วโมง ธุรกิจจึงเริ่มมาจากปัญหาที่เขาประสบพบเจอด้วยตัวเอง
ได้รับแรงบันดาลใจอะไรจากการเป็นติ่ง? เขาบอกว่า การที่ได้เห็นสตอรี่ของไอดอลที่ชื่นชอบ เช่นทิฟฟานี ที่เกิดเติบโตที่อเมริกาแต่มาล่าความฝันที่เกาหลีจนสำเร็จ เขาติดตามพัฒนาการของวงเกิร์ลเจนฯ มาตั้งแต่วันแรกที่ขึ้นแสดงคอนเสิร์ตและโดนแบล็คโอเชียนแฟนๆปิดแท่งไฟไม่สนับสนุนแต่ที่สุดก็ก้าวเป็นอันดับหนึ่งของเกาหลี เป็นต้น
"เรื่องราวเหล่านี้มันสามารถอินสไปร์ให้ตัวเราได้ระดับหนึ่ง เหมือนว่าเราเติบโตไปพร้อม ๆกัน เขาเติบโตเราก็เติบโตด้วย จริง ๆแล้วผมก็รู้สึกว่าตัวเองไร้สาระมาก ไม่เกาหลี ก็เกมที่สนใจ แต่คิดว่าถ้าเราบริหารดี ๆ ก็คงไม่ได้มีแค่ความสนุกเพียงอย่างเดียว มันน่าจะมีประโยชน์กับเราอย่างแน่นอน ผมคิดว่าอย่างนั้น"