เสนอปรับ 'พีดีพี 2018' เพิ่มสัดส่วนผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนเป็น 40%
“พรายพล” เสนอ “สนธิรัตน์” ปรับพีดีพี 2018 เพิ่มสัดส่วนผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนเป็น 40% จากเดิม 30% ชี้ช่วยลดต้นทุนค่าไฟตลอดแผนต่ำกว่า 3.60 บาทต่อหน่วยได้
เมื่อวันที่ 31 ก.ค.62 นายพรายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในหัวข้อ "วิพากษ์ แผนพีดีพี ในมุมมองนักวิชาการ" ว่า การจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ปี 2561-2580 (พีดีพี2018) เทียบกับ พีดีพี 2015 (ปี2558-2579) ยังไม่ตอบโจทย์การพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืนของประเทศใน 3 ด้าน คือ 1. ไม่เป็นการพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ มีการนำเข้าก๊าซ ถ่านหิน และซื้อไฟฟ้าพลังงานจากต่างประเทศ 2.ยังใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลสูงถึง 80% ไม่ตอบโจทย์การลดปัญหาโลกร้อน และ3.การผลิตไฟฟ้ายังต้องคงพึ่งพาก๊าซฯ สูงถึง 60%
ดังนั้น จึงเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ทบทวนแผนพีดีพี 2018 โดยเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนจากเดิมปลายแผนปี 2580 อยู่ที่ 30% ของกำลังผลิตไฟฟ้ารวม เป็น 40% ของกำลังผลิตไฟฟ้ารวม เพราะจะเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาพลังงานอย่างยั่งยืนทั้ง 3 ด้านดังกล่าวได้ อีกทั้งจะช่วยให้ต้นทุนผลิตไฟฟ้าถูกลงได้ตามเป้าหมายที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กำหนดว่า ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดแผนพีดีพี 2018 ควรต่ำกว่า 3.60 บาทต่อหน่วยได้ เนื่องจากต้นทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานมีแนวโน้มถูกลง โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) ซึ่งคาดว่า หากมีการเปิดประมูลแข่งขันผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์เกิดขึ้น จะสามารถผลิตไฟได้อัตราเฉลี่ยประมาณ 1.50 บาทต่อหน่วย