'แบงก์ชาติ’ออกประกาศ9ฉบับ รับ‘มาตรฐานบัญชีใหม่’
ธปท.ออกประกาศรวดเดียว " 9ฉบับ" รองรับมาตรฐานบัญชีใหม่ "TFRS9" ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เริ่มบังคับใช้ 1 ม.ค.2563
รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งว่า เมื่อวันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา ธปท.ได้ส่งหนังสือเวียนถึงผู้บริหารสถาบันการเงินทุกแห่ง ให้รับทราบว่าธปท.ได้ออกประกาศเกี่ยวกับการกำกับดูแลเงินกองทุนเพื่อรองรับมาตรฐานรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 เรื่องเครื่องมือทางการเงิน (TFRS9) จำนวน 9 ฉบับ ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2562 และจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2563 เป็นต้นไป
ประกาศทั้ง 9 ฉบับประกอบด้วย ประกาศธปท. เรื่ององค์ประกอบของเงินกองทุนสำหรับธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศ ,องค์ประกอบของเงินกองทุนสำหรับสาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ, หลักเกณฑ์การคำนวณสินทรัพย์เสี่ยงด้านเครดิจสำหรับธนาคารพาณิชย์ โดยวิธี Standardised Approach (วิธี SA), หลักเกณฑ์การคำนวณสินทรัพย์เสี่ยงด้านเครดิตสำหรับธนาคารพาณิชย์ โดยวิธี Internal Ratings-Based Approach (วิธี IRB)
ประกาศเรื่องหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเงินกองทุนสำหรับกลุ่มธุรกิจการเงิน ,หลักเกณฑ์การกำกับดูแลด้านเงินกองทุน และการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องสำหรับบริษัทเงินทุน ,หลักเกณฑ์การกำกับดูแลด้านเงินกองทุนและการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องสำหรับบริษัทเครดิตฟองซิเอร์,การเปิดเผยข้อมูลการดำรงเงินกองทุนสำหรับธนาคารพาณิชย์ (ฉบับที่2) และการเปิดเผยข้อมูลการดำรงเงินกองทุนสำหรับกลุ่มธุรกิจการเงิน (ฉบับที่2)
สำหรับสาระสำคัญของการปรับปรุงประกาศทั้ง 9ฉบับ เพื่อ 1. ให้สถาบันการเงินและกลุ่มธุรกิจทางการเงิน สามารถเลือกทยอยรับรู้ผลกระทบต่อเงินกองทุนจากการนำ TFRS9 มาใช้ในครั้งแรกเป็นระยะเวลา 3 ปี นับตั้งแต่ปี 2563-2565 โดยทยอยรับรู้ผลกระทบทุก 6เดือน ตามงวดการบัญชีด้วยวิธีเส้นตรง
2.กำหนดคำจำกัดความในเงินกองทุนให้สอดคล้องกับรายการทางบัญชีตาม TFRS9 เช่น การกำหนดให้สถาบันการเงิน และกลุ่มธุรกิจทางการเงิน สามารถนับเงินสำรองสำหรับสินทรัพย์และภาระผูกพันที่ไม่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิต (Performing) และเงินสำรองสำหรับสินทรัพย์และภาระผูกพันที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิต (Under-performing) ตาม TFRS9 เป็นเงินสำรองทั่วไป และสามารถนำมานับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2ได้ไม่เกิน 1.25%ของสินทรัพย์เสี่ยงด้านเครดิต ตามหลักการเดิม เป็นต้น
และ 3. ให้สถาบันการเงินและกลุ่มธุรกิจทางการเงิน เปิดเผยข้อมูลตัวชี้วัดความเสี่ยงสำคัญ (key prudential metrics) โดยด้านเงินกองทุน กำหนดให้เปิดเผยข้อมูลเงินกองทุนที่สะท้อนถึงผลกระทบทั้งจำนวน จากการกันเงินสำรองตาม TFRS9 (Fully loaded) และการปรับปรุงข้อมูลที่ต้องเปิดเผย ให้สอดคล้องกับรายการทางบัญชี TFRS9